“ผักทอดยอด” ภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้น 2

“ผักทอดยอด”

ใบเหมือนหัวใจ

รากเหมือนสายฟ้า

ก้านเปราะ

รสชาดจืด

ใส่เย็นตาโฟ

ห้องเรียนภูมิปัญญาภาษาไทยวันนี้ ของนักเรียนชั้น 2 คุณครูชวนเด็กๆมาสังเกต ต้นผักบุ้งไทย และผักบุ้งจีน หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ผักทอดยอด” คุณครูชวนเด็กๆสร้างคลังคำไพเราะ จากต้นผักบุ้งทั้ง 2 ชนิด เด็กๆช่วยกันคิดคลังคำมากันเต็มกระดานเลย อาทิ โค้งงอ ก้านเปราะ ขรุขระ ใบเรียวยาว ใบย้าววว…ยาว

นอกจากนี้ยังได้สังเกตลักษณะความแตกต่างของผักบุ้งทั้ง 2 ชนิด ผ่านการเปรียบเปรย

บีบแล้วมีเสียงเป๊าะ เหมือน Pop It , รากยาวเหมือนสายฟ้า , ใบคล้ายมีด , ในรากมีท่อ , ใบมีลายคล้ายรากต้นไม้

จากนั้นคุณครูชักชวนให้เด็กๆ ดูลักษณะทางกายภาพของผักบุ้ง แล้วช่วยกันสะท้อนออกมา เช่น

รากอยู่ติดกับก้าน , ใบด้านหลังมีสีเขียวอ่อน , ปลูกในน้ำ , ปลูกในดิน , ก้านมียาง , ด้านในก้านมีความชื้น

สิ่งที่เด็กๆได้เรียนรู้จากผักบุ้ง 1 ต้น ไม่เพียงแต่ได้รู้จักกับผักบุ้งเท่านั้น ยังมีคลังคำศัพท์มากมายให้เด็กๆได้ค้นหา

ก่อนจบกิจกรรมคุณครูนำผักบุ้งไทยลวกมาให้เด็กๆได้ ลิ้ม ชิม รสชาติ และบอกเล่าความรู้สึกจากลิ้นสัมผัส บางคนบอกว่าขม บางคนว่าจืด บางคนบอกอร่อย

การเรียนรู้จากผักบุ้งทั้ง 2 ชนิดของเด็กๆ ชั้น 2 เป็นการเรียนรู้ผ่านการบูรณาการรายวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย มานุษกับโลก เข้าด้วยกันอย่างลงตัว แล้วยังต่อยอดไปถึงโครงงานวิจัยประจำภาคเรียนที่ในภาคเรียนนี้เด็กๆได้เรียนรู้เกี่ยวกับต้นไม้ ลักษณะการเจริญเติบโต และประโยชน์ของต้นไม้อีกด้วย

ตลอดคาบเรียนคุณครูมีกิจกรรมสนุกๆ ชวนคิดเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มารู้ตัวอีกทีก็หมดคาบเรียนซะแล้ว เป็นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ได้สัมผัส ทดลอง ทดสอบ ทั้งยังได้ลิ้มรส เรียกว่าได้ทั้งความสนุกได้ทั้งความรู้ไปพร้อมๆกัน

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2566