ปั้นดิน : ใคร่ครวญโลกภายของเด็กน้อยชั้น 1

เรื่องเล่าการเรียนรู้จากห้องเรียน HBLC โดยคุณครูนฤตยา ถาวรพรหม (ครูต้อง) ระดับชั้น 1 กิจกรรมนี้อยู่ในวิชาที่เรียกว่า “พื้นที่ชีวิต” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กๆ ได้ใคร่ครวญโลกภายในของตนเอง สามารถสร้างความสุขง่ายๆ ให้เกิดขึ้นได้กับตนเองและไม่ลืมที่จะแบ่งปันความรู้สึกดีๆ เผื่อแผ่ให้ผู้อื่นด้วย

ทีมคุณครูได้ร่วมกันออกแบบกิจกรรมนี้ขึ้นมาจากไอเดียที่ว่า เด็กๆ จะเกิดความสุขเมื่อได้ทำอะไรเมื่ออยู่ที่บ้านบ้าง คุณครูได้จำลองสถานการณ์ว่าตัวเองเป็นเด็กแล้วคิดกิจกรรมที่เด็กในวัยนี้อยากทำ จนสุดท้ายลงความเห็นจากไอเดียของทุกคนว่า กิจกรรมศิลปะจากสิ่งของจากธรรมชาติรอบๆ บ้าน

ครูต้องได้พูดคุยกับครูศิลปะอนุบาลเพื่อสอบถามว่า เด็กๆ ชั้นอนุบาลมีประสบการณ์อะไรในการทำงานศิลปะบ้าง ครูเบิร์ดให้ข้อมูลอย่างละเอียดพร้อมภาพประกอบของเด็กๆ ทักษะที่เด็กๆ มี อย่างเช่น ปั้นดิน ร้อยเชือก วาดสีน้ำ เย็บผ้า ประดิษฐ์ เป็นต้น พอเรารู้ว่าเด็กมีประสบการณ์ใดมาแล้ว เราจึงเริ่มต้นจากสิ่งที่เขามี สามารถเรียนรู้และทำได้ด้วยตนเอง

สิ่งที่คุณครูช่วยกันจัดเตรียมลงกล่อง ได้แก่ ดินเหนียว เมล็ดพืชแบบต่างๆ ที่แตกต่างทั้งขนาดและสี ก้อนหินและเม็ดกรวดแบบต่างๆ สิ่งของเหล่านี้จะช่วยให้เด็กๆ ฝึกฝนทักษะหลากหลาย เช่น ฝึกกล้ามเนื้อมือในการปั้นดิน ฝึกการสังเกตและแยกสีบอกความแตกต่าง หยิบจับและคัดแยกเมล็ดของพืช ซึ่งช่วยสร้างสมาธิของเขาได้อย่างดี

สิ่งของที่มีอยู่อย่างจำกัดในกล่องจะสร้างให้เป็นผลงานที่สวยงามที่เกิดจากจินตนาการของเด็กๆ ได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น เมื่อครูสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ เห็นรูปแบบการสร้างงานศิลปะที่หลากหลายและน่าสนใจ ตัวอย่างผลงานนั้นจะทำให้เด็กๆ เห็นวัสดุธรรมชาติที่แตกต่างจากสิ่งที่ครูให้ไป เขาจะมองเห็น ใบไม้หลากสี เปลือกหอย ดอกไม้แห้ง กิ่งไม้ เม็ดทราย ขนนก และอื่นๆ อีกมากมายที่มาจากธรรมชาติ ในขณะเดียวกันเขาก็จะสามารถบอกได้ว่าสิ่งใดไม่ใช่ของที่เกิดโดยธรรมชาติ นี่ก็เป็นการสอดแทรกความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าไปด้วย หลังจากนั้นเขาก็จะเกิดไอเดียที่จะตามหาวัสดุจากธรรมชาติรอบบ้านของตนเองเพิ่มเติมจากสิ่งที่ครูให้ไป เพื่อนำมาสร้างสรรค์ผลงาน จังหวะนี้เองที่เขาจะได้เรียนรู้การสำรวจ สังเกตรอบๆ บ้านของตนเอง เขาอาจจะได้พบมุมมมองใหม่ๆ ในบ้านที่เขายังไม่เคยเห็นมาก่อนก็เป็นได้

ในขั้นตอนการทำงานชิ้นนี้เปิดโอกาสให้เด็กๆ สร้างชิ้นงานกับสมาชิกในครอบครัว เพราะกิจกรรมศิลปะแบบนี้เป็นกิจกรรมสนุกๆ ที่ใครๆ ก็อยากทำ ลองคิดดูว่าถ้าคนในบ้านได้ทำร่วมกัน ขณะทำได้พูดคุยสนทนากัน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความคิด จะเกิดเรื่องราวและความทรงจำที่มีความสุขมากแค่ไหนกันนะ

ช่วงสุดท้ายของการเรียนรู้ คือการเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ แลกเปลี่ยนผลงานของกันและกัน ถือเป็นช่วงเวลาพิเศษที่ทำให้เด็กๆ ได้เห็นโลกภายในของเพื่อนคนอื่นๆ และในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้เขาได้บอกเล่าเรื่องราวของตนเองให้เพื่อนๆ รับรู้

#HBLC2564

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2564