จากบ้านเล็กสู่บ้านใหญ่
เปิดการเรียนรู้ จากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ก่อตั้ง โรงเรียนเพลินพัฒนา อ. ธิดา พิทักษ์สินสุข ที่นำพาให้รู้ถึงเจตนารมณ์ ความสำคัญของสัญลักษณ์ 9 พอดี
เมื่อพูดถึงความเพียรพยายาม คุณครูจึงนึกถึงเรื่องพระมหาชนกที่ฝากข้อคิดในเรื่องของความอดทน ความเพียรไปสู่ความสำเร็จจึงกลายมาเป็นกิจกรรมที่เริ่มต้นขึ้นพร้อมกับภาคเรียนวิริยะ ภาคเรียนแห่งความเพียรพยายาม โดยคุณครูประจำชั้น ชวนเด็ก ๆ ระดับชั้น 2 “พับเรือกระดาษ” กว่าจะมาเป็นเรือกระดาษต้องใช้เวลาในชั่วโมงโฮมรูมที่มีจำกัดอย่างคุ้มค่า การเรียนรู้จึงดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเริ่มต้นลงมือพับ เด็ก ๆ ต่างก็คาดเดากันว่าจะเป็นเรือได้จริงไหม ? บางคนก็บอกว่าเหมือนหมวก เหมือนนก เด็ก ๆ ต้องใช้การสังเกตวิธีการพับจากวิดีโอ และจากครูประจำชั้น อาศัยความจดจ่ออยู่กับงานพับตรงหน้า ฝึกการคิดเป็นขั้นเป็นตอน หากพับไม่ถูกต้องก็จะไม่ได้รูปร่างที่ต้องการ ต้องอาศัยทั้งความเพียรพยายามและความอดทน จนท้ายที่สุดก็พับออกมาเป็นเรือและตกแต่งในรูปแบบเฉพาะของแต่ละคน
จุดหมายของกิจกรรมนี้ต้องการให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เรื่องราวระหว่างทางที่เกิดขึ้น กว่าจะได้เรือกระดาษหนึ่งลำ ต้องอาศัยทั้งความเพียร ความพยายาม ความอดทน ไม่ย้อท้อ ซึ่งเหมือนกับการมีเป้าหมายและการที่จะทำตามเป้าหมายได้ต้องอาศัยสิ่งเหล่านั้น..
เรื่อลำนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่เรือกระดาษธรรมดา กลับเต็มไปด้วยเป้าหมายและวิธีการสู่งานบ้าน เด็ก ๆ ได้เขียนเป้าหมายงานบ้านลงในเรือ และเขียนวิธีการสู่เป้าหมายลงในกระดาษที่เป็นเหมือนสายน้ำ ในภาคเรียนนี้เด็ก ๆ มีช่วงเวลาในการรับผิดชอบช่วยเหลืองานบ้าน เพื่อทำให้เป็นกิจวัตรอย่างสม่ำเสมอ และเรียนรู้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว กิจกรรมนี้ยังมีความสนุก ความท้าทายรอให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ เพื่อออกเดินทางสู่เป้าหมายความเพียรต่อไป…ตลอดภาคเรียนวิริยะ
เด็กๆ ให้การตอบรับที่ดี สนุก ชอบ ใช้เวลาว่างในการพับเรือ บางคนพับได้เป็นจำนวนหลักสิบลำ บางคนมีประสบการณ์ในการพับกระดาษ สะท้อนว่ามีทั้งง่ายและยากในขั้นตอนการพับ แต่ทุกคนก็เรียนรู้และพยายามจนสำเร็จ บางคนหลังพับเสร็จแล้วยิ้มดีใจ ภูมิใจในตัวเอง คุณครูก็ยิ้มดีใจไปด้วย ไม่ใช่แค่ต้องการให้เกิดความเพียร ความอดทนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายงานบ้านเพียงอย่างเดียว แต่ทั้งครูและเด็กค่อย ๆ เรียนรู้เรื่องราวระหว่างทาง ดูแลจิตใจ และให้กำลังใจเพื่อให้เรือล่องไปได้ไกลที่สุด❤️
ขอบคุณเรื่องเล่าการเรียนรู้โดย : คุณครูโชติรส ขุนทองจันทร์ (ครูฟ้า)
โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2564