“คำควบกล้ำ จะสอนอย่างไรให้เด็กสนุก ? ”

คำควบกล้ำ จะสอนอย่างไรให้เด็กสนุก

“คำควบกล้ำ จะสอนอย่างไรให้เด็กสนุก ? ”

“สอนผ่านการลองชิมสิจ๊ะ เช่น หาขนมที่มีความกรุบกรอบให้เด็ก ๆ ได้ลองชิมกัน”

จากคำแนะนำของครูใหม่ (วิมลศรี ศุษิลวรณ์) กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ครูหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้น ๓ คิดออกแบบแผนการสอนหลักภาษาเรื่องคำควบกล้ำ ที่จะทำให้เด็ก ๆ สนุก ได้ความรู้ และได้อรรถรสไปพร้อม ๆ กัน

— ข้าวตังทรงเครื่อง ความกรอบที่ตอบโจทย์ –

หลังจากค้นคว้าอยู่นานว่าจะให้เด็ก ๆ สัมผัสความกรุบกรอบจากขนมอะไรดี ครูมิลค์ (นิศาชล พูนวศินมงคล) ก็ค้นพบวิดีโอสาธิตการทำข้าวตังทรงเครื่องจากละครเรื่องปลายจวัก ที่บอกเล่าขั้นตอนการทำข้าวตังทรงเครื่องไว้อย่างละเอียด แถมสอดแทรกภูมิปัญญาการทำอาหารของคนไทยไว้ได้อย่างแยบยล เรียกได้ว่าตอบโจทย์การเรียนรู้ภาษาผ่านภูมิปัญญา อันเป็นหัวใจของหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยโดยแท้ เมื่อตัดสินใจจะนำข้าวตังทรงเครื่องมาให้เด็ก ๆ ชิม ขั้นตอนต่อไปคือหาร้านขายข้าวตังทรงเครื่องให้ได้

— ข้าวตังเสวยแม่ณี ความใจดีที่มาพร้อมความอร่อย —

เป็นโชคดีของเด็ก ๆ เมื่อครูมิลค์ติดต่อซื้อข้าวตังทรงเครื่องจากเพจเฟซบุ๊ก “ข้าวตังเสวยแม่ณี” ป้าณีผู้เป็นเจ้าของร้านก็ให้ความอนุเคราะห์ในการสนับสนุนข้าวตังทรงเครื่องจำนวน ๕๐ ถุง หรือ ๑๕๐ แผ่น เพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ชั้น ๓ แบบไม่คิดเงิน ซึ่งเมื่อเรื่องราวความใจดีของป้าณีได้ถูกถ่ายทอดไปยังเด็ก ๆ ก็ทำให้ข้าวตังทรงเครื่องที่เด็ก ๆ ได้ชิมนั้น ยิ่งกลมกล่อมไปด้วยความซาบซึ้งใจที่เด็ก ๆ มีต่อป้าณี

— สวมบทเป็นแม่ค้าหาบเร่ เล่นใหญ่ พาเด็ก ๆ เฮกันยกห้อง —

เมื่อถึงคาบเรียน ครูน้อยหน่า (ศศินา ราษีทอง) ออกแนวคิดให้ครูแต่งตัวเป็นแม่ค้าหาบข้าวตังทรงเครื่องเข้าไปสร้างความตื่นเต้นให้กับเด็ก ๆ ในห้อง ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จเพราะทำให้เด็ก ๆ ตื่นตัวกับการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี จากการร่วมกันคาดเดาว่าสิ่งที่ครูหาบมาด้วยนั้นเป็นขนมชนิดใด

และเมื่อทราบว่าสิ่งที่ครูหาบมานั้นคือ “ข้าวตังทรงเครื่อง” เด็ก ๆ เชื่อมโยงได้ว่า “ทรง” คือคำควบกล้ำไม่แท้ และ “เครื่อง” คือคำควบกล้ำแท้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูเคยสอนในคาบเรียนก่อนหน้า

หลังจากนั้นครูจึงเปิดวิดีโอการทำข้าวตังทรงเครื่องจากละครเรื่องปลายจวักให้เด็ก ๆ ดู พร้อมกับถามคำถามว่า “เด็ก ๆ เห็นอะไรจากวิดีโอนี้บ้าง” เด็ก ๆ ต่างแลกเปลี่ยนในมุมมองที่น่าสนใจ เช่น

  • เห็นส่วนประกอบและขั้นตอนการทำข้าวตังทรงเครื่อง
  • เห็นวิธีการเปลี่ยนของเหลือในครัวให้กลายเป็นขนมแสนอร่อย
  • ผู้หญิงเป็นแม่ศรีเรือน
  • เห็นการแบ่งหน้าที่ระหว่าผู้หญิงและผู้ชายในอดีต ผู้หญิงทำอาหาร ผู้ชายออกรบปกป้องบ้านเมือง

ครูชวนเด็ก ๆ บันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้ลงในสมุด และเริ่มลงมือลิ้มชิมรสข้าวตังทรงเครื่องแสนอร่อย

ระหว่างชิมครูพาให้เด็ก ๆ แลกเปลี่ยนคลังคำที่ได้จากรสชาติ สัมผัส และความรู้สึกที่ได้จากการชิมข้าวตังทรงเครื่อง เช่น กรุบกรอบ หอมหวาน หอมหวล เค็มมัน อร่อย กลอมกล่อม รสละมุน เปราะบาง แปรรูป ขรุขระ กินเกลี้ยง โปรดปราน หลงใหล เพลิดเพลิน ซึ่งเด็ก ๆ สังเกตและเชื่อมโยงได้ว่า คำหลายคำเป็นคำควบกล้ำที่เคยได้เรียน

— ลิ้มรส เรียงร้อย สื่อความอร่อยผ่านภาษา —

คลังคำพร้อม แรงบันดาลใจพร้อม ก็ได้เวลาสร้างสรรค์ผลงาน ในคาบเรียนนี้ ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สร้างสรรค์งานเขียนตามความสนใจ ในหัวข้อ “ข้าวตังทรงเครื่อง” เด็ก ๆ สร้างสรรค์งานเขียนจากคลังคำควบกล้ำออกมาหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การเขียนบรรยาย การ์ตูน กลอนเพลง และกลอนสี่ ซึ่งเมื่อได้อ่านแล้วก็จะสัมผัสได้ถึงรสชาติแห่งความประทับใจของเด็ก ๆ ที่มีต่อ “ข้าวตังทรงเครื่อง” ได้เป็นอย่างดี

เช่น ผลงานของอิงฟ้า ห้อง ๓/๔ ที่ได้ถ่ายทอดความรู้สึกผ่านบทกลอน “ความใจดีที่อร่อย” โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ความใจดีที่อร่อย”

ข้าวตังกรุบกรอบ น่าอร่อยจัง

นำมากินกัน นั้นมีเมตตา

ข้าวตังแม่ณี หอมดีนักหนา

อร่อยมีค่า น่ากินจริงเอย

ผลงานของบุฎฎา ห้อง ๓/๓ ที่ได้ถ่ายทอดความซาบซึ้งใจที่มีต่อความใจดีของป้านี้ผ่านบทกลอน “ข้าวตังแสนอร่อย” โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ข้าวตังแสนอร่อย”

ขอบคุณป้าณี ที่ทำข้าวตัง

หอมหวานชอบจัง ขอบคุณจากใจ

เหตุการณ์ความน่าประทับใจครั้งนี้เป็นฉากเล็ก ๆ ที่แสดงให้เด็ก ๆ ทุกคนได้มองเห็นและเรียนรู้ว่า น้ำใจจะไม่เหือดแห้งไปจากสังคมไทย ไม่ว่าวันนี้หรือวันไหน ทุกคนต่างรู้สึกอบอุ่นหัวใจ เมื่อได้เป็นผู้ให้และผู้รับเสมอ

ขอบคุณเรื่องเล่าโดย

คุณครูนิศาชล พูนวศินมงคล (ครูมิลค์)

คุณครูศศินา ราษีทอง (ครูน้อยหน่า)

ผู้เขียน