คลื่นลม …กับเรือใบ สู่สมดุลแห่งกายใจและความคิด

๔ คืน ๕ วัน สำหรับการใช้ชีวิตสลับกันระหว่างบนบก กับในน้ำ..!!!

ต้องบอกว่าไม่ธรรมดาเลยจริงๆ กับบทเรียนชีวิตที่หาไม่ได้จากตำราเล่มไหน เป็นการพิสูจน์ทั้งพลังกาย และกำลังใจ ในสภาพแวดล้อมที่มีแค่น้ำ ฟ้า คลื่น ลม และแสงแดด..! โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กในวัยเฉลี่ย ๑๕ – ๑๖ ปี นับเป็นการ “เติม” ความพร้อมสู่การเป็นพี่ชั้น ๑๐ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

๒๔ คน ไม่มากไม่น้อยสำหรับการเรียนรู้ ที่ต้องเริ่มจากฐานราก ไล่เรียงตั้งแต่การทำความรู้จักกับส่วนประกอบต่างๆ ของเรือ การผูกเงื่อน วิธีการใช้ ไปกระทั่งการนำเรือลง และขึ้นจากน้ำ..!

ทุกอย่างเป็นรายละเอียดที่อาจดู “ด้อยค่า” เมื่ออยู่บนบก แต่เมื่อทุกคนต้องนำเรือลงน้ำ และมีโจทย์เป็นทุ่น หรือเกาะที่อยู่กลางทะเล มูลค่าของสิ่งที่ครูฝึกได้สอนก่อนลงน้ำ กลับมีความสำคัญในระดับสูงสุด

ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับห้วงเวลาปัจจุบัน…

บางคนลืมที่จะฟังสิ่งที่ครูฝึกได้บอกไปเมื่อ ๒ – ๓ ชั่วโมงก่อนตอนอยู่บนบก พอมานึกได้ตอนนี้ก็สายไปเสียแล้ว

บ้างบังคับทิศทางไม่ได้ดั่งใจ เห็นว่าต้องอ้อมทุ่นฝั่งซ้าย แต่ไปขวา

บ้างก็เงยหน้ามองฟ้า มองลม หรือถึงขนาดเรือล่มต้องลงไปลอยคออยู่ในน้ำก็มี..,

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ทุกคนเกิดความท้อแท้ หากแต่พยายามทวนความคิดที่กำลังเชี่ยวกรากแข่งกับกระแสคลื่น และเสียงตะโกนจากครูฝึก..!!!

การลงน้ำใน ๓ วันแรก ยังคงเน้นการบังคับเรือใบให้อ้อมไปตามทุ่น จาก ๒ ทุ่น (ไส้กรอก) มา ๓ ทุ่น (แซนวิช) จนหลายคนเริ่มอิ่ม… พวกเราจึงตกลงกันว่า “พรุ่งนี้เราจะแล่นใบไปเกาะหมู” เกาะร้างที่นักแล่นใบบนพื้นน้ำสัตหีบทุกคนต้องรู้จัก และเคยขึ้นไปเหยียบในฐานะ “จุดพักนักแล่นใบ”

เช้าวันที่ ๔ นี้อากาศดีจัง ฟ้าโปร่งเป็นใจเหมาะที่จะให้พวกเรานำเรือออกไปยังเกาะหมู ที่เห็นอยู่ลิบๆ เบื้องหน้า

พวกเรารีบเตรียมข้าวของ พร้อมๆ กับเตรียมตัวเอง เพื่อเดินทางไปสู่จุดหมายที่นักแล่นใบหลายๆ คนเคยสัมผัส .. ความตื่นเต้นไม่ทันจะหมด ความหดหู่ก็เข้ามาแทนที่ จู่ๆ พายุก็หอบฝนเทลงมาชนิดที่ทุกคนทำอะไรไม่ได้นอกจาก “รอ”

“ทุกครั้งที่ฝนตก หนูจะต้องหาที่หลบ และรอฝนหยุดตลอด.. แต่วันนี้ หนูขอรออยู่กลางสายฝนนะคะ” เสียงเล็กๆ เล็ดลอดออกมา พร้อมกับการประเมินถึงความปลอดภัยจากครูฝึก.. ไม่มีฟ้า ไม่มีลม มีแต่น้ำฝน โอเค งั้นเรามารอฝนหยุดไปด้วยกัน

ฟ้าหลังฝน มักสวยงามเสมอ … ได้เวลาเอาเรือลงน้ำกันแล้วเด็กๆ

การเดินทางดูราบรื่น และสนุกสนาน ทุกคนสามารถบังคับใบได้ดีขึ้นในระดับที่สามารถพาตนเองไปสู่ฝั่งได้สำเร็จ หากแต่ระหว่างทางขากลับ ในขณะที่เรือทุกลำกำลังเล่นลมอยู่กลางทะเล เรือลำหนึ่งก็เกิดพลิกคว่ำ..! และที่แย่กว่านั้นคือเชือกได้เข้าไปพันกับเรือยางของครูฝึกที่คอยดูความปลอดภัยอยู่ใกล้ๆ จนทำให้ใบหลุด..!!!

“เรื่องการใส่ใบนี่ไม่ต้องพูดถึง ขนาดอยู่บนบกยังใส่ยากเลย แล้วนี่ต้องใส่กันกลางทะเล” เสียงยืนยันจากผู้มีประสบการณ์แล่นใบ

แน่นอนว่าสถานการณ์ย่อมสร้างวีรบุรุษ “เอื้อ” กับ “ครูแบงค์” ที่นั่งอยู่บนเรือยาง ได้รีบกระโดดลงไปในน้ำเพื่อช่วยเพื่อน และนักเรียนของตัวเองในช่วงเวลาที่เรียกว่าแทบจะทันทีที่เห็น ถือเป็นภาพประทับใจที่เกิดขึ้นท่ามกลางความยากลำบากในการกู้เรือ

เข็มนาฬิกาที่ “สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์” เดินเร็วมาก..!

เด็กๆ จับคู่กันลงเรือ และแล่นใบทักทายแสงแดดยามเช้าที่กำลังหยอกเย้ากับน้ำทะเล พร้อมอำลาคลื่นลม และผืนฟ้าเป็นการปิดท้ายช่วงเวลาดีๆ บนแผ่นน้ำทะเลที่สัตหีบ

สิ่งที่เด็กๆ ทุกคนต่างได้รับ นอกจากประสบการณ์ที่หาจากที่ไหนไม่ได้ ก็คือสิ่งต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในลำเรือ ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบ ความแข็งแรงของร่างกาย ความเข้มแข็งของจิตใจที่กล้าเผชิญกับความไม่แน่นอน และควบคุมไม่ได้ การวางแผนแก้ปัญหาในข้อจำกัดที่มี ทุกสิ่งที่กล่าวมาล้วนหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นอย่างสมดุล กล้าเผชิญกับอุปสรรคที่มีมากกว่าคลื่นและลม และพร้อมสำหรับก้าวต่อไปของชีวิต ดูน้อยลง

ข้อมูล ณ วันที่ 27 พฤษภาคม 2559
โดย ส่วนสื่อสารองค์กร

We use cookies to enhance your browsing experience on our website. เราใช้คุกกี้เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงประสบการณ์การเข้าใช้งานเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น Privacy Policy.