จากบ้านเล็กสู่บ้านใหญ่
เปิดการเรียนรู้ จากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ก่อตั้ง โรงเรียนเพลินพัฒนา อ. ธิดา พิทักษ์สินสุข ที่นำพาให้รู้ถึงเจตนารมณ์ ความสำคัญของสัญลักษณ์ 9 พอดี
ผมรู้จักครูใหม่เมื่อเธอไปสมัครเป็น KM Intern ที่ สคส. (สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม) เดือน
กรกฏาคม ๒๕๔๙ แล้วมีความสนิทสนมและร่วมงานกันเรื่อยมา โดยเธอนำเอาความรู้เรื่องการจัดการความรู้มาประยุกต์ใช้ในโรงเรียนเพลินพัฒนาแผนกประถมได้อย่าง “เนียนในเนื้องาน” ก่อความเจริญก้าวหน้าให้แก่โรงเรียนเป็นอันมาก
เริ่มจากช่วงเป็น KM Intern ครูใหม่เขียนบันทึกชุด “ฝึกตนฝนปัญญา” เกี่ยวกับการเรียนรู้จากการทำงาน ลงใน Gotoknow เรื่อยมา (https:/www.gotoknow.org/blog/krumaimai) มีข้อสะท้อนคิดที่ทรงคุณค่าจำนวนมาก เพิ่งหยุดเขียนเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว หลังเผชิญความเจ็บป่วย อ่านบันทึกแรกของครู ใหม่ได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/37282
นอกจากนั้น ยังทำให้โรงเรียนเพลินพัฒนาเป็นดาวเด่นด้านการประยุกต์ใช้การจัดการความรู้เพื่อการพัฒนากิจกรรมของโรงเรียน เริ่มด้วยบันทึกแรกของ ดร. ยุวนุช ทิณลักษณ์ ที่ https://www.gotoknow.org/posts/151270 และอ่านบันทึกเรื่องการจัดการความรู้สู่การพัฒนาครูและพัฒนาโรงเรียนเพลินพัฒนาได้ที่ https:/www.gotoknow.org posts/ags/ โรงเรียนเพลินพัฒนา (log in ด้วย gmail หรือ facebook เพื่ออ่านบทความ)
ด้วยปรีชาด้านภาษาและสุนทรียภาพของครูใหม่ งานมหกรรม KM ประจำปีของโรงเรียนเพลินพัฒนาแผนกประถมจึงได้ชื่อที่เปี่ยมสุนทรียารมณ์ว่า งาน “ชื่นใจ…ได้เรียนรู้ ภาคครูเพลิน “ ผมได้รับเชิญเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง และได้เขียนบันทึกข้อเรียนรู้ของผม ไว้ที่ https:/www.gotoknow.org posts/tags โรงเรียนเพลินพัฒนา (log in ด้วย gmail หรือ facebook เพื่ออ่านบทความ) โดยได้ยกย่องโรงเรียนเพลินพัฒนา ว่าเป็นองค์กรเรียนรู้ (Leaning Organization) ตัวอย่างไว้ที่ https:/www.gotoknow.orgposts/647359
เริ่มจากปี ๒๕๖๐ ครูใหม่และผม ร่วมกันจัดทำหนังสือด้านการเรียนรู้ออกเผยแพร่ปีละเล่มเสมอมา ได้แก่ ศาสตร์และศิลป์ของการสอน (๒๕๖๐) ปรับปรุงการสอนเล็กน้อย ได้ผลยิ่งใหญ่ (๒๕๖๑) สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน (๒๕๖๒) ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง (๒๕๖๓) สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก (๒๕๖๔) และเรากำลังเตรียมจัดทำหนังสือเล่มใหม่ เพื่อครูและนักเรียน เป็นนักพัฒนาตนเอง ที่สาระจะมาจากการเรียนรู้ของครูแกนนำจาก ๑๐ โรงเรียน โดยครูใหม่ทำหน้าที่ โค้ช ผ่านกิจกรรม online coaching เริ่มกิจกรรม oline coaching ไปได้เพียงครั้งเดียว ในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ครูใหม่ก็ล้มป่วยหนัก และจากไป เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๕.๐๙ น.
ในปี ๒๕๕๙ ครูใหม่จัดพิมพ์หนังสือ เพลินกับการพัฒนา บันทึกเส้นทางการเรียนรู้ของทีมงานโรงเรียนเพลินพัฒนาซึ่งอ่านบางส่วนได้ที่ (๑)
ในระหว่างการทำงานท่ามกลางความเจ็บปวยที่รุมเร้าในช่วงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๕ ความสามารถในการโค้ชของครูใหม่เป็นที่ประทับใจของครูที่อยู่ในวง online coaching ครูใหม่รักและห่วงงานนี้มาก เราจึงได้ให้สัญญาแก่ครูใหม่เมื่อเช้าวันที่ ๖ สิงหาคม ไว้ว่า งานนี้จะเดินไปจนประสบความสำเร็จ โดยครูปาดผู้สามี ครูเล็กผู้เป็นเสมือนมือขวาของครูใหม่ และทีมงาน จะสานต่อปณิธานนี้ของครูใหม่ สู่ความสำเร็จให้จงได้
ชีวิตของครูใหม่แม้สุขภาพกายจะไม่เต็มร้อย เพราะเธอเป็นโรคโลหิตจางกรรมพันธุ์ชนิดอ่อน (Hemoglobin H Disease) มาแต่กำเนิด แต่ปัญญาของเธอเกินร้อย และจิตตปัญญายิ่งสูงส่ง สูงสุดที่การทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเรียนรู้ ในฐานะของผู้บริหารโรงเรียน ครูใหม่ทำงานสร้างระบบการทำงานของโรงเรียนเพลินพัฒนาแผนกประถม ให้มีการเรียนรู้ของครู บูรณาการอยู่ในงานประจำอย่างเนียน สร้างความเจริญก้าวหน้าของโรงเรียน และของครูเป็นรายบุคคล และได้ร่วมแสดงบทบาทพัฒนาครูทั่วประเทศผ่านการทำหนังสือ และการเขียน บล็อก ออกเผยแพร่ หนังสือเหล่านี้ ดาวน์โหลดได้ฟรี ครูใหม่ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากการจัดทำหนังสือเหล่านี้
ครูใหม่จึงเป็น “ครูของครู” มีผลงานอันลึกซึ้งฝากไว้เป็นที่ประจัก ดังบันทึก http://www.gotoknow.org/posts/613902
ครูใหม่มีชีวิตอันงดงาม ได้สร้างความดีงามให้ไว้แก่ โลก ดังข้อความในหนังสือ เพลินกับการพัฒนา ความว่า
“งานสร้างโรงเรียนเพลินพัฒนา คืออนุสาวรีย์ชีวิต ของผู้ที่มีใจคิดถึงเพื่อนมนุษย์ด้วยความรัก ความห่วงใย อยากเห็นคนที่เดินตามหลังมาเป็นคนที่มีประโยชน์ มีความสุข”
วิจารณ์ พานิช
๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๕
โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕