เปิดหมวก #1 มหกรรมดนตรีและศิลปะ2567
เปิดหมวก #1 มหกรรมดนตรีและศิลปะ2567เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ลานเล่น โรงเรียนเพลินพัฒนา “IN OUR DREAM” ของนักเรียนชั้น 9
ขอชื่นชม “แพรไหม” นักเรียนชั้น 9/2 ตัวแทนจาก รร. เพลินพัฒนา คว้ารางวัลการนำเสนอผลงานดีเด่น (Outstanding Presentation Award) ร่วมกับเพื่อนๆ ต่างโรงเรียน ในการประกวด “การนำเสนอไอเดียโครงการนวัตกรรมเพื่อลดปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ภายใต้ธีม Cyberbullying” รอบชิงชนะเลิศ Final Pitching of International Friends for Peace ประจำปี 2023 เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดยองค์กรนักศึกษา ไอเซค ประเทศไทย (AIESEC) องค์กรที่ให้การพัฒนาความเป็นผู้นำแก่เยาวชนทั่วโลก และสถาบันสอนภาษาอังกฤษโกลบิช อคาเดเมีย ประเทศไทย ร่วมด้วยสำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การแข่งขันครั้งนี้มีการคัดเลือกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 4 รวม 40 คน จากตัวแทนนักเรียน 1,500 คนในโรงเรียนชั้นนำมากกว่า 109 แห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศนำเสนอและออกแบบโครงการการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว
โอกาสของการก้าวออกจาก Comfort zone
นี่คือโอกาสที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ท้าทายให้นักเรียนได้คิดและทำสิ่งใหม่ๆ สร้างความมั่นใจให้ตนเอง “แพรไหม” ได้ถ่ายทอดประสบการณ์จากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ การแข่งขันเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 โดยในรอบแรกเป็นการทดสอบพื้นฐานภาษาอังกฤษ และการเขียน essay แนะนำตัวเอง ทำไมจึงสนใจค่ายนี้ เคยรู้จัก Cyberbullying หรือไม่ อย่างไร ความมุ่งมั่นตั้งใจในภารกิจแรกที่ได้รับส่งผลให้แพรไหมสามารถผ่านเข้าสู่รอบที่ 2 คัดเลือกเหลือ 300 คน
ในรอบที่ 2 การเรียนรู้เรื่อง Cyberbullying เริ่มเข้มข้นขึ้นโดยมีวิทยากรจากประเทศต่างๆ ทั้งอินเดีย ฟิลิปปินส์ เวียดนามมาให้ความรู้ผ่าน zoom มีช่วงเวลาเรียนทั้งหมด 4 สัปดาห์ (ช่วงเสาร์ – อาทิตย์) ได้เริ่มรู้จักเพื่อนมากขึ้น นอกจากเรื่อง Cyberbullying ยังได้เรียนรู้การเคารพตัวเอง Self esteem, Iceberg theory และทฤษฎีที่น่าสนใจอีกมากมายที่เน้นการร่วมกิจกรรมเพื่อให้ได้สร้างสัมพันธ์กับเพื่อน
“หนูประทับใจเรื่อง Self esteem ที่สามารถสร้างได้ตั้งแต่วัยเด็ก และค่อยๆ เสริมเพิ่มความสามารถให้เด็กเกิดความมั่นใจขึ้นได้ตามวัยนับตั้งแต่วินาทีแรกที่เด็กคนหนึ่งได้ลืมตาดูโลก บางครั้งเราอาจจะจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าวัยเด็กเราเป็นอย่างไร แต่จะมีสิ่งหนึ่งที่อยู่ภายใต้จิตใต้สำนึกที่สร้างตัวตนของเราขึ้นมา”
ในช่วงท้ายของรอบนี้มีโจทย์ให้บันทึกคลิปความยาว 2 นาที บอกเล่าเหตุผลทำไมเราจึงเหมาะจะเข้าไปสู่รอบที่ 3 โดยเปิดโอกาสให้แบ่งปันประสบการณ์ ลักษณะนิสัยของตัวเองซึ่งแพรไหมก็ทำได้ดีสามารถผ่านเข้าไปสู่รอบที่ 3 คัดเลือกเหลือ 40 คน
ลงลึกถึงปัญหา Cyberbullying
มาถึงรอบนี้แพรไหมได้มาเข้าค่ายร่วมกับเพื่อนๆ จากโรงเรียนต่างๆ และได้เรียนเรียนรู้เรื่อง Design Thinking ,Team building โดยนำเรื่องของ Cyberbullying มาเข้าสู่กระบวนการ Design Thinking เช่นในช่วงของการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Empathize) จะเป็นการคิด Persona หรือเรื่องราวลักษณะนิสัยของคนหนึ่งที่มีปัจจัยต่างๆที่ทำให้คนนั้นมีบุคลิกลักษณะนิสัยเช่นนั้นซึ่งจะปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ โดยมีโจทย์ให้หยุดการ Cyberbullying โดยไปแก้ที่กลุ่มเป้าหมายที่กำหนดขึ้นมา ปกติในขั้นตอนนี้จะต้องใช้เวลามากในการสัมภาษณ์ แต่เนื่องจากมีเวลาจำกัดจึงต้องคิดค้น Persona ขึ้นเช่นพฤติกรรมการกลั่นแกล้งผู้อื่นอาจมาจากการถูกพ่อแม่ดุด่าเมื่อวัยเด็ก
“กลุ่มของหนูต้องการแก้ปัญหาของผู้กระทำโดยกำหนดบุคลิกเป็นเด็กผู้หญิงที่มีความสมบูรณ์แบบมากเมื่ออยู่ที่โรงเรียน ซึ่งเด็กผู้หญิงคนนี้มีภูมิหลังวัยเด็กที่ขาดความอบอุ่น พ่อแม่หย่าร้างกัน เธอได้สร้างตัวตนใน Social media โดยมี 2 account อันแรกเอาไว้พูดถึงชีวิตดีๆ มุมดีๆของตัวเอง ส่วนอีก account หนึ่งเอาไว้สำหรับ Bully คนอื่น เบื้องหลังที่ทำให้เธอเป็นแบบนี้เพราะไม่เคยได้รับความรักจากพ่อแม่ และถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ต้องแยกทางกัน พ่อแม่ของเธอก็เคยได้รับความรุนแรงจากรุ่นปู่ย่าตายายเช่นกัน ทำให้เธอคิดว่าความรุนแรงจะทำให้เธอเอาชีวิตรอดในโลกนี้ได้ ประกอบกับฐานะที่ร่ำรวยทำให้เธอคิดว่าทุกคนที่เข้าหาเพราะเรื่องเงิน จากนั้นคือขั้นของการวิเคราะห์ปัญหาที่แท้จริง เราจะทำให้เธอได้รับความเข้าใจจากคนอื่นอย่างไรได้บ้าง และจะทำให้เธอรู้สึกว่าสิ่งที่เธอทำเป็นความผิดอย่างไรได้บ้าง นี่คือการ define ปัญหาของเรา หลังจากคิดปัญหาแล้วคือการระดมไอเดียเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว”
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ในกลุ่มได้สร้างแอพพลิเคชั่น Social Media ที่คนสามารถเข้ามาใช้ได้ก่อนที่จะพิมพ์คำไม่ดีต่างๆ ออกไป ได้ลองกลับมาคิดอีกครั้งว่าอาจทำให้คนอื่นเสียใจ คนที่ไป bully คนอื่นส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีปัญหา เราจึงต้องการแก้ปัญหาส่วนนี้ด้วยการไปเติมเต็มให้ตัวเขา แอพพลิเคชั่นนี้ชื่อว่า talk with me คุยกับฉัน ให้คนสามารถเข้ามาคุยกันได้โดยมีไอคอนรูปหมีให้รู้สึกเหมือนได้ความรัก ได้รับการโอบกอด โดยอาจไม่ต้องแสดงตัวตน ไม่ต้องใช้รูปโปรไฟล์ของตนเอง สามารถเข้าไปร่วมเป็น community แบบ Open Chat คุยกับใครก็ได้ ที่นี่เราต้องการให้เขาได้หาเพื่อนโดยไม่จำเป็นต้องรู้จักใครก็ได้ ให้มีพื้นที่ได้ปลดปล่อย จะไม่มีการตัดสินกัน จะเป็นพื้นที่ที่ยอมรับว่าตัวเองอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ สามารถเข้ามาแอบอยู่เงียบๆโดยไม่ต้องแสดงตัวตนได้ ช่วยบำบัดตัวเอง สามารถเปลี่ยนเสียงได้โดยที่ไม่มีใครจำได้เลย เราต้องการให้เขาได้ใช้ชีวิตแบบปกติ เขาสามารถพิมพ์ว่าคนอื่นได้แต่บางอย่างจะแจ้งเตือนเขา มีบางอย่างคอยกระตุ้นศีลธรรมในตัวเขาขึ้นมา เรื่องราวการนำเสนอของกลุ่มแพรไหมได้ผ่านการตัดสินของกรรมการได้รับรางวัล Outstanding Presentation Award พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท
ฝากถึงคนที่ถูก Bully และคนที่ไป Bully ผู้อื่น
“ เรื่องของโลก Cyber แม้จะมีความน่ากลัวก็จริง แต่คุณสามารถรับมือมันได้หากคุณรู้จักมันมากพอ โลกออนไลน์จะเป็นการ Bully แบบไร้ตัวตน หากพบเห็นคนที่ตกเป็นเหยื่อของการถูก Bully เพื่อนๆ ที่อยู่รอบตัวหากรู้ควรจะช่วย support ให้ถึงที่สุด แม้จะมีคนผลักมา เพื่อนที่ถูก Bully ก็จะไม่ล้มแน่ๆ เพราะมีคนคอยกันไว้อยู่ ช่วยสร้างให้เขามีความมั่นใจและเคารพตัวเอง หากเขาไม่มีใครเลยจะทำให้ตัวเขาเล็กลงเรื่อยๆ จึงมีปัญหาการฆ่าตัวตายเยอะมาก หากพบเห็นเพื่อนที่เป็นแบบนี้โปรดช่วยเขาเถอะค่ะ สำหรับคนที่ Bully คนอื่นเพราะคุณอาจเคยมีใครที่ทำให้เกิดความเศร้ามาก่อน คุณไม่จำเป็นต้องทำให้คนอื่นเศร้าไปกับคุณ คุณสามารถสร้างความมั่นใจในตัวเอง และสร้างความสุขให้ตัวเองโดยไม่ต้องไป Bully คนอื่นบางครั้งคุณอาจคิดว่าโลกใบนี้ไม่มีความเท่าเทียม คุณไม่จำเป็นต้องทำให้คนอื่นเสียใจ และไม่จำเป็นที่ตัวคุณต้องซึมเศร้า คุณสามารถเปลี่ยนมุมมองและสร้างความมั่นใจในตัวเองได้ ”
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2566