ความหลากหลายทางความเชื่อของคนในสังคมไทย | มัธยม 2566

“เธอ เขา เรา ใคร มานุษยวิทยา และปรัชญาเบื้องต้น” วิชาเลือกด้านสังคมของนักเรียนชั้น 10 ได้นำมาบูรณาการร่วมกันโดยพานักเรียนเปิดประสบการณ์ภายใต้โจทย์ “ความหลากหลายทางความเชื่อของคนในสังคมไทย” เพื่อเรียนรู้ และทำความเข้าใจถึงความหลากหลายของผู้นับถือศาสนาต่าง ๆ ที่มีในสังคมไทย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา

  • คุรุดวาราศีคุรุสิงห์สภา ศาสนสถานของผู้นับถือศาสนาซิกข์ ในแหล่งเรียนรู้ดังกล่าวนักเรียนได้เรียบรู้เกี่ยวกับหลักธรรม คำสอนของศาสนาซิกข์ และมีโอกาสในการสอบถาม แลกเปลี่ยนและพูดคุยกับผู้นับถือศาสนาซิกข์ ซึ่งหากจะให้สรุปหลักธรรม คำสอนของศาสนา ประโยคที่ว่า “ความเป็นมนุษย์มาก่อน ศาสนามาที่หลัง” คงเป็นคำอธิบายแนวคิดและแนวทางในการปฏิบัติของผู้นับถือศาสนานี้ได้เป็นอย่างดี หลังจากลงพื้นที่เรียนรู้ แทนย่า นักเรียนชั้น 10 ได้เล่าว่า

“ตอนประถมเคยมาสถานที่แห่งนี้ แต่ตอนนั้นยังเด็กมากทำให้ยังไม่เข้าใจแนวคิดของศาสนาซิกข์มากนัก การมาศึกษาในครั้งนี้ทำให้ตนเองเข้าใจแนวคิด คำสอนของศาสนาดังกล่าวมากขึ้น”

แหล่งเรียนรู้ถัดมา เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ นักเรียนได้เรียนรู้ถึงประวัติ ความเป็นมา หลักธรรมคำสอนและการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนถึงประเด็นที่ผู้คนทั่วไปมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ก่อนจบการสนทนาวิทยากรได้ตั้งคำถามถึงความสุขนิรันดรของผู้คนในยุคสมัยนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจในการหาคำตอบเป็นอย่างมาก

แป้น นักเรียนชั้น 10 ได้สะท้อนว่า “ศาสนานี้มีความน่าสนใจมาก รู้สึกว่าจับต้องได้และนำไปปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน”

แหล่งเรียนรู้สุดท้าย สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน นักเรียนได้รับความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับที่มา หลักธรรมคำสอนและความเชื่อของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ และศึกษาประวัติความเป็นมาของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ในประเทศไทยผ่านนิทรรศการที่จัดแสดง ณ แหล่งเรียนรู้ดังกล่าว ซึ่งทำให้เห็นถึงบทบาทของมิชชันนารีที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย

หลักจากศึกษาแหล่งเรียนรู้ครบทั้ง 3 สถานที่ นักเรียนได้แลกเปลี่ยนและเขียนสะท้อนการเรียนรู้ โดยนักเรียนหลายคนได้สะท้อนถึงความสำคัญของการเดินทางไปศึกษาในครั้งนี้ว่า

แป้น : ประทับใจการไป Daytrip ในครั้งนี้ เพราะได้เรียนรู้จากผู้ที่นับถือศาสนานั้นโดยตรง ทำให้ได้ข้อมูลจากผู้ที่นับถือศาสนาดังกล่าวจริง ๆ

เจได : ได้เรียนรู้หลักคําสอนหรือวิถีปฏิบัติของศาสนาอื่นๆ และยังได้เข้าใจวิถีชีวิตและทัศนะของศาสนิกชนหรือผู้ศรัทธาของทั้ง 3 ศาสนา

ชา : ทำให้เห็นและเข้าใจถึงความแตกต่างหลากหลายของผู้นับถือศาสนาต่าง ๆ และเกิดคำถามบางอย่างที่จะพยายามหาคำตอบต่อไป

การเรียนรู้และการทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานของการยอมรับความแตกต่าง และการเห็นความแตกต่างเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจในการเสริมสร้างความสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นในสังคม

วิชาเลือกด้านสังคมของนักเรียนชั้น 10

  • มานุษยวิทยา เน้นศึกษาและทำความเข้าใจปรากฏการณ์และทำความเข้าใจมนุษย์ในสังคม
  • เธอ เขา เรา ใคร ศึกษาความหลากหลายของกลุ่มคนต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคม เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจความหลากหลาย ที่มา สาเหตุ ปัจจัยของกลุ่มคนต่าง ๆ
  • ปรัชญาเบื้องต้น เป็นการศึกษาเนื้อหาปรัญชญาแขนงต่าง ๆ เช่น ปรัชญาตะวันตก ปรัชญาตะวันออก – ปรัชญาศาสนาเพื่อทำความเข้าใจและฝึกกระบวนการคิดของนักเรียน

ขอบคุณบทความโดย คุณครูวสวัตติ์ ชาวประทุม (ครูยีนส์) คุณครูมานุษและสังคม

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 20 มีนาคม 2567