ก้าวข้ามความท้าทายสู่เป้าหมาย การสื่อสารที่มีความรู้สึกเป็นฐานกับเด็กโตและวัยรุ่น

บันทึก : ก้าวข้ามความท้าทายสู่เป้าหมาย การสื่อสารที่มีความรู้สึกเป็นฐานกับเด็กโตและวัยรุ่น

วิทยากร : คุณปาล์ม ปัณณวัฒน์ วีรบุรีนนท์

Zoom Meeting : วันที่ 5 สิงหาคม 2564

Positive Parenting : โรงเรียนเพลินพัฒนา

PART 1 : รับฟังอย่างไรที่ไม่ตัดสิน

เคยหรือไม่…เวลาที่ลูกมีพฤติกรรมที่เราไม่ชอบ เราแชร์ความรู้สึก ความกังวลให้ลูกรับรู้แล้ว แต่มันยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเราและลูกแย่ลง?

“ตั้งใจเรียนหน่อยสิลูก”

…แล้วลูกก็โมโห ปิดคอมไปเลยค่ะ….

เช่นนั้น เราปล่อยเลยตามเลยดีกว่าหรือไม่ หรือเราเก็บสะสมไว้ เพื่อรอวันระเบิด! บวกกับความเครียด ความกดดันที่สะสม เราเลยใช้อารมณ์ที่กำลังท่วมท้นร่วมไปด้วย ความสัมพันธ์ที่เราพยายามรักษามาตลอด จึงพังลงในที่สุด

จะดีกว่าหรือไม่…หากเราสามารถช่วยให้ลูกไปถึงเป้าหมายได้ ในขณะเดียวกันก็รักษาสายสัมพันธ์ได้ด้วย!? เพราะในชีวิตจริง เราเจอปัญหามากกว่าแค่เรื่องการเรียนของลูก ยังมีเรื่องอย่าง…ลูกทะเลาะกับเพื่อน เลิกกับแฟน ฯลฯ การรับฟังแบบใดที่ผู้ฟังจะไม่รู้สึกว่าถูกตัดสิน!

หากเปรียบ “การสื่อสาร” เหมือนกับการดำน้ำ ยิ่งดำลงลึก ยิ่งอันตราย แต่หากเราฝึกฝนการดำน้ำจนมีทักษะ เมื่อเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้า/อันตราย/ฉุกเฉิน ด้วยการฝึกฝนที่ดี จะสามารถทำให้เรารับมือได้ดีกว่า เช่นเดียวกับ..การสื่อสารที่ดี ก็จะไม่ทำร้ายทั้งผู้พูดและผู้ฟัง

5 Levels of Interpersonal Communication

แล้วการฟังคืออะไร?

องค์ประกอบของ Active Listening ได้แก่

  • Questioning Skills
  • Listener Orientation
  • Reflective Technique

ซึ่งการมาพูดคุยในวันนี้ คุณปาล์มเน้นย้ำว่า…เรามาเพื่อลองชิมรสชาติดูก่อน เราไม่คาดหวังว่าจบการพูดคุยในวันนี้แล้วทุกคนจะสื่อสารได้ดี หรือกลายเป็นผู้ฟังที่ดีเลย หากแต่การสื่อสารต้องผ่านการฝึกฝน จนเราสามารถสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยได้อย่างที่เป็นตัวเราเองและเป็นธรรมชาติ เพราะแนวทางมีหน้าที่เป็นเพียงไกด์ไลน์ เราต้องนำแกนหลักนั้นมาใช้อย่างเข้าใจ

จึงจะสามารถประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ตรงหน้าในแบบฉบับของตัวเราเองได้

เคส : น้องเม (นามสมมติ based on true story)
น้องเม : อายุ 12 ปี อยู่ชั้น ป.6
สถานการณ์ : เรียนออนไลน์ในช่วงโควิด คุณพ่อทำงานนอกบ้าน คุณแม่ work from home และดูแลบ้านไปพร้อมกัน น้องเกิดความทุกข์ใจจากการเรียน แต่เมื่อเล่าให้แม่ฟังแล้ว แม่มักจะฟังเพียงชั่วครู่ และตัดบทเสมอ

(บางช่วงขออนุญาตสรุปแค่คำถามที่คุณปาล์มใช้นะคะ อาจจะไม่ได้เป๊ะๆ ทุกคำค่ะ)

Q : เล่าให้ฟังได้มั้ยว่าที่โรงเรียนเป็นยังไงบ้าง?
A : (น้องเล่าว่า ไม่อยากเรียน ตามงานไม่ทัน พอเล่าให้แม่ฟัง แม่ก็ชอบบอกว่า ไม่ได้นะ ต้องเรียน แล้วปัญหาของเราก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย)
Q : (ทวนซ้ำสิ่งที่น้องพูด…ว่าเข้าใจแบบนี้ถูกต้องหรือไม่?)
A : (ความเข้าใจได้รับการคอมเฟิร์ม)
Q : สิ่งที่เกิดขึ้นนี้น้องรู้สึกยังไง?
A : โกรธ และเศร้า
Q : แล้วส่วนไหนของเรื่องที่ทำให้โกรธ ส่วนไหนที่ทำให้เศร้า?
A : เศร้าที่เรียนตามเพื่อนไม่ทัน และโกรธที่แม่บอกว่าเป็นเรื่องเล็กๆ

จากเรื่องราวทั้งหมด เราต้องจับให้ได้ก่อนว่า ปัญหาจริงๆ คืออะไร การถาม “เล่าเพิ่มได้มั้ย?” เป็นคำถามปลายเปิด ผู้พูดจะเล่าหรือไม่เล่าก็ได้

เมื่อผู้ฟังสรุปให้ผู้พูดฟังอีกครั้ง เป็นการสะท้อนความคิดว่าผู้ฟังเข้าใจเหตุการณ์นั้นจริงๆ ไม่ใช่ฟังผ่านๆ “ถ้าผมเข้าใจผิดบอกได้นะ” = มาเพื่อรับฟัง ไม่ได้มาตัดสิน

“น้องรู้สึกอย่างไร” การจับความรู้สึกนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าไม่มีความรู้สึก ผู้ฟังอาจตีความหมายของคำพูดนั้นผิดจากความเป็นจริงได้ เมื่อใส่ความรู้สึกจะยิ่งทำให้เรา ‘ได้ยิน’ สิ่งที่ผู้พูดต้องการสื่อถึงจริงๆ

หลายครั้งที่น้องเมนิ่งเงียบไปก่อนที่จะตอบ คุณปาล์มก็พร้อมอยู่นิ่งๆ ไปกับน้องด้วย เป็นเทคนิคการใช้ร่างกายแสดงออกว่าไม่กดดันให้เขาต้องรีบตอบ การสื่อสารไม่จำเป็นต้องผ่านการพูดเพียงอย่างเดียว บริบทของร่างกาย (behaviour and body language) หรือความเงียบนั้น ก็เป็นการสื่อสารด้วยเช่นกัน

“ส่วนไหนของเรื่องที่ทำให้เกิดความรู้สึก….นี้?” คำถามนี้ช่วยไฮไลต์เหตุการณ์ให้ชัดเจนมากขึ้น เราต้องรวบรวมข้อมูลให้มากพอ ก่อนที่จะกระโดดลงไปร่วมในการแก้ไขปัญหานั้นๆ

คำถามที่ไม่ควรใช้ เช่น คำถามปลายปิด คำถามที่มีให้เลือกตอบแค่ใช่กับไม่

PART 2 : พูดอย่างไรให้ถึงเป้าหมาย

จากสามเหลี่ยมแรกนี้ “The Drama Triangle” เมื่อลูกเจอปัญหา พ่อแม่มักจะลงมาอยู่ 2 ตำแหน่ง คือ

  1. ผู้ช่วยชีวิต – โอ๋ลูก
  2. ผู้ข่มเหง – เพราะเธอเป็นแบบนี้แหละ เรื่องมันเลยเป็นแบบนี้

ลองเปลี่ยนสามเหลี่ยมแรกมาเป็น… “The Empowerment Dynamic” เข้าไปแทนที่!

…โดยแทนที่จะเป็น Rescuer (ผู้ช่วยชีวิต) จงเป็น Coach (โค้ช) ที่จะคอยตั้งคำถามเพื่อพาผู้ต้องการความช่วยเหลือไปข้างหน้า โดยให้เขาสามารถเลือกแนวทางการแก้ปัญหาชีวิตของเขาเอง | แทนที่จะเป็น Persecutor (ผู้ข่มเหง) จงเป็น Challenger (ผู้ท้าทาย) ที่จะกระตุ้นการเปลี่ยนแปลง และการเรียนรู้เติบโตของผู้อื่นให้เกิดขึ้น | แล้วจาก Victim (เหยื่อ) จะกลายเป็น Creator (ผู้รังสรรค์) ได้ในท้ายที่สุด

เมื่อคนเราเจอปัญหา มันไม่ได้เหมือนการวิ่ง 100 ม. ที่ต้องวิ่งให้ถึงเส้นชัยเร็วที่สุด แต่เป็นเหมือนการวิ่งมาราธอน ที่ต้องค่อยๆ ใช้พลังงานที่มี สร้างแผนการย่อยๆ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายหรือเส้นชัย

ต่อที่เคสน้องเม….
Q : แล้วน้องอยากทำอะไรกับเรื่องนี้ดี? (ผมนิ่งรอคำตอบจากเขา)
A : อยากแก้เรื่องเรียนก่อน แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง
Q : แล้วในโลกอุดมคติของน้อง ถ้าเรื่องนี้ได้รับการแก้ไขแล้ว คิดว่าจะเป็นยังไง? (ตรงนี้ผู้พูดยังไม่รู้ว่าจะทำยังไง แต่อยากให้นึกเห็นภาพก่อน)
A : อยากตามงานให้ทัน โดยเฉพาะวิชาเลขกับสังคม
Q : ถ้าความคิดนี้เป็นเป้าหมายที่เราให้คะแนน 10 เต็ม 10 น้องคิดว่าตอนนี้น้องอยู่ที่ตรงไหน?
A : อยู่ที่ 5
Q : ถ้าน้องอยากไปให้ถึง 6 หรือ 7 ต้องทำยังไง? (เราเอาจุดเริ่มต้นก่อน ไม่ใช่ไปเอาที่ 10 เลย😅)
A : ก็คงต้องเริ่มจากทำงานตัวหนึ่งส่งให้ผ่านก่อน แล้วก็ต้องเข้าใจวิชาเลขมากขึ้น อาจจะให้เพื่อนช่วยสอน
Q : …..ผมเข้าใจแบบนี้ถูกต้องมั้ย? (สรุปแผน A ของเขาว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ให้เขาเห็นภาพอีกครั้ง)
A : …..

Q : แล้วอยากจะเริ่มทำเมื่อไร อยากให้เสร็จเมื่อไร? (ทุกครั้งไม่ได้หมายความว่าต้องเริ่มพรุ่งนี้ ให้เขาเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะเริ่มเมื่อไร)
A : …….
Q : แล้วในความเป็นจริง คิดว่าจะทำได้หรือไม่?
A : ……
Q : อะไรคือสิ่งที่แย่ที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้น? (ให้เห็นว่าในชีวิตจริง หลายครั้งเราก็เจออุปสรรคต่างๆ)
A : ทำแล้วแต่ไม่ทัน เพื่อนสอนแล้วแต่ก็ยังไม่เข้าใจ
Q : แล้วเราจะทำยังไงต่อ?

A : ก็อาจไปขอเลื่อนส่งหรือขอเวลาครูเพิ่ม กับให้ครูสอนเลขเพิ่มเติม
Q : เรารู้สึกยังไงกับแผนนี้บ้าง?
A : ก็โอเค ดูเป็นไปได้
Q : ถ้าทำได้ ภายในสัปดาห์หน้า เราจะรู้สึกยังไง? (เป็นการวิ่งเข้าเส้ยชัยแบบย่อยๆ สร้างแรงบันดาลใจขนาดย่อมๆ ให้เขาเห็น)
A : ก็คงรู้สึกดี สบายใจ

เราช่วยเขาเซ็ตแผน A และ B นี้ผ่านคำถาม ให้เขาคิดและเป็นผู้รังสรรค์แทนการเป็นเหยื่อ โดยที่เราไม่ได้คิดแผนให้เขาเลย challenge ให้เขาคิดถึงอุปสรรคที่อาจจะต้องเจอ อย่างไรก็ตาม เคสนี้อาจเป็นตัวอย่างของการให้คำปรึกษาที่ราบรื่นที่สุด แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้เป็นแบบนี้เสมอไป😅 บางครั้งเด็กก็ติด ไปต่อไม่ได้ และเจออุปสรรค สิ่งสำคัญ คือ เราไม่ฝืน เราต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เขา จนกว่าเขาพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง

PART 3 : เรามีวิธีดูแลใจของตัวเองอย่างไร

เมื่อเราดูแลลูก ดูแลคนรอบข้างแล้ว อย่าลืมดูแลตัวเอง เพื่อให้มั่นใจว่า…. เรายังโอเคอยู่ ยังเต็ม 100 อยู่!

หลายๆ กิจกรรมที่เราทำนั้น ก่อให้เกิดการบำรุงร่ายกายและจิตใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ทำให้เราตัดสิ่งที่คิดว่าไม่จำเป็นออก…เหลือแต่งาน และท้ายที่สุด…เหลือแต่ความเหนื่อยล้า😢 ยิ่งหากมีตัวเร่ง เช่น ปัญหาการนอนหลับ ขาดพลังงาน ฯลฯ จะเกิดอะไรขึ้นตามมา!? เราต้องรู้ว่า…เราอยูในระดับใดของกรวยนี้! คุณปาล์มชวนคิดและชวนทำตารางนี้…

ให้เราลองเขียนกิจกรรมในแต่ละวันตั้งแต่ตื่นนอน ประมาณ 10-15 กิจกรรม แล้วลองแยกว่ากิจกรรมใดบ้างที่บำรุง กิจกรรมใดบ้างที่บั่นทอน หลังจากนั้นเรามาลองทำอีกตาราง โดยเพิ่มอีก 3 คอลัมน์ คือ

(1) กิจกรรมใดบ้างที่เราเคยชอบ/ชอบทำ แม้ตอนนี้จะไม่ได้ทำแล้วก็ตาม?

(2) แล้วเราทำกิจกรรมเหล่านี้ครั้งสุดท้ายเมื่อใด?

(3) และเมื่อเราย้อนไปดูว่าเราทำมันครั้งสุดท้ายเมื่อใด เรารู้สึกอย่างไร?

เราต้องดูแลใจตัวเองได้ก่อน เราถึงจะดูแลใจผู้อื่นได้ และเราจะดูแลใจตัวเองได้ก็ต่อเมื่อเราตระหนักรู้ตัวเองในขณะปัจจุบัน รู้ความต้องการของตัวเองในทุกขณะ และรับผิดชอบต่อตัวเราเอง เปรียบเหมือนเมื่อเราสามารถชาร์จแบตตัวเองเป็น แบตที่ชาร์จแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถส่งต่อให้ผู้อื่นได้

อย่างไรก็ตาม คุณปาล์มยังคงย้ำว่า…การสื่อสารที่ดีเกิดขึ้นจากการฝึกฝน วันนี้เรามาคุยกันเพียงเพื่อลองลิ้มชิมรสของการเป็นผู้ฟังที่ดี ความเข้าใจต่อการสื่อสารในเบื้องต้น หากคุณพ่อคุณแม่อยากติดอาวุธ อัพสกิลด้านการสื่อสารกับลูกในแต่ละช่วงวัย รอติดตามข่าวสารจากทางโรงเรียนนะคะ

หากเนื้อหามีข้อผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ CR แม่บิว

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2564