เปิดมุมมองสร้างสรรค์สื่อยุคใหม่
นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมในมิติต่าง ๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและสังคมอยู่ตลอดเวลา ผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้าประเด็นที่ตนเองสนใจ
สิ่งที่อยู่ในใจของเด็กเพลินพัฒนาเเต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่สำหรับผมแล้ว สิ่งที่ผมประทับใจและอยู่ในใจผมมาตลอด นั่นก็คือ การจัดงานมหกรรมดนตรีและศิลปะของมัธยมเพลินพัฒนา มันไม่ใช่แค่เรื่องของการเรียนเพื่อเก็บเกรดไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่แท้จริงแล้วมันคือเรื่องของการค้นหาตัวตน อัตลักษณ์และความสนใจของนักเรียนแต่ละคน มัธยมเพลินพัฒนาส่งเสริมหลากหลายกิจกรรมและเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลองสิ่งใหม่ๆ เสมอ ซึ่งงานมหกรรมดนตรีฯ ก็เป็นงานหนึ่งที่นักเรียนมัธยมทุกรุ่นต้องมีส่วนร่วมในการจัด ซึ่งปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านมา ผมได้เป็นคนหนึ่งที่ร่วมจัดงานนี้ ผมเลยอยากจะมาบอกเล่าประสบการณ์ของผมที่มีต่องานมหกรรมดนตรีฯ
งานมหกรรมดนตรีและศิลปะ คืองานอีเวนท์ประจำปีของโรงเรียนซึ่งรับผิดชอบโดยนักเรียนชั้น 9 นักเรียนทุกคนจะร่วมมือกันทำงาน โดยงานมีจุดประสงค์ให้นักเรียนฝึกทักษะในการทำงานร่วมกัน การสื่อสาร การผลิตสื่อ การระดมทุน ฯลฯ กระบวนการทำงานจะเริ่มตั้งแต่แบ่งฝ่ายการทำงาน ระดมความคิดสร้างสรรค์ธีมงาน ระดมทุน จัดหาสปอนเซอร์ ติดต่อศิลปิน และอื่น โดยทั้งหมดนี้ดำเนินการโดยนักเรียน และมีคุณครูมัธยมเป็นที่ปรึกษา
ปีที่แล้วชั้นเรียนของผมและเพื่อนทั้งหมด 86 ชีวิตต้องร่วมมือกันจัดงานนี้ขึ้นมาโดยที่พวกเราไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน
อธิบายสั้นๆ นักเรียนทั้งหมดจะถูกแบ่งเป็นฝ่ายย่อย ๆ ตามความสามารถและความสนใจที่ตนมีซึ่งมีทั้งหมดด้วยกัน 5 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายจัดการ ฝ่ายระดมทุน ฝ่ายศิลป์ ฝ่ายดนตรี ฝ่ายครีเอทีฟ ซึ่งตอนนั้นผมตัดสินใจที่จะอยู่ฝ่ายระดมทุน งานหลักของฝ่ายนี้คือการจัดหางบประมาณสำหรับการจัดงาน
พวกเราเลือกธีม “งานวัด” กระบวนการทำงานช่วงแรกจะมุ่งเกี่ยวกับการวางแผนด้านต่างๆ และประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในส่วนที่ผมรับผิดชอบ คือ กิจกรรมที่ผมได้ช่วยกันหาทุนกับเพื่อนๆ ในงานเทศกาลประจำปีของโรงเรียนในงาน ลมเข้าเบา…เงาเดือนเพ็ญ
เรื่องนี้ผมคงจำไปตลอดชีวิต หลายๆ ท่านในที่นี้คงได้เจอกับร้านขายหมูย่างหมูไม่สุกในงานลมข้าวเบาปีที่แล้วที่ชื่อว่า “สุกรนอนให้เผา” สารภาพเลยครับพวกผมเป็นคนทำเอง…ความปั่นป่วนเริ่มตั้งแต่ผมสมัครร้านค้าผิดลิงก์ แต่ยังโชคดีที่แม่บี๋ ประธานสภาครอบครัวเพลินพัฒนา หนึ่งในคณะทำงานได้ให้โอกาสในการแก้ไขจนได้เข้ามาขายในงาน หลังจากนั้น พวกเราก็ระดมความคิดว่าจะขายอะไรกันดี ถกกันอยู่นานจนได้ข้อสรุปที่…ขายหมูย่างเตาถ่าน (ซึ่งแม้ผมจะไม่เห็นด้วยในตอนนั้น แต่ก็ต้องยอมรับตามความคิดเห็นส่วนใหญ่)
ตอนขายผมแทบจะหลั่งน้ำตา เพราะมันคือที่สุดแห่งความวุ่นวาย ต้องซื้อหมูกว่า 7 กก. มาหมักตั้งแต่ตี 5 ทำน้ำจิ้ม และใช้เวลาอีกเกือบครึ่งชั่วโมงในการจุดถ่านให้ติด และด้วยความที่ไร้ประสบการณ์ ส่งผลให้หมูที่ย่างนั้น สุกบ้าง ไม่สุกบ้าง เหนียวบ้าง โดนลูกค้าบ่นทุกวัน แต่สุดท้ายพวกเราก็ผ่านมาได้ และได้กำไรจากการขายมาจำนวนหนึ่งเป็นทุนในการจัดงานมหกรรมดนตรี ประสบการณ์ครั้งนี้สอนผมให้ได้เรียนรู้อย่างหนึ่งคือ ในการทำงานเราต้องทำงานอย่างเป็นระบบ และก่อนจะทำอะไรเราควรศึกษาหาข้อมูล ฝึกทำก่อนและต้องมีความละเอียดรอบคอบมากกว่านี้
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกอยากเล่าคือการติดต่อสปอนเซอร์ของงาน ในตอนนั้นสถานการณ์งบประมาณเรียกได้ว่าห่างไกลจากยอดที่ตั้งไว้มาก ตอนนั้นเรียกได้ว่าสถานการณ์เริ่มย่ำแย่ โดยเกิดจากการประสานงานที่ผิดพลาดของผม ตอนนั้นฝ่ายระดมทุนทั้งหมดต้องแบ่งกันเป็น 3 กลุ่มเพื่อไปช่วยกันหาทุน กลุ่มแรกคือกลุ่มทำขนม ซึ่งภายหลังได้รับความช่วยเหลือจากประธานในการมาช่วยเพราะคนในฝ่ายทำขนมไม่เป็นทุกคน กลุ่มคนขายเสื้อ ฝ่ายนี้ก็จะประสบปัญหาอีกแบบเพราะต้องติดต่อโรงงาน ออกแบบเสื้อ และประชาสัมพันธ์การขายและพรีออเดอร์ แต่ดีตรงที่สามารถประสานกับฝ่ายศิลป์ และฝ่ายจัดการเลยมีสมาชิกมาช่วยกันงานเพิ่มขึ้น และกลุ่มสุดท้าย..ไม่เรียกกลุ่ม แต่เรียกว่า “ผม กับ เพื่อนอีกคน” น่าจะดีกว่า คือกลุ่มที่ต้องติดต่อขอสปอนเซอร์… เป้าหมาย คือ เราต้องพยายามหางบประมาณที่ยังขาดอีกจำนวนมาก ทำให้ผมรู้สึกกดดันมหาศาล หลัก ๆ หน้าที่ของผมคือพยายามหารายชื่อบริษัทต่างๆ เช่น โก๋แก่ อิชิตัน และอื่นๆ ติดต่อบริษัทเหล่านั้นเพื่อขอพบ บอกเล่าเรื่องงานที่เรากำลังทำ และขอแรงสนับสนุน ถ้าคุยแล้วเขาไม่สนใจก็ต้องหาใหม่ หรือถ้าเขาสนใจก็ต้องมาประเมินอีกว่าเขาจะสนับสนุนพวกเราแบบใด
โดยปกติแล้วเวลาผมคุย ผมจะดำเนินการไปพร้อมๆ กันหลายบริษัท เพราะบางที่ใช้เวลาเป็นเดือนในการพิจารณา ผมก็เลยติดต่อพร้อมกันไปเลย 8 บริษัท (555) …. ซึ่งการที่ผมทำแบบนี้นี่แหละครับ ก่อให้เกิดปัญหาตามมา
ผมต้องอธิบายก่อนคืองานมหกรรมดนตรีปีที่ผมทำเป็นธีมงานวัด จึงมีบูธกิจกรรมต่างๆ เพียบเลยครับ ซึ่งประธานและครีเอทีฟก็ตัดสินใจว่าเราจะให้ สปอนเซอร์สามารถมาเปิดบูธกิจกรรมได้ด้วย ส่งผลให้ผมต้องพยายามแก้ปัญหาที่ตามมาในเรื่องของพื้นที่ เพราะมีสปอนเซอร์หลายเจ้ามากๆ ที่สนใจจะเข้ามาเปิดบูธในงาน เวลามีข้อสงสัยหรือต้องการอะไรเขาก็จะโทรมาหาผมครับ และด้วยความที่ผมติดต่อไว้เยอะ จึงมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทโทรมาหาผมทั้งวัน ไม่เว้นแม้แต่ตอนสอบ ตอนเข้าห้องน้ำ ตอนเล่นเกม หรือเรียน ….
แต่ละบูธของแต่ละสปอนเซอร์ก็จะมีความต้องการไม่เหมือนกัน เช่น บูธสปอนเซอร์ A ต้องการโต๊ะเพิ่ม ผมก็ต้องไปถามฝ่ายที่ออกแบบผังงานว่าเพิ่มได้อีกหรือไม่ ถ้าไม่ได้ผมก็ต้องสื่อสารกลับ บางบูธเขาก็จะมีอุปกรณ์ประกอบบูธส่งมาให้ ผมก็ต้องบันทึกไว้ว่าเขาจะใช้อะไร เท่าไร เมื่อไร และประสานแจ้งคุณครูอีกครั้ง หรือบางเจ้าเขาจะแจกพวกน้ำ ขนม ผมก็ต้องไปถามเขาอีกว่าขนมที่จะเอามาคืออะไร ผิดกฎโรงเรียนหรือไม่ ซึ่งบอกได้คำเดียวว่าตะลุมบอลสุดๆ ไปเลยครับ
นอกจากหน้าที่ระดมทุน ผมยังมีวงดนตรีของผมที่ต้องซ้อมเพื่อที่จะเตรียมไปแสดงอีก บอกเลยว่าเครียดมาก ๆ แต่ผมก็พยายามตั้งใจทำในทุกบทบาท ในที่สุดผมก็ผ่านมันมาได้ ได้อย่างดีด้วยครับ หลังจากงานจบผมมานึกย้อนดูแล้วรู้สึกว่าตัวเองก็เก่งเหมือนกันนะ สปอนเซอร์ทั้งหมดเราคุยคนเดียวเลย ว้าวๆ ยอดรวมทั้งหมดที่หามาได้ก็ร่วมหกหมื่นห้าพันบาท และโก๋แก่อีก 6 ลัง จากประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้ผมกลายเป็นคนที่รอบคอบขึ้น ทำงานเป็นระบบมากขึ้น เอาใจใส่กับเรื่องต่างๆ มากขึ้น ได้เรียนรู้วิธีการประสานงาน สื่อสาร และการติดต่อขอสปอนเซอร์อีกด้วย
นี่เป็นเพียงประสบการณ์ส่วนหนึ่งจากงานนี้ ซึ่งช่วยขัดเกลาให้ผมเป็นคนที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ผมมีความรับผิดชอบและสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ งานนี้ยังมีเรื่องราว วีรกรรมอีกหลายอย่างและบทเรียนอีกมากมาย ซึ่งกลายมาเป็นบทเรียนชีวิตที่สำคัญสำหรับผม ต้องขอบคุณทุกคนรุ่น pptn 18 มากๆ ที่คอยช่วยเหลือ สนับสนุนกันและกันจนงานสำเร็จลุล่วงด้วยดี ขอบคุณจริงๆ ครับ
เรื่องเล่าโดย PCC- 031 นายธีร์ธวัช วรสิทธานุกูล (เต็น เต็น)
ชั้น 10/1
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2567