เราคือสิ่งแวดล้อมของกันและกัน
ตั้งใจเข้ามาช่วยงานโรงเรียน เพราะเชื่อว่าเราคือสิ่งแวดล้อมของกันและกัน และเพราะเด็กคนหนึ่งต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านช่วยกันเลี้ยงดู (It takes a village to raise a child.)
…ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เด็กๆ ชั้น 9 ที่เลือกลงเรียนรายวิชา Stress Management หรือ วิชาการจัดการความเครียด ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมนิทรรศการ ‘HOMECOMING พาใจกลับบ้าน’ ซึ่งจัดโดยทีม Eyedropper Fill ร่วมกับ สสส. ณ River city Bangkok ชั้น 2 นิทรรศการนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเยียวยาจิตใจ ให้กลับมารักตนเอง ใส่ใจความรู้สึกของตนเอง ถือเป็นสารตั้งต้นชั้นดีช่วยเสริมแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ในวิชานี้ได้ต่อยอด เพื่อออกแบบและสร้างกิจกรรมการจัดการและบริหารความเครียดในวัยเรียนแก่เพื่อนๆ มัธยมเพลินพัฒนาทุกคนในภาคเรียนนี้
กิจกรรมชวนพักใจของเด็กๆ ถูกจัดขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ภายในงานประกอบด้วย 5 ฐาน ซึ่งจะพาผู้เข้าร่วมงานใช้เวลาอยู่กับตนเองในบรรยากาศผ่อนคลาย เพื่อพักใจ เริ่มต้นจาก
1. ฐานกิจกรรมระบายสี ต่อเติม Mandala – เด็กๆ นำเอาศิลปะอินเดียที่ช่วยในการเพิ่มสมาธิและผ่อนคลายความตึงเครียดในจิตใจ ให้บรรดาผู้ร่วมงานได้ระบายสีต่อเติมผลงานของกันและกัน เกิดเป็นความสวยงามที่ช่วยกันสรรสร้างและผ่อนคลายไปพร้อมๆ กัน
2. ฐานนั่งจ้องมองเปลวเทียนให้จิตปล่อยวาง – ในฐานนี้ ได้แนวคิดและแรงบันดาลใจมาจากวิธีผ่อนคลายความเครียดส่วนตัวของหนึ่งในเด็กๆ คณะผู้จัดกิจกรรม แสงสีส้มสลัว ช่วยทำให้ร่างกายและจิตใจของเราผ่อนคลาย ให้ความอบอุ่นโอบกอดใจ และเปลวเทียนยังเป็นจุดโฟกัสที่ทำให้ผู้ร่วมงานสงบความคิดของตน และพุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่แสงเทียน ประกอบด้วยเสียงเพลงกล่อมเกลาให้เกิดจิตปล่อยวาง
3. ฐานบ่อพักใจ – หนึ่งในไฮไลท์ของนิทรรศการ Homecoming คือ ‘ห้องนอน’ ที่ใช้แนวคิดของ water therapy เข้ามาเป็นส่วนผสม และเด็กๆ ชั้น 9 ได้นำเอาแนวคิดนี้มาปรับใช้ในกิจกรรมวันนี้ด้วยการทำบ่อลูกบอล และหมอน ที่ชวนให้ผู้ร่วมงานล้มตัวลงนอนแบบไม่ต้องคิดอะไรมากมาย รู้สึกปล่อยใจปล่อยกาย อีกทั้งยังสามารถรู้สึกสนุกกับสัมผัสของลูกบอลที่อยู่รอบตัว ชวนให้กลับไปรู้สึกเหมือนเป็นเด็กเล็กๆ หวนคิดถึงช่วงเวลาแสนสุขอีกครั้ง
4. ฐานสานสัมพันธ์ในความมืด – ผู้เข้าร่วมงานทุกคนนั่งเป็นวงกลม และทุกคนต้องปิดตา และตอบคำตอบที่ผู้ดำเนินกิจกรรมถาม ด้วยการยกมือ เช่น ใครมีความเครียดเรื่องเรียนบ้าง หรือเรื่องครอบครัวบ้าง เนื่องจากไม่มีใครมองเห็นคำตอบของเรา จึงทำให้เกิดความกล้าที่จะยกมือยอมรับความรู้สึกของตนเอง พาให้ใจโล่งขึ้นเหมือนยกภูเขาออกจากอก ตามด้วยการจับมือกันและมีโอกาสได้พูด ให้กำลังใจ ได้หัวเราะ ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้ร่วมงานแน่นแฟ้นขึ้นโดยไม่ต้องมองเห็นว่าเป็นใคร แต่ให้สัมผัสได้ว่า เราทุกคนต่างก็มีความเครียดของตนเอง แต่เราจะผ่านมันไปด้วยกัน
5. ฐานส่งต่อกำลังใจ – ฐานสุดท้ายก่อนจบกิจกรรม หลังจากที่ได้พักผ่อนจิตใจและได้รับกำลังจากกันและกันแล้ว เราควรส่งต่อความรู้สึกดีๆ นี้ต่อผู้ร่วมงานรอบต่อๆ ไป ฐานนี้จึงได้เตรียมกระดาษโพสต์อิท และ กระดานสะท้อนความรู้สึกไว้ เพื่อส่งท้ายความรู้สึกก่อนออกจากงาน
งานนี้เด็กๆ คณะผู้จัดมีความตื่นเต้นและตั้งใจกันเป็นอย่างมาก ด้วยใจที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเพื่อนๆ มัธยมจัดการกับความเครียด และช่วยสานความสัมพันธ์อันดีระหว่างเพื่อนๆ ให้เกิดขึ้นด้วย กิจกรรมในวันนี้ช่วยย้ำเตือนกับเราว่า ความเครียดเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อาจส่งผลเสียได้ แต่ขณะเดียวกันมันอาจไม่น่ากลัวอย่างที่คิดหากเรารู้วิธีที่จะรับมือกับมันอย่างถูกต้อง เริ่มต้นที่ ‘รอยยิ้ม’ เล็กๆ ที่เราทำได้ทันทีในเวลานี้ คุณกำลังเครียดอยู่หรือเปล่า ลองยิ้มกว้างๆ ให้ตัวเองสักที และลองนำไอเดียจากกิจกรรมของเด็กๆ ไปปรับใช้ในชีวิตของตนเพื่อจัดการความเครียดและพักใจกันนะคะ
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2566