Social Emotional Skill

การพัฒนาทักษะสังคมและอารมณ์ (Social Emotional Skill)

วิทยากร ศ.คลินิก.พญ วินัดดา ปิยะศิลป์
8 กรกฏาคม 2562 ณ ห้องประชุมใหญ่ โรงเรียนเพลินพัฒนา

ทักษะสังคมและอารมณ์คือทักษะอะไรและทำไมจึงสำคัญ

  • ทักษะสังคมและอารมณ์ คือทักษะในการเข้าใจตัวเองและมีวิธีจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ 🤗 การที่เด็กคนหนึ่งมีความเข้าใจอารมณ์ของตัวเองที่มากพอและสามารถหาวิธีจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ เด็กคนนี้จะมีความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น และสามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมได้
  • ยิ่งไปกว่านั้นในสังคมที่เด็กอาศัยอยู่ มีโรงเรียนเป็นหน่วยย่อย ดังนั้นหากเด็กคนหนึ่งรู้วิธีที่จะอยู่ร่วมในสังคมได้ดี เด็กคนนี้ก็จะสามารถอยู่ร่วมกับครูและเพื่อนได้ เด็กก็จะเกิดการเรียนรู้ที่ดี และสามารถเรียนหนังสือได้ดี 🤗

  • มีงานวิจัยว่า เด็กในช่วงอายุประมาณอนุบาล 3 ที่สามารถมีพฤติกรรมที่ดีในการเข้าสังคม เช่น สวัสดีผู้ใหญ่ ช่วยเหลือเพื่อน เอื้อเฟื้อแบ่งปัน ยิ่งเด็กทำได้ดีเท่าไหร่ เด็กคนนั้นก็ยิ่งมีผลการเรียนที่ดี

เป็นหน้าที่ของใครในการมองทักษะนี้ให้แก่เด็ก

  • ทักษะสังคมและอารมณ์ไม่ได้เป็นทักษะที่เด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้เอง เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ในการสอนเด็กให้รู้จักอารมณ์ที่หลากหลาย เพื่อที่จะรู้วิธีและเทคนิคที่หลากหลายในการจัดการกับอารมณ์นั้นๆ 🤗
  • พ่อแม่ต้องอาศัยประสบการณ์ของตัวเองในการสอนให้ลูกจัดการกับอารมณ์ โดยสอนในลักษณะของการสะท้อน ไม่สอนในลักษณะของคำสั่งสอนที่ยืดยาวที่จะทำให้เด็กปฏิเสธ
  • พ่อแม่ที่รู้จักคำศัพท์ทางอารมณ์เยอะ รู้จักอารมณ์ที่หลากหลาย จะช่วยลูกได้มาก
  • การสอนอารมณ์กับเด็กเล็กที่ยังไม่รู้จักคำศัพท์ อาจใช้รูปภาพหน้าตาเช่น หน้ายิ้ม หน้าโกรธ หน้าหัวเราะ แทนอารมณ์ได้ หรือไม่ก็อาจจะใช้สีแทนอารมณ์ได้ เช่น สีแดงคือความโกรธ

สิ่งที่ต้องเข้าใจในการเข้าไปจัดการอารมณ์ลูก

  • ความเคยชิน และความสม่ำเสมอจะเป็นตัวช่วยให้เด็กจัดการอารมณ์ได้ 🤗 เช่น เคยสวดมนต์ทุกวัน จะเสียใจแค่ไหนก็ต้องสวดมนต์ เคยทำงานบ้าน จะเสียใจแค่ไหนก็ต้องทำงานบ้าน
  • พยายามให้เด็กรู้จักหลายวิธีในการจัดการอารมณ์ตัวเอง เขาจะได้เลือกเอามาใช้ได้
  • ถ้าฝึกให้เด็กควบคุมอารมณ์มากเกินไป เช่น บอกกับลูกว่า ลูกผู้ชายต้องไม่ร้องไห้ จะทำให้เขาเก็บอารมณ์ไว้และแสดงออกไม่เป็น ทำให้คนอื่นคาดเดาอารมณ์ของเขาได้ยาก และจะทำให้การเข้าสังคมทำได้ยากขึ้น ดังนั้น การแสดงอารมณ์ที่พอเหมาะจะดีที่สุด
  • การที่เด็กมีอารมณ์เป็นเรื่องปกติ แต่การแสดงออกด้านอารมณ์เป็นเรื่องที่ต้องฝึก บ้านและโรงเรียนต้องสอนเด็ก 🤗
  • พ่อแม่ที่ไม่สนใจอารมณ์ของเด็ก เด็กก็จะไม่สนใจอารมณ์คนอื่น
  • เด็กเลือกโรงเรียน เลือกครูไม่ได้ ดังนั้นถ้าเด็กไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ในสถานการณ์ที่เด็กไม่ชอบ เด็กจะเรียนไม่ได้ และทุกอย่างจะแย่ เพราะการเรียนคือการเข้าสังคมอย่างหนึ่ง 🤗
  • เด็กที่ปรับอารมณ์ตัวเองได้ จะสามารถไปช่วยผู้อื่นได้อีก
  • การเรียนรู้ที่ดีต้องอยู่ในบรรยากาศที่สนุกสนาน ผู้เรียนมีความสุขในการเรียน

เทคนิคต่างๆที่สามารถใช้ในการจัดการอารมณ์ของลูก

  • เอาตัวเองหลบไปในที่ที่ชอบ หรือทำสิ่งที่ชอบ เพื่อละลายอารมณ์ที่ไม่ดี (แต่ก็ต้องฝึกให้ลูกจัดการอารมณ์ได้เมื่ออยู่ในที่ที่ไม่ชอบ หรือต้องทำสิ่งที่ไม่ชอบให้ได้ด้วย)
  • สอนเด็กให้ข่มอารมณ์ตัวเอง (ใช้ในเด็กประถมขึ้นไป)
  • อยู่นิ่งๆแล้วคิดถึงหลายๆด้านถึงทั้งด้านดีด้านเสีย (เด็กต้องคิดเป็น)
  • ท่องพุทธโธ ให้อยู่กับปัจจุบัน (การอยู่กับปัจจุบัน หรือ การฝึกสติ ไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะเวลาที่มีอารมณ์) / สวดมนต์ / กราบพระ
  • เขียนสิ่งที่ตัวเองไม่พอใจออกมา (ฝึกได้ตั้งแต่ชั้นประถม)
  • ระบายความรู้สึกออกมาตรงๆ เช่น ร้องไห้
  • สอนให้ลูกคุมกายได้โดยการหายใจเข้า ออก ลึกๆ (ถ้าคุมกายได้ ใจก็จะคุมได้ time out ก็เป็นวิธีที่เริ่มจากคุมกายเพื่อไปคุมใจ)
  • อธิบายความรู้สึกของทั้งตัวเองและของลูกเพื่อให้เด็กเข้าใจอารมณ์ตัวเองและอารมณ์ของพ่อแม่ ณ ขณะนั้น (เพราะเด็กอาจจะยังอ่านอารมณ์จากหน้าตาของผู้ใหญ่ไม่เป็น)
  • ให้ระบายเต็มที่ และพ่อแม่คอยรับฟัง
  • ให้เด็กใช้ศิลปะเป็นตัวระบายอารมณ์ โดยใช้แม่เป็นต้นแบบในการมีมุมศิลปะ มุมวาดภาพ ของแม่

การควบคุมตัวเอง

  • การคุมใจได้ จะทำให้เราคุมตัวได้ ในทางกลับกัน การคุมตัวได้ก็จะทำให้เราคุมใจได้เช่นกัน เช่น หยุดตัวเองให้ไม่ทำร้ายคนอื่น และสงบลงได้

การควบคุมตัวเองฝึกผ่านอะไรได้บ้าง

  • ฝึกผ่านงานบ้าน เช่น ทุกครั้งที่กินข้าวเสร็จ ให้เด็กเก็บจาน
  • ฝึกผ่านกีฬา เช่น ให้วิ่งหลายๆรอบโดยรอบหลังๆไม่สนุกแต่อดทนวิ่งจนจบ
  • ฝีกผ่านกติกา เช่น ใช้เวลาในการกำกับเด็ก และไม่ยอมทำตามที่เด็กต่อรอง ถ้าพ่อแม่เอาจริงเด็กจะรับรู้ท่าทีของพ่อแม่ได้
  • ฝึกผ่านการเล่นกับคนอื่น ต้องให้มีทั้งแพ้ทั้งชนะ โดยแพ้เยอะหน่อย ต้องฝึกจนรู้สึกยินดีให้กับเพื่อนที่ชนะ

เมื่อลูกมีปัญหาในการเข้าสังคม ไม่มีเพื่อนชอบ จะทำยังไงได้บ้าง

  • พัฒนาเด็กให้มีความสามารถที่มากขึ้น เช่น พัฒนาการเล่นของเด็กให้มีความซับซ้อนขึ้น หรือหาความสามารถที่ทำให้เค้าสามารถเล่นกับเพื่อนได้ สิ่งนี้จะทำให้เค้าเล่นกับเพื่อนได้สนุกขึ้น สนิทกับเพื่อนมากขึ้น เกิดทักษะทางสังคม

ขอขอบคุณแม่ส้ม (น้องปุญ อ.2/1) ที่ช่วยสรุปการเสวนาในครั้งนี้ด้วยนะคะ

ข้อมูล ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2562