Positive Grandparenting

คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย
พวกท่านคือ แหล่งความรู้ แหล่งประสบการณ์แสนยอดเยี่ยมและบุคคลสำคัญในทุกการเติบโต

การอบรมครั้งนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อให้พวกท่านมีเทคนิคในการถ่ายทอดความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอนประสบการณ์ได้อย่างเต็มที่ และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หลานเติบโตอย่างมีคุณภาพ

ขอแบ่งปันเนื้อหาการอบรมจากเพจ @Plearnplus ขอบคุณแอดมินนะคะที่สรุปเนื้อหาดีๆ อย่างสม่ำเสมอค่ะ 🙂

การอบรมเชิงปฏิบัติการณ์ครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมคือ.. คุณปู่ คุณย่า คุณตา และคุณยาย ของเด็กๆ โรงเรียนเพลินพัฒนา😊
คุณหมอเริ่มต้นถามคุณปู่ คุณย่า คุณตา และคุณยาย ในห้องประชุมว่า “ถ้าไม่มีเรา เขา(พ่อ แม่ ลูก)อยู่กันได้หรือไม่?”
คำตอบมีหลากหลายตั้งแต่….

  • เชื่อมั่นว่าเขาปรับตัวอยู่ได้อย่างแน่นอน
  • อยู่ได้ แต่อาจจะไม่มีความสุขและลำบากมาก
  • น่าจะอยู่กันได้ แต่ค่อนข้างลำบาก เพราะพ่อแม่ต้องทำงานนอกบ้าน
  • คิดว่าลูกอยู่ได้ แต่ย่าอยู่ไม่ได้แน่นอน (เจอคำตอบนี้เข้าไป ปู่ย่าตายายหัวเราะกันทั้งห้องประชุม😅🤣)

เวลา ความเจริญก้าวหน้า สื่อต่างๆ ที่เปลี่ยนไป ลูกหลานก็อยากให้เราไหลไปตามยุคสมัยด้วย แต่อยากให้เราลองหยุดนึกถึงสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเรา และเราก็อยากให้ลูกหลานนึกถึงด้วยเช่นกัน คำถามคือ อยากให้เขาทบทวนสิ่งเหล่านี้ตอนที่เรายังมีชีวิตอยู่ หรือ ตอนที่ไม่มีชีวิตแล้ว…

ส่วนใหญ่เชื่อว่า ลูกหลานอยู่ได้แน่นอน แม้ไม่มีเรา แต่ตอนนี้เขามีเราอยู่.. 🤔คำถามคือ.. ถ้ามีเรา เขาจะได้อะไรมากกว่าหรือไม่?

บางครั้งลูกมองว่าเราล้าสมัยเกินไป แต่ถ้าเราเป็นคนที่ใฝ่รู้ตลอด ตื่นตัว กระฉับกระเฉง พร้อมรับเทคนิควิธีการสอนใหม่ๆ ➕ สิ่งเดิมที่เรามีอยู่ คือ ประสบการณ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ทำให้เราเติมเต็มสิ่งที่พ่อแม่รุ่นใหม่ขาดได้! เพราะเรื่องบางเรื่องพ่อแม่รุ่นใหม่อาจมองไม่เห็น เรื่องสำคัญที่บางครั้งมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า

ด้านล่างนี้คือ.. จุดที่พ่อแม่รุ่นใหม่มักมองข้ามเวลาเลี้ยงลูก โดยเกิดจากคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย
ช่วยกันระดมความคิดออกมา
  • การสร้างความนอบน้อมในตัวเด็ก
  • การที่เด็กสนใจแต่ตัวเอง ไม่มองสิ่งรอบข้างหรือใส่ใจผู้อื่น
  • การพูดจาสุภาพไพเราะ
  • การตระหนักในหน้าที่และเคารพสิทธิของผู้อื่น
  • ความมัธยัสถ์อดออม
  • การฝึกสมาธิ
  • การตามใจลูกมากจนเกินพอดี
  • การมีจริยธรรม
  • การเห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือผู้อื่น
  • การอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้..ไม่ได้เกิดจากการพูดสอน หากแต่เกิดขึ้นได้จากการมีต้นแบบและการฝึกฝน และการฝึกที่ดีนั้น ต้องเกิดจากการปฏิบัติซ้ำๆๆๆ จนเป็นนิสัย แต่ทั้งหมดนี้เด็กจะไม่รู้สึกเลย ถ้าเด็กสบาย ไม่ต้องทำอะไร จะรู้สึกได้ก็ต่อเมื่อ.. เวลาหลานมาที่บ้านปู่ย่าตายาย หลานต้องรินน้ำให้ทุกคน กินข้าวเสร็จนอกจากเก็บจานตัวเองแล้ว ยังต้องเก็บของปู่ย่าด้วย ฯลฯ

หน้าที่ของปู่ย่าตายาย คือ ทำให้ความน่ารักของเด็กออกมา ต้องเริ่มตั้งแต่เล็กๆ จะฝึกง่าย ยิ่งโต ยิ่งรู้มาก ยิ่งไม่ฟัง และข้ออ้างเยอะ 😅

ปู่ย่าตายายลองใช้ท่าทางงกๆ เงิ่นๆ หลงๆ ลืมๆ สายตาไม่ดี เป็นตัวเปิดโอกาสให้เด็กได้เข้ามาช่วยเหลือ ไม่ปิดกั้นโอกาสนี้แล้วไป.. ทำให้.. ทำแทน 😢 เพราะการตามใจ กับ ความรัก… เป็นคนละเรื่องกัน การเลี้ยงลูกหลานที่เหมาะสม เด็กจะไม่เรียกร้องโวยวายกับเรา แต่จะยิ่งเรียกร้องเอากับคนที่ตามใจ

⛳ เส้นทางการฝึกเด็ก ให้ดูว่า สิ่งที่เราฝัน (เป้าหมาย) vs. สิ่งที่ทำให้ไปถึงฝันนั้น ไปด้วยกันหรือไม่?

ตอนนี้เราอยู่ในเส้นทางที่ส่งเสริมให้ลูกหลานอยู่ได้ด้วยตนเองหรือไม่? หรือเรายังทำให้.. ทำแทน? เด็กได้แปลงร่างเป็นผู้ช่วยเหลือ หรือ ผู้ถูกช่วยเหลือ?

คุณหมอได้ให้ปู่ยาตายายดูคลิป 2 คลิป ประกอบความเข้าใจ คลิปแรก คือ..

“The Marshmallow Test”

เพื่อให้เข้าใจว่าการฝึกเด็กให้รู้จักรอคอยได้ตั้งแต่เล็ก ยืดระยะเวลาความอยากของเขาออกไปได้ เมื่อโตขึ้น เขาก็จะสามารถยับยั้งชั่งใจได้ จะยืดความอยากของตัวเองเพื่อให้อยู่ในเส้นทางที่ดีได้ ไม่ด่วนได้ด่วนมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ไม่ด่วนอยากลองยาเสพติด ฯลฯ

“Capuchin Monkey Fairness Experiment”

เพื่อให้เข้าใจว่า สิ่งที่คนเราทนไม่ได้ คือ ความไม่เท่าเทียมกัน

ให้ปู่ย่าตายายช่วยกันคิด ในหลาน 2 คนขึ้นไป เราให้ความสำคัญกับคำพูดแบบใดเวลาแบ่งของ เวลามอบหมายงานบ้าน?

ถ้าหลานถามว่า.. ทำไมเป็นพี่ต้องทำมากกว่าน้อง เราจะให้เหตุผลอย่างไร?

❌ เป็นพี่ต้องเสียสละ
❌ ก็น้องยังเล็กอยู่
💕 ความรู้สึกที่ไม่เท่าเทียมกัน ส่งผลต่อสัมพันธภาพที่ดีกับผู้เลี้ยง

วิธีการ:

  • ทุกคนในบ้านแบ่งงานกันทำ ร่วมด้วยช่วยกันทำ ***แฟร์ ไม่ได้หมายความว่าต้อง “เท่ากัน”***
  • มอบหมายงานที่ไม่เหมือนกันระหว่างพี่น้อง เด็กจะไม่ก้าวก่ายงานกัน อาจมีการสลับงานกันบ้าง
  • สอนให้เห็นข้อดีของกันและกัน พี่เห็นข้อดีของน้อง น้องเห็นข้อดีของพี่ ที่ต้องสอนเพราะโดยธรรมชาติคนมักเห็นข้อไม่ดี ถ้าเด็กมองเห็นข้อดีของผู้อื่นได้ ก็จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้
  • พี่ที่ทำงานมากกว่า ก็ต้องได้รับสิทธิมากกว่า เช่น ได้เลือกร้านกินข้าว ได้นอนดึกขี้นอีก 20 นาที เมื่อน้องเห็นแบบนั้น น้องก็จะอยากทำงานด้วย
  • หน้าที่ความรับผิดชอบต้องซับซ้อนและเพิ่มมากขึ้นตามวัยด้วย
  • น้องที่เล็กกว่าก็ต้องอยู่ในพื้นที่ทำงานที่เหมาะสม ด้วยเครื่องมือที่เอื้อให้สามารถทำงานได้สำเร็จ
    –> เราจะได้ชื่นชม –> เด็กดีใจ มีกำลังใจทำต่อ
  • ไม่เอาคุณภาพงานมาเปรียบเทียบกันระหว่างพี่น้อง
การที่ให้เด็กช่วยทำงานจนสำเร็จ เด็กจะได้การวางแผน บริหารจัดการ ใช้สมองมากขึ้น เด็กจะรู้ว่างานนี้ต้องประกอบด้วยขั้นตอนอะไรบ้าง ทำให้สำเร็จได้อย่างไร หากปู่เป็นคนที่ทำอาหารเก่งมาก ปู่ได้ถ่ายทอดสิ่งที่ดีที่สุดในตัวเราให้หลานแล้วหรือยัง?

การเล่นกับหลาน:

  • การเล่นกันหลายๆ คน ภายใต้กฎกติกา มีแพ้ชนะ ไม่ใช่ยอมให้หลานชนะตลอด –> เวลาไปเล่นที่ รร. แพ้ไม่เป็น –> ขี้โกง –> เพื่อนไม่เล่นด้วย
  • ฝึกให้หลานเล่นหลากหลาย ซับซ้อนขึ้นไปตามวัย
  • ถ้าหลานเห็นปู่ย่าพร้อมเรียนรู้ตลอด มีความกระฉับกระเฉง –> ปู่ย่าเก่ง เป็น My Idol –> หลานภาคภูมิใจ

ข้อดีของผู้อาวุโส:

  • การฝึกสอนค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบเร่ง
  • สามารถเล่นไปด้วยกัน ทำไปด้วยกันได้จนเสร็จ
  • ใจเย็น และมีเวลามากกว่า

⛳ สิ่งที่ฝึกสอนหลาน ไม่ต้องสอนทุกอย่าง แต่สอนสิ่งที่สำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อตัวหลาน

หลักในการปรับพฤติกรรมเด็ก:

  • เมื่อเด็กทำดี ให้ชื่นชม พฤติกรรมดีจะเพิ่มขึ้น (ด้านไม่ดีจะลดลงโดยอัตโนมัติ)
  • วิธีการชม คือ ชมตรงๆ ชมทันที ชมที่พฤติกรรม
ตัวอย่างเช่น..

✔️ ย่าชอบมากเลยที่หลานทำอันนี้ให้ย่า
✔️ ปู่ชอบที่หลานมีน้ำใจแบ่งปัน
✔️ ยายชอบจังเลยเวลาที่หนูมีความอดทน
❌ อู้ยยย เก่งมากกกก เก่งที่สุดในโลกกก😅 (เราไม่ชมเว่อร์ ชมเยอะ เพราะเด็กจำไม่ได้ และไม่ตรงประเด็นว่าชมอะไร)

เวลาลูกเราเลี้ยงลูกไม่ดี เราชมหรือว่ามากกว่ากัน? คนที่ถูกบ่นว่าจะเป็นคนคอยเก็บบันทึก “เวลามาใกล้แม่ทีไร แม่ว่าทุกที😢” แบบนี้เขาจะอยากเข้าหาเราหรือไม่ แต่ถ้าเราชื่นชมมากกว่าว่านิดๆ😅 เขายังอยากเข้าหา เรามีโอกาสได้ถ่ายทอดสิ่งดีงามให้เขาได้

แนะนำปู่ย่าตายายลองชื่นชมตัวพ่อแม่ด้วย:

  • เขาจะมีกำลังใจในการพัฒนาตัวเองต่อ เพราะเขาก็เป็นพ่อแม่ครั้งแรก ทำผิดบ้างถูกบ้างเป็นเรื่องธรรมดา
  • เทคนิคดึงหลานไว้ได้ ก็ดึงพ่อแม่ไว้ได้
  • ชมให้ชัดเจน “แม่เห็นว่าลูกเลี้ยงลูกได้ดีในเรื่อง…”
  • บางครั้งต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ เช่น ใช้ “Sandwich Feedback Method” บอกด้านดี-บอกด้านที่ต้องปรับปรุง-บอกด้านดี(อีกครั้ง) เช่น “พ่อว่าลูกเลี้ยงลูกได้ดีเลย แต่พ่อเองก็มีความเป็นห่วงในเรื่องการตรงต่อเวลาของหลาน หากช่วยปรับอีกนิดเดียว หลานจะโอเคขึ้นอีกเยอะเลย ลูก”
  • หรือบอกความรู้สึกของเราไปเลย เช่น “แม่เป็นห่วงหลานเรื่องที่ไม่ตรงต่อเวลาเลย เพราะอาจติดเป็นนิสัยและก่อให้เกิดความเสียหายได้ แม่สงสารถ้าเขามีนิสัยติดตัวไปแบบนี้” แล้วจบ… ไม่ร่ายวิธีการ😅
  • บางครั้งเราต้องยอมหยุดเพื่ออะไรบางอย่าง หากพูดไปไม่เกิดประโยชน์ แถมเกิดโทษแทน อย่าพูด😅
  • เขาจะไม่มาขอคำแนะนำเลย

ถ้าคนคนนั้นเป็นคนชอบโพนทะนา รักษาความลับไม่ได้ ถ้าเขาคาดเดาได้ว่าจะเจอคำพูด “ก็ชั้นบอกเธอแล้วไง”

หากเด็กตีคุณปู่ ทำอย่างไร?

  • จับมือเขาเพื่อให้หยุด และบอกทำร้ายผู้อื่นไม่ได้
  • พูดสั้น มองตรง นิ่ง (ไม่พูดซ้ำซาก ไม่อธิบายเยอะ)
  • กอดเด็ก เพื่อช่วยให้เด็กคุมตัวเอง
  • ถ้าคุณปู่ทำไม่ทัน คุณย่าเข้าไปช่วย😁
  • ถ้าปล่อยให้เด็กตี จะเสียหายระยะยาว
คุมตัวเองไม่ได้ –> ตีครู –> ตีเพื่อน –> ครูและเพื่อนรู้สึกไม่ดี –> เพื่อนไม่อยากเล่นด้วย
พฤติกรรมแบบใดที่คิดว่าเมื่อออกไปข้างนอกแล้ว จะมีคนพูดถึงว่า “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” ให้ฝึกตั้งแต่ในบ้าน ขอให้เด็ดขาดตั้งแต่ในบ้าน

ความเก่งของเด็กมีหลายแบบ:

👍 พูดเก่ง ทำเก่ง
👍 เก่งแต่พูด
👍 พูดไม่เก่งแต่ทำเก่ง
👍 พูดไม่เก่ง ทำก็ไม่เก่ง

เราต้องระวัง.. เด็กที่พูดเก่ง แต่ทำไม่เก่ง!

เส้นทางการพัฒนาที่ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นมาได้นั้น ต้องผ่านการไม่ได้ดั่งใจ ความล้มเหลว ผ่านการหน้่าแตกมาหลายด่าน การมีแบบอย่างที่ดีที่เป็นคนเข้มแข็งในบ้าน ก็ทำให้หลานจิตใจเข้มแข็งขึ้นได้ เพราะเด็กเลียนแบบคนในบ้านตั้งแต่วิธีการคิด การตัดสินใจ และการแก้ปัญหา

สิ่งที่น่ากลัว คือ บางบ้านยอมเสียลูกเพื่อปูย่าตายาย แต่หน้าที่ที่จะเห็นเด็กระยะยาวคือพ่อแม่ ปู่ย่าตายายนั้นเหลือเวลาอีกไม่นาน สิ่งที่ทำแล้วคิดว่าไม่โอเค ไม่ส่งเสริมเป้าความฝันของเรา อย่าทำนะคะ😁 คุณหมอกล่าวทิ้งท้าย… ❤️