PLC@ มัธยม เพลินพัฒนา

“สอนงานแบบพี่เลี้ยง (Mentoring) ด้วยการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาครูสู่เด็ก”

นี่คือโครงการที่ฝ่ายมัธยม โรงเรียนเพลินพัฒนาได้รับคัดเลือก รับทุนสนับสนุนทางวิชาการจากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ในการจัดกิจกรรมพัฒนาวิชาชีพแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (professional Learning Community : PLC) ประจำปี 2563 ซึ่งเป็น 1 ใน 125 เครือข่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้เสนอโครงการทั้งหมด 346 เครือข่าย เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563

ครูภูริทัติ ชัยวัฒนกุล หัวหน้าช่วงชั้นมัธยม ได้บอกเล่าถึงที่มาของโครงการนี้ว่า

” ได้รับแรงบันดาลใจหลังจากมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงาน ณ มหาวิทยาลัยฟุกุอิ ช่วงเดือนตุลาคม 2562 ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาประจำปี 2562 จัดโดยคุรุสภา ร่วมกับ National Institute for School Teachers and Staff Development (NITS) ประเทศญี่ปุ่น และสถาบันวิจัยพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยสาลัยขอนแก่น

โดยตอนหนึ่งที่ได้เรียนรู้จาก “ครูใหญ่โคจิ ฟูจิโมโตะ” ผู้ริเริ่มบทเรียน Inquiry – based Learning ที่โด่งดังของเมื่องฟุกุอิ ที่ทำให้นักเรียนในเมื่องฟุกุอิเกิดสมรรถนะการเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถรับมือกับยุค VUCA World (ยุคที่เทคโนโลยีทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว)

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากครูใหญ่และบทเรียนที่ประทับใจในครั้งนั้นคือ การเรียนรู้ของนักเรียนจะพัฒนาได้ ต้องเกิดจากครูที่เรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลา การที่ครูจะเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้นั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือให้ครูเรียนรู้จาก ‘ครูต้นแบบ’ ที่เรียนรู้ พัฒนาตนเองและ พัฒนานักเรียนอยู่เสมอ และสนับสุนให้ครูดังกล่าวได้เป็นครูพี่เลี้ยงเพื่อเข้าไปเป็นต้นแบบให้กับครูในห้องเรียน

เด็กจะเป็นอย่างที่ครูเป็น ครูจะเป็นอย่างที่ครูพี่เลี้ยงเป็น ด้วยการบ่มเพาะ ทำให้เห็นเป็นให้ดู ผ่านการเข้าไปช่วยศึกษา – วิจัยในชั้นเรียน หรือที่ญี่ปุ่นใช้คำว่า ‘Jukyo Kenkyu ‘ คือกระบวนการที่ทีมครู ครูพี่เลี้ยง ผู้เชี่ยวชาญ เข้าไปในชั้นเรียนเพื่อสัมผัสสุข ทุกข์ ของนักเรียนอย่างเข้าใจ เพื่อเรียนรู้ความเจริญเติบโตทางปัญญา พัฒนาการของนักเรียนในทุกด้าน

ถ้าพบปัญหาที่เป็นตัวกวนไม่ว่าด้านใดด้านหนึ่ง ทีมครูจะช่วยกันคิดอย่างสุดความสามารถเพื่อออกแบบการจัดการตัวกวนนั้นให้พ้นไปจากการพัฒนานักเรียน

และท่านย้ำว่า ครูใหญ่ – ครูพี่เลี้ยงต้องเข้าชั้นเรียนให้ครบทุกห้องในทุกวันเพื่อไปเรียนรู้สาเหตุปัญหา ช่วยแก้ปัญหา ขจัดทุกข์ให้ครูและนักเรียนตลอดเวลา รวมถึงใส่ใจการ feedback ของครูภายใต้บรรยากาศที่เป็นกันเอง โดยไม่ต้องใช้เวลามากนัก สะท้อนตอนนั่งจิบกาแฟน่าจะเหมาะที่สุด

การพัฒนาจะเกิดขึ้นก็เพียงแค่สะท้อนว่าเห็นนักเรียนคนนั้นไหม เราจะช่วยเหลือเขาอย่างไร!

จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาครูด้วยกระบวนการครูพี่เลี้ยงที่ตั้งเป้าหมายพัฒนาสมรรถนะครูพี่เลี้ยงโดยผู้เชี่ยวชาญ ให้เป็นต้นแบบของครูให้สามารถออกแบบการพัฒนานักเรียนทุกคนแบบรายคนอย่างรอบด้าน ในทุกชั้นเรียน ผ่านการ “Jukyo Kenkyu “

“ในปีการศึกษา 2563 นี้ผลที่คาดหวังให้เกิดขึ้นคือกระบวนการพัฒนาครูพี่เลี้ยงที่จะทำให้เป็นกระบวนการตัวอย่างต่อไป และสิ่งสำคัญที่สุดเพื่อให้คุณครูได้เรียนรู้ เข้าใจนักเรียนจากการสังเกตและช่วยกันออกแบบเพื่อแก้ปัญหา – พัฒนานักเรียนทุกคน บนฐานของความเข้าใจ และใส่ใจซึ่งกันและกัน ขอบคุณโรงเรียนเพลินพัฒนาที่สนับสนุนทุกการเรียนรู้ คณะครูมัธยมที่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ และขอขอบคุณ คุณครูธฤตมน มานะ (ครูลูกหว้า) คุณครูวัฒนา พุ่มมะลิ (ครูเจ๋ง) ผู้ช่วยเขียนโครงการนี้ด้วยครับ” ครูภูกล่าวทิ้งท้าย

  • ได้รับแรงบันดาลใจหลังจากมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงาน ณ มหาวิทยาลัยฟุกุอิ เมื่อราวเดือนตุลาคม 2562
  • ครูใหญ่ “โคจิ ฟูจิโมโตะ” ผู้ริเริ่มบทเรียน Inquiry – based Learning ที่โด่งดังของเมื่องฟุกุอิ ที่ทำให้นักเรียนในเมื่องฟุกุอิเกิดสมรรถนะการเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถรับมือกับยุค VUCA World
  • วงประชุมที่จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเพื่อเรียนรู้กับครูต้นแบบในปีการศึกษา 2562

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563