PBL Exhibition 2566

การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานหรือ PBL ที่นักเรียนช่วงชั้นมัธยมตั้งแต่ชั้น 7-11 ได้วางแผนทำชิ้นงาน โดยนักเรียนชั้น 7-9 มีเวลาทำงานตั้งแต่ภาคจิตตะ-วิมังสา ขณะที่ชั้น 10-11 ได้ใช้เวลาตลอดปีการศึกษาในการทำงานไปทีละขั้นผ่านกระบวนการ Design thinking ได้ถูกนำเสนอผ่านเวทีตลอดระยะเวลา 3 วันเต็มๆ ก่อนจะมาจัดนิทรรศการแสดงผลงาน PBL ในวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ในปีนี้มีมากถึง 113 โครงงานจากหมวดหมู่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กีฬา /สุขภาวะ/ อาหาร การงานอาชีพ สังคมและจิตวิทยา ศิลปะและดนตรี รวมถึงการศึกษาพิเศษ (กศพ.)

หลายกลุ่มสะท้อนปัญหาได้น่าสนใจและบางปัญหาก็คาดไม่ถึงว่าจะมีนักเรียนช่วงชั้นมัธยมหยิบยกนำประเด็นเหล่านี้มาหาทางแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความรุนแรงทางเพศ วิธีการรับมือจากการถูกคุกคามทางเพศ ซึ่งถือว่านักเรียนสะท้อนปัญหาได้ดีและมีวิธีการสื่อสารที่น่าสนใจ, ปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากอุตสาหกรรม Fast Fashion ผู้ผลิตเสื้อผ้าสร้างกระแสแฟชั่นทำให้บางคนต้องซื้อตาม แต่ลืมนึกถึงผลกระทบด้านการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ปัญหาการจ้างแรงงานที่ไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้นักเรียนยังได้นำเสนอนวัตกรรมสุดล้ำเพื่อป้องกันความลับในโลก network รั่วไหลด้วย Raspberry ที่เขียนโปรแกรมโดยนักเรียนชั้น 11, นวัตกรรมการออกแบบพื้นถนนคอนกรีตที่สามารถซึมซับน้ำได้อย่างรวดเร็วเพื่อปัองกันน้ำท่วมขัง, นวัตกรรมการออกแบบระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารมากขึ้น หรือปัญหาโรคอ้วนของมนุษย์สมัยใหม่อันเกิดจากอาหาร Fast food แต่นักเรียนชั้น 7 กลุ่มนี้เลือกแก้ปัญหาแบบหนามยอกเอาหนามบ่ง ทำเป็นอาหาร Fast food เพื่อแก้ปัญหาโรคอ้วน กินง่าย ได้สุขภาพดี และน่าสนใจ

การนำเสนอในรูปแบบภาษาอังกฤษเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษตั้งแต่การทำสไลด์ การเขียนสคริปต์ ไปจนถึงการพูดนำเสนอ หลาย ๆ หัวข้อมีความน่าสนใจชวนให้ผู้เข้าชมได้มีส่วนร่วมด้วย เช่น ผลงานของนักเรียนชั้น 9 เรื่องการส่งเสริมให้นักเรียนไทยใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจําวันผ่านการดูหนัง ฟังเพลง และมีการสัมภาษณ์เพื่อฝึกการพูดโต้ตอบ หรือโครงงานของน้องชั้น 7 กับการแก้ปัญหาเรื่องกวนใจของใครหลาย ๆ คนด้วยการพัฒนาบอร์ดเกมเพื่อช่วยตัดสินใจว่าควรเลือกรับประทานอาหารอะไรดี

นักเรียนมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มอื่น ๆ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ บางหัวเรื่องอาจจะมีความคล้ายกันแต่ก็นำเสนอกันคนละมุมมอง เช่น กลุ่มที่ทำเรื่องปัญหาเกี่ยวกับทางเท้า กลุ่มแรกเน้นด้านการใช้งานที่หลากหลายเหมาะกับบุคคลที่มีความแตกต่างกันและเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้พิการ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเน้นที่ตัวโครงสร้างของทางเท้าที่แข็งแรงและปลอดภัย

โดยภาพรวมแล้วเราได้เห็นถึงความตั้งใจและการมีส่วนร่วมของนักเรียนแต่ละกลุ่ม นักเรียนได้วางแผนการทำงานร่วมกัน เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นกระบวนการ ต่อยอดสร้างความรู้ใหม่ รู้สึกภูมิใจในผลงานของตนเอง ภูมิใจที่สามารถทำให้งานสำเร็จลุล่วงได้ตามที่ตั้งใจ และที่สำคัญได้ร่วมกันชื่นชมผลงานของกันและกัน

แม้บางกลุ่มอาจจะยังพัฒนานวัตกรรมหรือวิธีการแก้ปัญหาได้ไม่สำเร็จตามแผน เนื่องด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ แต่ถือว่านี่คือจุดเริ่มต้นในการได้คิดและลงมือทำในสิ่งที่สนใจ สามารถวิเคราะห์ตัวเองได้ว่าพลาดจุดไหน ควรต้องพัฒนาและต่อยอดอย่างไรเพื่อให้ได้ผลตามที่ตั้งใจไว้ สิ่งนี้คือคุณลักษณะสำคัญที่จะติดตัวไปให้นักเรียนสามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตทั้งการเรียนรู้ และการทำงาน

————-

ขอบคุณบทความโดย คุณครูบัณฑิตย์ คงศักดิ์ไพบูลย์ (ครูบี) เจ้าหน้าที่สร้างสรรค์พื้นที่การเรียนรู้ หนึ่งในผู้ร่วมรับชมการนำเสนอของนักเรียน

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 6 มีนาคม 2567