Parent as a Coach (รอบมัธยม)

บันทึก: Parent as a Coach ตอน พาลูกก้าวข้ามความท้าทายสู่เป้าหมายในโลกที่ไม่เหมือนเดิม (รอบมัธยม)

วิทยากร: ศ. คลินิก พญ. วินัดดา ปิยะศิลป์ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

ห้องเรียนพ่อแม่ : โรงเรียนเพลินพัฒนา

Zoom Meeting: 22 กุมภาพันธ์ 2565 

 

ในความเป็นจริง ชีวิตมีความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่โควิดทำให้เรามองเห็นความเสี่ยงชัดเจนมากยิ่งขึ้น สถานการณ์โควิดในโรงเรียนต้องอาศัยทีมเวิร์คระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครอง การพัฒนาเด็กเองก็เช่นเดียวกัน

หากเราใช้งานเป็นตัวฝึกและพัฒนาชีวิต งานที่ง่ายจะทำให้เรารู้สึกไม่เครียด และเป็นสุข🤗 ส่วนงานที่ยากและท้าทาย จะทำให้เราเก่งขึ้น พัฒนาขึ้น💪

 

คุณหมอให้เราตรึกตรองดูว่า…ในการเลี้ยงลูก เราเลือกข้อใดเป็นอันดับหนึ่งระหว่าง ดี vs. เก่ง vs. สุขสบาย?

หากเราเลือก “ดี” แต่ลูกฝึกไม่ขึ้นเลย ไปหาปู่ย่าตายายลูกไม่เคยต้องทำอะไร ไม่มีน้ำใจหยิบจับช่วยเหลือ ต่อให้เราพร่ำบอก ลูกก็ยังไม่ทำ กลายเป็นว่า สิ่งที่เราอยากได้ไม่ไปด้วยกันกับวิธีการ อาจมีจุดอ่อนอยู่ที่…เทคนิคไม่ดี สภาพแวดล้อม หรืออยู่ที่ตัวเด็กเองก็เป็นได้

ถ้าตอนนี้ลูกอยู่มัธยม เกิน 2 ใน 3 ของช่วงเวลาในการฝึกแล้ว หลังจากนี้..ยังฝึกได้แต่งานจะยากขึ้น!

หากเราอยากได้ภาพเด็กอ่านหนังสือแบบในรูปนี้ ตัวเราทำอะไรบ้าง!?

  • ภาพเวลาที่พ่อแม่อยู่บ้าน พ่อแม่ทำอะไร?
  • ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับอะไร?
  • ลูกเห็นภาพแบบนี้บ่อยแค่ไหนในบ้าน/โรงเรียน ห้องสมุดโรงเรียนเป็นที่ที่เด็กเข้าไปอ่านหนังสือหรือวิ่งเล่น/พูดคุยเสียเป็นส่วนใหญ่!?
  •  

Smart teen = ใช้ชีวิตเป็น เข้ากับคนอื่นได้ เอาตัวรอด มีความสุขอย่างพอเพียง ภูมิใจในตนเอง พอใจตนเอง EQ ดี (ศ. พญ. นงพงา ลิ้มสุวรรณ)

 

หัวใจของวัยรุ่น คือ ต้องทำให้เขาภูมิใจในตัวเอง ซึ่งต้องมาจากคนรอบข้างภูมิใจในตัวเขา

 

เราโค้ชด้านต่อไปนี้ให้ลูก :

✔ ด้านการจัดการอารมณ์ ควบคุมยับยั้งตนเอง

✔ ด้านการสื่อสาร

✔ ด้านความสามารถและทักษะต่างๆ
✔ ด้านความคิด

ประเมินตนเอง หรือลูกในหัวข้อเหล่านี้ แล้วลองให้คะแนนนะคะ 😊

▶️ พ่อแม่ที่รอบคอบ คิดทบทวนไตร่ตรองก่อนพูดหรือกระทำ จะเป็นแบบอย่างที่ดี และหากเด็กถูกฝึกมาตั้งแต่ต้น เมื่อถึงเวลาเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น มีอารมณ์พลุ่งพล่าน จะเรียกสติและสามารถดึงวิธีการออกมาใช้ได้ หรือการที่พ่อแม่ช่วยลูกให้หยุด และมีเวลาในการไตร่ตรองมากขึ้น จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีขึ้น โอกาสที่จะพลาดน้อยกว่า เมื่อลูกสามารถวิเคราะห์ไตร่ตรองได้ด้วยตัวเองแล้ว >> เราชื่นชม >> ลูกทำต่อ/ทำมากขึ้น/ไปต่อได้

 

▶️ ในขณะเดียวกัน หากลูกทำไม่ได้ คิดหาเหตุปัจจัย เช่น ลูกกำกับตัวเองได้น้อยลงเมื่อมีสมาร์ทโฟน ต้นเหตุ…เกิดจากการยื่นสมาร์ทโฟนให้ลูก หรือความใจอ่อนของพ่อแม่ หรือควบคุมกติกาไม่ได้ หรือสภาพแวดล้อม เช่น ลูกอยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา ฯลฯ

▶️ Working Memory เด็กๆ เรียนรู้จากความผิดพลาด สมองเองก็เช่นกัน ความจำใช้งาน มิใช่เรื่องของความจำหรือการท่องจำ เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้จากการได้ทำอะไรสักอย่างในชีวิตจริง

▶️ ในขณะที่เด็กอยู่ในเส้นทางการเจริญเติบโตและการพัฒนา เราพ่อแม่ได้ถ่ายทอดชีวิต วิธีการแก้ปัญหาให้เขาหรือไม่ เช่น เมื่อเกิดปัญหาปัญหาหนึ่งในครอบครัว เคยมานั่งถก แลกเปลี่ยนความคิด หาทางแก้ไขร่วมกันหรือไม่ แม่ให้วิธีการหนึ่ง พ่อให้อีกวิธีการหนึ่ง เด็กๆ รับฟัง แลกเปลี่ยน รวมเป็น 3-4 วิธีการที่เขาจะได้ไป เมื่อเขาต้องเผชิญกับปัญหาของตัวเขาเอง เขาจะนึกถึงกระบวนการนี้ เขาอาจไม่เลือกวิธีการของพ่อแม่ แต่ปรับวิธีมาใช้ในแบบของตัวเขาเอง

 

▶️ เราเคยฝึกให้เด็กอยู่ท่ามกลางคนที่ไม่คุ้นเคย หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เชิงชอบบ้างหรือไม่?

การจับกลุ่มทำงานที่ดี คือ โรงเรียนคละเด็กแล้วจัดกลุ่มให้ ไม่ใช่จับกลุ่มตามใจชอบทุกครั้ง เด็กจะได้รู้จักคนในหลายแง่มุมมากขึ้น เด็กที่มีฐานอารมณ์ที่ดี ถูกฝึกมาให้รู้จักมองหาข้อดีของผู้อื่น (เป็นเรื่องที่ต้องฝึก เพราะสมองโดยสัญชาตญาณต้องระวังภัยให้ตนเอง เลยมักจะมองลบก่อน) ถึงจะเปลี่ยน attitude ในการอยู่ร่วมกับคนที่ไม่เชิงชอบได้ และจะส่งผลให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ง่ายขึ้น

 

▶️ วัยรุ่นนั้นเป็นวัยที่มีความอัดอั้นตันใจหลายเรื่อง จริงๆ แล้วเขามีเรื่องที่อยากพูด อยากระบายมาก แต่ที่วัยรุ่นคุยกับพ่อแม่น้อยลง อาจเพราะ….

 

  • พ่อแม่สวนเร็ว
  • พ่อแม่ตีตราลูกไว้แล้ว เธอก็แบบนี้แหละ ลูกก็เป็นเสียแบบนี้
  • พ่อแม่มีคำตอบอยู่ในใจ ไม่เปิดใจรับฟัง

เหล่านี้เป็นอุปสรรคของการสื่อสาร เทคนิคที่ทำให้ลูกวัยรุ่นอยากสื่อสารกับพ่อแม่ นอกเหนือจากการตั้งใจรับฟังแล้ว การสอบถามที่เพิ่มหัวใจ ความรัก ความรู้สึก ความอยากช่วยเหลือลงไปด้วยก็สำคัญ >> ไหวมั้ย / ลำบากรึเปล่า / อยากให้ช่วยอะไรมั้ย

 

เหตุการณ์ : ลูกเห็นแม่จอดรถไม่ดี เลยไปช่วยขยับจอดให้ใหม่ ปรากฏว่าไปชนกำแพง แม่ที่กำลังง้างปากจะบ่น😅 ถูกพ่อบีบมือ “เดี๋ยวพ่อคุยเองนะ”

พ่อถาม “เจ็บตรงไหนมั้ยลูก ตกใจมั้ย”

ลูกตอบ “….. …… ” หลังจากนั้น ลูกบอกว่า “เดี๋ยวจะเรียกประกัน” แล้วอยู่จัดการจนจบขั้นตอนประกัน และการส่งรถเข้าซ่อม

 

จากเหตุการณ์นี้ การเรียนรู้ด้วยการบ่นว่าพร่ำบอก อาจทำให้เด็กเรียนรู้ได้น้อยกว่า การที่ลูกได้ลองผิดลองถูก ในขณะที่ยังมีพ่อแม่สนับสนุน ประคับประคองความรู้สึก จากที่ยังวิเคราะห์ไม่ได้จนวิเคราะห์เก่ง จากที่ยังคุมอารมณ์ไม่ได้ แต่เห็นต้นแบบที่ใจนิ่งเสมอ จนเขาควบคุมอารมณ์ได้เอง ฯลฯ พ่อแม่ที่เป็นแบบอย่างและทำหน้าที่เสมือนโค้ชนี้ จะทำให้ลูกเกิดการเรียนรู้โดยที่ยังคงรักษาสัมพันธภาพนั้นไว้ได้ด้วย 😊

 

▶️ การเป็นต้นแบบของการอ่านหลากหลาย รู้หลากหลาย มีบทสนทนาได้หลากหลายหัวข้อ ทั้งเรื่องที่ลูกชอบ vs. เราชอบ • เรื่องใกล้ตัว vs. ไกลตัว • รวมไปถึงการพูดคุยในเรื่องที่ต้องอิงหลักการ • หลักเหตุผล • evidence-based discussion คุณภาพการคุยเหล่านี้ของพ่อแม่…จะสะท้อนคุณภาพการคุยของลูกด้วย

แต่หากในบ้านมีการสื่อสารกันน้อยมาก เวลาที่เกิดการขัดแย้ง อาจทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพลดลง รวมไปถึง content เดิมๆ (และน่าเบื่อ) ของเรา เช่น งานเสร็จรึยัง? คบกับใครอยู่? เพื่อนคนนี้ไม่โอเคเลย ยังคบอยู่อีกเหรอ? เหล่านี้ไม่ส่งเสริมให้เกิดการโค้ชทางด้านการสื่อสารเลย

 

วิเคราะห์ ประเมิน content บรรยากาศและท่าทีของเราด้วย >> ท่าทีคอยจับผิด หรือสนุกสนาน เข้าถึงง่าย? บรรยากาศการพูดคุยเป็นแบบพ่อแม่ลูก หรือเจ้านายกับลูกน้อง? เนื้อหาการพูดคุยชวนให้เกิดความอยากรู้หรือไม่?

การโค้ชทางด้านความคิด

 

✔ เรียนรู้ ลองผิดลองถูกไปด้วยกัน

✔ ตั้งคำถามได้เหมาะ

✔ อย่าด่วนตอบ

✔ พาลงมือทำด้วยกัน

✔ มีสถานการณ์ให้ลูก ให้ลูกเผชิญกับเหตุการณ์จริง

 

ความคาดหวังจากโลกภายนอกต่อเด็กในยุคนี้มี 4 ด้านหลักๆ คือ…

 

✔ ด้านบริหารจัดการ และกำกับตนเอง

✔ ด้านการทำงานร่วมกับผู้อื่น

✔ ด้านการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้

✔ ด้านการใช้เป็นและรู้เท่าทันดิจิตอล

 

เวลาลูกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม เรามีหน้าที่ประคับประคองลูก (Emotional Support)

 

✔ เข้าใจสถานการณ์

✔ รับรู้ความรู้สึก

สะท้อนความรู้สึก

✔ ช่วยกำกับควบคุมอารมณ์ แม้จะเจ็บใจ เสียใจ เสียหน้า แต่มีความหวังในการใช้ชีวิตต่อเสมอ

✔ ไม่ตัดสิน สนับสนุนและยอมรับโดยปราศจากเงื่อนไข

✔ ชื่นชมและเสริมแรงเมื่อเขาทำได้

 

สิ่งสำคัญ คือ..เมื่ออารมณ์สงบ ลองชี้ชวนวิเคราะห์เหตุปัจจัยที่ทำให้เขามาถึงจุดนี้ หากเป็นจุดที่ประสบผลสำเร็จ หาเหตุปัจจัยนั้น เพื่อดำรงรักษา และส่งเสริมเหตุปัจจัยแห่งความสำเร็จนั้น แต่หากเป็นปัจจัยด้านลบที่ทำให้เกิดความผิดพลาด ล้มเหลว ความขัดแย้ง ก็ต้องเหตุปัจจัยเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดซ้ำๆ อีกในอนาคตเช่นกัน

 

▶️ เวลาที่เรามีคำตอบอยู่ในหัว ให้วางไว้ก่อน อย่าเพิ่งพูด ฟังที่ลูกเล่าจนจบก่อน อาจสอบถามเพิ่มเติมในจุดที่เราไม่เข้าใจ หากสิ่งที่ลูกพูดออกมา ไปถึง 70-80% ของสิ่งที่อยู่ในหัวเราแล้ว (70% ของเหตุปัจจัย และทางแก้ปัญหาที่เราอยากบอกเขา) เราไม่พูดต่อ (ไม่ต้องรอเต็ม 100%) ชื่นชมลูกเลย👍 แสดงว่าเขาสามารถคิดแก้ปัญหาด้วยตัวของเขาเอง (เราอาจช่วยคิดได้ แต่เราไม่คิดแทน) และเสริมกำลังใจว่า “แม่จะรอฟังผลนะ” “แม่จะคอยติดตามนะลูก”

คุณหมอเหมียวฝากไว้…

 

“ขอให้พ่อแม่สนุกกับการพัฒนาตนเอง และอยู่ได้อย่างมีความสุข ท่ามกลางสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยหรือมีอุปสรรค แต่ก็ยังสามารถคิดไตร่ตรองแก้ปัญหาต่อไปได้ การเลี้ยงลูกก็เหมือนการปลูกต้นไม้ จะอัดปุ๋ยทุกอย่างในคราวเดียวกันนั้นมิได้ กิ่งที่ระรานก็ต้องเล็มออกบ้าง แต่หากต้นเติบใหญ่ไปในทิศทางที่เหมาะสมแล้ว เราก็ปล่อยให้เติบโต ให้ผู้อื่นได้ชื่นชมบ้าง” ..จะได้มีกำลังใจทั้งคนปลูกและตัวต้นไม้เองนะคะ”….😊

 

หากมีข้อผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ😊

ขอบคุณค่ะ แม่บิว