Open Class 2022 เปิดชั้นเรียนมัธยม 2565

โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (SLC – School as Learning Community) ห้องเรียนและโรงเรียนจึงเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ร่วมกันทั้งนักเรียน ครู ผู้ปกครอง รวมถึงเครือข่ายทางการศึกษา โดยทุกคนให้ความเคารพและรับฟังเสียงของกันและกัน เด็กทุกคนล้วนมีความแตกต่างสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพตามแนวทางของตนเอง

จากแนวคิดดังกล่าวช่วงชั้นมัธยมจึงมีการเปิดชั้นเรียนร่วมเรียนรู้เพื่อรับฟังการสะท้อนกลับ และข้อแนะนำต่างๆ ขณะเดียวกันก็พร้อมแบ่งปันกระบวนการอันเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจมาอย่างต่อเนื่อง

งาน Open Class ของช่วงชั้นมัธยม โรงเรียนเพลินพัฒนา เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 มีเพื่อนครู และนักการศึกษาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จาก 17 หน่วยงานรวม 45 ท่าน ได้แก่ สช. , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน), โรงเรียนวัดไร่ขิง(สุนทรอุทิศ), โรงเรียนวัดจุกเฌอ(สมณราษฎร์วิทยาคาร), โรงเรียนบ้านสองพี่น้อง สพป.ระยอง 2, โรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ, โรงเรียนสาธิตบางนา, โรงเรียนสุจิปุลิ, โรงเรียนจำรัสวิทยา, โรงเรียนเมืองพัทยา 5 , โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย, อปท. ,โรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ, โรงเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลบึงคำพร้อย 1 (โรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาราม),โรงเรียนกวดวิชาสมาร์ทนครศรีธรรมราช และ สภาครอบครัวเพลินพัฒนา

การจัดงานครั้งนี้มี Parallel Session ต่างๆ และเปิดชั้นเรียนให้ผู้ร่วมงานเลือกเข้าตามความสนใจมากกว่า 10 ห้องโดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก Model Teacher – Buddy และนักเรียนที่มีการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ หลังจากนั้นได้ร่วมสะท้อนคิดซึ่งเป็นประโยชน์ในการพัฒนาชั้นเรียนเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงท้ายได้ร่วมรับฟังสัมมนา “โรงเรียนคุณภาพ มาจากห้องเรียนคุณภาพ” จาก ศ.ดร.เอสึเกะ ไซโตะ ที่ช่วยตอกย้ำการพัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพสูงสุด และเป็นก้าวสำคัญสู่การสร้างโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (SLC) พัฒนาครูให้สร้างการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) แบบรวมพลัง (Collaborative Learning) ให้นักเรียน ดูแลเอาใจใส่กันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงาน Open class วันนี้มากๆ เลยครับ ที่ได้ทำให้ผมเรียนรู้จากการสะท้อนคิดของทุกท่าน สิ่งที่ยั่งยืนเกิดจากครูช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เพื่อการเรียนรู้ ขอบคุณครูทุกท่านทั้งทีมครูผู้จัด ครูเปิดชั้นเรียน ครูเปิดห้องเรียนคู่ขนาน งานวิจัย homeroom ฯลฯ ขอบพระคุณ ศ. ดร. เอสึเกะ ไซโตะ ที่ทำให้ได้เรียนรู้ห้องเรียนคุณภาพ ขอบพระคุณ รศ.ดร.พิมพันธ์ เดชะคุปต์ รศ. พเยาว์ ยินดีสุข ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่ร่วมพัฒนาครูมากว่า 10 ปี ขอบพระคุณ ดร. นิภาพร กุลสมบูรณ์ EDUCA ที่ริเริ่มนำพา SLC เข้ามาให้เกิดประโยชน์ต่อวงการศึกษา ความสุขของผมอยู่ที่ครูได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างมีความสุข”
– คุณครูภูริทัต ชัยวัฒนกุล หัวหน้าช่วงชั้นมัธยม

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2565