HBLC พี่มัธยม

เข้าสู่สัปดาห์ที่ 5 … ในการเรียนของพี่มัธยมในช่วงวิกฤต COVID – 19 ผ่าน application Zoom ที่มุ่งเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนในการเรียนรู้และช่วยเหลือกันด้วยการแบ่งกลุ่มย่อยโดยคุณครูสามารถดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึง

วิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้น 7 สอนโดยครูป่าน – ครูชิดชนก แสงชอุ่ม เป็นตัวอย่างหนึ่งของ “ห้องเรียนที่มีชีวิต” เด็กๆ มีความตื่นตัวในการเรียนรู้ คุณครูใช้น้ำเสียงที่มีความน่าสนใจ ทำให้นักเรียนรู้สึกสนุกในการรับฟัง มีการจัดกิจกรรมกลุ่มที่ช่วยในการทบทวนความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียน ทำให้เห็นถึงความสำคัญของรายวิชา สร้างบรรยากาศที่ดีด้วยคำถามชวนคิดทั้งเรื่องที่เรียน และเรื่องที่น่าสนใจอื่นๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นวิชาที่มีเด็กๆ สมัครใจลงเรียนนอกเวลามากกว่าครึ่งเพื่อพัฒนาคณิตศาสตร์ของตนเองที่คุณครูจัดช่วงเวลาส่งเสริมให้ในช่วงเย็น

“คณิตศาสตร์ มี 2 คาบต่อสัปดาห์ค่ะ (คาบละ 80 นาที) ใน 80 นาทีจะแบ่งเป็นสอนเนื้อหาประมาณ 30 นาที ทำแบบฝึกหัดร่วมกัน เพื่อที่ครูจะสามารถตอบข้อสงสัยของนักเรียนได้อีกประมาณ 50 นาทีค่ะ บางคาบมีการทำกิจกรรมทั้งคาบเลยค่ะ มีการบ้านเป็นแบบฝึกหัดให้นักเรียนฝึกทำ เพราะการทำซ้ำๆ จะฝึกให้นักเรียนมีทักษะในการแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอน”
ครูป่านบอกเล่า

ขณะที่วิชามานุษและสังคมศึกษา ชั้น 8 สอนโดยครูอุ้ม – ครูสิริตา มยูขโชติ ก็เป็นอีกวิชาหนึ่งที่เป็นโจทย์ให้คุณครูต้องขบคิด “ทำอย่างไรให้นักเรียนสนใจ และสามารถออกแบบการเรียนรู้ของตนเองได้”


ครูอุ้มยกตัวอย่างเนื้อหาที่สอนเรื่อง ยุคการฟื้นฟูศิลปวิทยา Renaissance ซึ่งในคาบนั้นเน้นให้นักเรียนค้นคว้าหาคำตอบที่มาจากคำถามที่นักเรียนเป็นผู้ตั้งกันเอง ผ่านรูปแบบของกระบวนการกลุ่ม โดยครูมีใบความรู้ และเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถวิเคราะห์ เลือกใช้ข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้อื่นที่มีความน่าเชื่อถือได้

เริ่มต้นคาบเรียนด้วยการให้ดูรูปเพื่อเป็นการเสนอสิ่งเร้าว่าภาพที่นักเรียนเห็นทั้ง 2 ภาพนั้นแตกต่างกันอย่างไร (ภาพของยุคกลางและยุคการฟื้นฟูศิลปวิทยา) เมื่อได้ข้อสังเกต “คำตอบจากนักเรียน” ที่นำไปสู่คำว่ายุคการฟื้นฟูศิลปวิทยาแล้วจึงชวนนักเรียนตั้งคำถาม ข้อสงสัย และสิ่งที่อยากรู้เกี่ยวกับ การฟื้นฟูศิลปวิทยา ผ่านเว็บ menti.com ซึ่งคำถามที่นักเรียนอยากทราบและร่วมกันตั้งนั้น แบ่งออกได้ 4 ประเด็นใหญ่ คือ

  1. สาเหตุ/ปัจจัยของการฟื้นฟูศิลปวิทยา
  2. ลักษณะเด่นของยุคนี้มีอะไรบ้าง
  3. สภาพสังคมเป็นอย่างไรผู้คนเข้าอยู่กันแบบไหน แล้วครูได้เพิ่มคำถามให้เปรียบเทียบระหว่างช่วงยุคกลางและยุคนีั ที่เป็นรอยต่อของการเปลี่ยนแปลง ให้นักเรียนลองวิเคราะห์ดู
  4. ผลจากการฟื้นฟูศิลปวิทยานั้น มีด้านใดบ้าง

“นักเรียนดู active เพราะว่ากิจกรรมที่ทำก็มาจากคำถามที่พวกเขาอยากรู้ ที่เขาสนใจและร่วมกันตั้งขึ้นมา แม้บรรยากาศชั้นเรียน จะไม่ค่อยมีสีสันเหมือนชั้นเรียนปกติที่นักเรียนต่างพากันถามตอบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างทันที แต่การเรียนรู้รูปแบบนี้นักเรียนก็น่ารักนะคะ มีส่วนร่วมกับกิจกรรมเป็นอย่างดี ในคาบเรียนนี้ครูอุ้มยังได้ฝึกทักษะกระบวนการที่จะนำชั้นเรียนให้ไปถึงจุดที่นักเรียนเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ของตนเอง ซึ่งยังต้องอาศัยการเรียนรู้และประสบการณ์ในการทดลองอย่างสม่ำเสมอ และคิดว่าจะนำคำแนะนำจากรองศาสตราจารย์ ดร.พิมพันธ์ เดชะคุปต์ และเพื่อนครูที่ได้ร่วมสังเกตการณ์ชั้นเรียนในห้อง Zoom ไปใช้ในทุกๆ คาบต่อจากนี้ค่ะ”

แม้วิกฤต Covid – 19 จะทำให้ครู นักเรียนต้องเว้นระยะห่าง แต่การเรียนรู้เช่นนี้กลับไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ครูยังสัมผัส และรับรู้ความรู้สึกของนักเรียนผ่านการสะท้อนกลับ และการทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกัน ขณะที่คุณครูก็ยังสามารถร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้โดยไม่มีข้อจำกัด

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2563