เราคือสิ่งแวดล้อมของกันและกัน
ตั้งใจเข้ามาช่วยงานโรงเรียน เพราะเชื่อว่าเราคือสิ่งแวดล้อมของกันและกัน และเพราะเด็กคนหนึ่งต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านช่วยกันเลี้ยงดู (It takes a village to raise a child.)
หลังสิ้นสุดการศึกษาของนักเรียน หน้าที่ของคุณครูในมัธยมยังไม่สิ้นสุดลง ทีมคุณครูได้จัดสรรเวลาสำหรับการทบทวนตนเอง ประเมินกระบวนการทำงานของปีที่ผ่านมา สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยกระบวนการ AAR เพื่อเตรียมรับมือกับโจทย์ที่อาจจะท้าทายขึ้นในทุกๆ ปี
9.00 น. คุณครูมัธยมทุกคนพร้อมเพรียงที่ห้องประชุม บรรยากาศนั่งประชุมที่พื้นเพื่อให้ทุกคนผ่อนคลาย เหมือนได้นั่งจับเข่าคุยกัน ได้ถามไถ่ถึงพื้นที่ชีวิตของกันและกัน เริ่มต้นกระบวนการด้วยการเช็คอินความรู้สึกสั้น ๆ ว่าเช้านี้ของคุณครูแต่ละคนเป็นอย่างไร มีความคาดหวังต่อการ AAR ครั้งนี้อย่างไรบ้าง ต่อจากนั้นคุณครูวีณา ว่องไววิทย์ (ครูส้ม) รองผู้อำนวยการฝ่ายสำนักอำนวยการและที่ปรึกษามัธยม ได้แนะนำหลักการของกระบวนการ AAR และเป้าหมายของการพัฒนานักเรียน การสร้างผู้เรียนให้มีทักษะและสมรรถนะที่โลกแห่งอนาคตต้องการ
หลังจบการบรรยายของครูส้ม ก็ถึงเวลาที่ต้องชวนคุณครูลุกขึ้นมาขยับร่างกาย เพื่อสร้างความตื่นตัวให้สมองก่อนเข้าสู่กิจกรรมถัดไป กิจกรรมที่มาชวนคุณครูทุกคนเล่นวันนี้คือ โยนบอลสื่อสาร ที่ทีมครูแนะแนวได้มาจากการไปเข้าร่วมอบรมของมูลนิธิเมล็ดฝัน เราใช้เวลาในการเล่นประมาณ 20 นาที ก็เข้าสู่กระบวนการ AAR 1 ที่ชื่อว่า “Feedback คือของขวัญ”
กิจกรรม Feedback คือของขวัญ เริ่มจากให้คุณครูเข้ากลุ่มประจำชั้น 7-12 โดยครูณิ้งและครูนุกแจกโจทย์ให้ครูทุกคนทบทวนการทำงานของตนเอง 3 ข้อ (เป้าหมายที่ผ่านมา/บทบาทของตัวเองที่ได้ทำงานประจำชั้น/สิ่งที่เราได้พัฒนาขึ้นจากงานประจำชั้น) เมื่อเขียนครบทั้ง 3 ข้อแล้ว ก็เปิดพื้นที่ให้คุณครูได้สะท้อนสิ่งที่ตนเองเขียน เมื่อมีผู้พูด ก็ต้องมีผู้ฟัง เมื่อผู้พูดพูดจบ ผู้ฟังทุกคนก็ปรบมือขอบคุณและให้กำลังใจ
หลังสะท้อนครบวงแล้ว ครูณิ้งและครูนุกได้แจกกระดาษตามจำนวนของทีมครูประจำชั้น ในกระดาษจะมีช่อง I like/I wish ให้เราแต่ละคนเขียนถึงสิ่งที่เราชอบ/และสิ่งที่เราปรารถนา ของครู ทีละคน เมื่อเขียนเสร็จ ก็ให้แต่ละคนจับคู่สะท้อนถึงกันและกัน เป็นอันจบกระบวนการ AAR1 สังเกตว่าหลายชั้นไม่ยอมหยุดกระบวนการเลยแม้จะถึงเวลาทานข้าวแล้ว
ตอนบ่ายเริ่มกันด้วยกิจกรรมยืดเหยียดของครูหมี ที่เรียกเสียงฮาเสียงหัวเราะ ปลุกให้คุณครูทุกคนตื่นหลังจากทานข้าวกันมาอิ่มๆ เมื่อเข้าสู่ช่วงกระบวนการ AAR2 เราทุกคนกลับมานั่งในวงประจำชั้น แล้วรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละหน้างาน เช่น การสื่อสารกันภายในกลุ่ม เวลาที่ไม่ตรงกัน ระบบการเก็บฐานของมูลนักเรียนเป็นต้น หลังจากทุกชั้นเขียนปัญหาของตัวเอง ก็เข้าสู่กระบวนการ Round Robin โดยการให้ครูชั้นอื่นเวียนกันมาแนะนำวิธีการแก้ปัญหา และเลือก 1 ปัญหามานำเสนอให้ชั้นอื่นทราบ
ก่อนปิดจบงาน AAR เราได้ให้คุณครูที่มีอายุงานน้อยสุดในชั้น สะท้อนผ่านกระบวนการ 3F ว่ารู้สึกอย่างไร ได้เรียนรู้อะไร และจะนำไปปปรับใช้อย่างไร โดยภาพรวมของกระบวนการความรู้สึกส่วนใหญ่ของทุกคนรู้สึกสนุกและประทับใจที่ได้กลับมาประชุมแบบออนไซต์ เพราะในช่วงโควิดที่ผ่านมา รูปแบบการประชุมส่วนใหญ่เป็นการประชุมผ่านซูม นอกจากนั้นยังเป็นความรู้สึกอบอุ่นที่ได้กลับมาอยู่ในบรรยากาศเดิม บรรยากาศเหมือนวันรวมญาติที่ได้กลับมาเจอครอบครัวกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตาอีกครั้ง
ก่อนปิดจบงาน AAR เราได้ให้คุณครูที่มีอายุงานน้อยสุดในชั้น สะท้อนผ่านกระบวนการ 3F ว่ารู้สึกอย่างไร ได้เรียนรู้อะไร และจะนำไปปปรับใช้อย่างไร โดยภาพรวมของกระบวนการความรู้สึกส่วนใหญ่ของทุกคนรู้สึกสนุกและประทับใจที่ได้กลับมาประชุมแบบออนไซต์ เพราะในช่วงโควิดที่ผ่านมา รูปแบบการประชุมส่วนใหญ่เป็นการประชุมผ่านซูม นอกจากนั้นยังเป็นความรู้สึกอบอุ่นที่ได้กลับมาอยู่ในบรรยากาศเดิม บรรยากาศเหมือนวันรวมญาติที่ได้กลับมาเจอครอบครัวกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตาอีกครั้ง
โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 18 เมษายน 2565