Family field trip

จากโจทย์ “ห้องเรียนพ่อแม่” Family field trip ของช่วงชั้นที่ 2 ชวนเปิดโลกให้ลูกรู้ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่หลากหลาย การไปเที่ยวพักผ่อน ชมสถานที่ต่าง ๆ จึงมีความหมายมากกว่า “ชิม ช้อป แชะ” หากแต่เด็ก ๆ จะดืมด่ำมากกว่าถ้าได้เก็บเกี่ยวบันทึกความรู้ระหว่างการเดินทาง

การพาเด็กๆ คิด เขียน บอกเล่าเรื่องราวให้น่าสนใจนั้นคุณครูก็มีกระบวนการฝึกทักษะต่างๆ ในหน่วยวิชาภูมิปัญาภาษาไทยที่ “พราว” ชั้น 6 หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Plearn Content Creator ได้สะท้อนจากเรื่องเล่าในห้องเรียนไว้อย่างน่าสนใจ

ในวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยในภาคเรียนฉันทะ พวกเราได้เรียนเรื่อง
“เมืองไทย เมืองสร้างสรรค์”

🌄เมืองสร้างสรรค์คือเมืองที่มีการพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น การแสดงและศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน การออกแบบสถาปัตยกรรม อาหารและดนตรี เป็นต้น ซึ่งคุณครูให้พวกเราเลือกจังหวัดที่คิดว่าเป็นเมืองสร้างสรรค์มา 1 จังหวัด เพื่อนำมาสร้างเป็นซีรีส์ของตนเองโดยในหนึ่งซีรีส์จะมี 4 ตอน ประกอบด้วย

  • โวหารภาพพจน์ คือ กลวิธีในการเขียนงานให้แปลกออกไปจากภาษาตามตัวอักษร ทำให้เกิดอรรถรสในงานเขียน
  • การเขียนเชิงหลักการ คือ การเขียนที่มีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ
  • การใช้ภาพเล่าเรื่อง คือ การใช้ภาพประกอบงานเขียนเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนขึ้นในสิ่งที่เราจะสื่อ
  • เรื่องเล่าภาพชีวิตสะท้อนภูมิปัญญา คือ การเขียนเล่าเรื่องจากประสบการณ์ของผู้ที่เคยไปพบเจอภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยตนเอง

ในงานชิ้นนี้เราสามารถตั้งชื่อตอนให้สนุก น่าประทับใจหรือน่าค้นหาได้ งานของฉันเป็นงานเขียนเกี่ยวกับ จ.ตรัง ในห้วข้ออาหารและสถานที่ท่องเที่ยว ฉันเลือก จ.ตรังเพราะเป็นบ้านเกิดของแม่ ฉันกลับไปเยี่ยมคุณตาและคุณยายที่จังหวัดนี้ทุกปี ทำให้ฉันรู้จักอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และภูมิปัญญาท้องถิ่นของพื้นที่นี้มากกว่าจังหวัดอื่น ชื่อตอนหนึ่งของซีรีส์ที่ฉันตั้ง คือ อร่อยทุกจาน จัดจ้านทุกเมนู

เมื่อเด็ก ๆ มีไกด์นำทางในการเขียนบันทึกการเรียนรู้แล้ว ในฐานะของพ่อแม่คือการนำพาเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆได้ออกไปสัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลาย ชวนคิด ชวนคุย ชวนมีส่วนร่วม วางแผนก่อนออกเดินทาง วันหยุดยาวแบบนี้คิดว่าหลายๆ บ้านน่าจะมีแผนท่องเที่ยวกันอยู่แล้ว อย่าลืมใช้ช่วงเวลาดี ๆ นี้สร้างการเรียนรู้ให้เด็กๆนะคะ