จากบ้านเล็กสู่บ้านใหญ่
เปิดการเรียนรู้ จากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ก่อตั้ง โรงเรียนเพลินพัฒนา อ. ธิดา พิทักษ์สินสุข ที่นำพาให้รู้ถึงเจตนารมณ์ ความสำคัญของสัญลักษณ์ 9 พอดี
ร่วมเสวนากับ “ครูก้า” อาจารย์กรองทอง บุญประคอง 29 สิงหาคม 2562 เวลา 13:00 – 15:30 น. ห้องประชุมเพลินพัฒนา อาคารมัธยม
ก่อนเข้าสู่ EF กับการวิ่ง ครูก้าชวนผู้ปกครองพูดคุยให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ EF – Executive Functions ทำอย่างไรจึงให้โอกาสเด็กๆ
ได้พัฒนาทักษะสมอง EF
ได้คิดอิสระ ได้ตัดสินใจ ตั้งคำถามปลายเปิด ได้จินตนาการ ฝึกคาดการณ์ ได้ฝึกคิดวิเคราะห์
ได้ลงมือทำ ได้พึ่งตนเอง ได้เล่นอิสระ เรียนรู้ประสบการณ์จริง ใช้ประสาทสัมผัส
ได้ฝึกวางแผน ฝึกจัดระบบ ฝึกจัดลำดับความสำคัญ ฝึกจัดการเวลา
ได้กล้าริเริ่ม ได้ความท้าทาย ได้ลองผิดลองถูก ได้แก้ปัญหา
ได้ทบทวนประสบการณ์ ได้สรุปบทเรียน
การฝึก EF ด้วยการให้ช่วยงานบ้านเป็นเรื่องง่ายๆที่ทุกบ้านใช้ฝึกลูกได้ ในช่วงปฐมวัย พ่อแม่ชวนลูกทำให้เป็นเรื่องสนุก ตั้งคำถามปลายเปิด “ลูกช่วยทำอะไรได้บ้าง” ถ้าเขาเริ่มต้นทำอะไรด้วยใจเขาจะมีพลัง ขณะเดียวกัน พ่อแม่ก็ทำด้วย หากทำแล้วลูกไม่ไหว เราก็พร้อมรับฟัง ท่าทีของพ่อแม่อย่าเป็นทุกข์ ชวนลูกให้สนุก เมื่อเขาโตขึ้น จะเห็นความจำเป็นกับสิ่งที่ทำ หมุนเวียนกันได้ ใครจะอาสาทำบ้าง มีความยืดหยุ่น ไม่ใช่ทำเพราะถูกบังคับ
พ่อแม่ต้องหล่อเลี้ยงความอยากรู้ของลูกไว้ในวันที่เขาอาจยังไม่พร้อมเรียนรู้เนื้อหาที่ซับซ้อน ไม่เหมาะกับวัย แม่อาจค้นคว้าและสอนลูกด้วยตัวเองก่อน ลูกจะเห็นเราเป็นนักค้นคว้า เป็นแบบอย่างที่ดี เมื่อโตขึ้นการเรียนรู้มีได้หลายรูปแบบ เด็กสามารถนำไปไปต่อยอดได้
” EF มิได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดจากกระบวนการแก้ปัญหาที่เด็กคนหนึ่งได้ทดลองทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่เริ่มมีตัวตน (self) จนกระทั่งอายุ 20-25 ปีโดยประมาณ อันเป็นเวลาที่สมองส่วนหน้าของส่วนหน้า (prefrontal cortex) พัฒนาเต็มที่ EF จึงเป็นเรื่องสำคัญ เด็กและวัยรุ่นคนหนึ่งจะไปให้ถึงเป้าหมายได้ ต้องมีเป้าหมายเป็นอย่างแรกคือ Goal หรือ Target จากนั้นต้องมีความคิดอ่าน วางแผน ลงมือทำ ระหว่างลงมือทำยังต้องควบคุมการกระทำและอารมณ์มิให้ออกนอกเส้นทาง จนกว่าจะไปถึงเป้าหมาย…” นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
“การวิ่ง” จึงเป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนา EF เพราะก่อนออกวิ่งต้องมีการเตรียมตัวฝึกซ้อม เรียนรู้เส้นทางวิ่ง เมื่อพลัดหลงต้องทำอย่างไร การพิชิตเป้าหมาย การเตรียมพร้อมก่อนออกวิ่งไปด้วยกัน ของ “พ่อ แม่ ลูก … และทุกคนในครอบครัว” จึงมีความสำคัญ งานวิ่งครั้งนี้จะเป็นสนามฝึก EF ให้เด็กๆได้เป็นอย่างดี
การชวนลูกวิ่งระยะทาง 3 – 5 กม. เด็กจะนึกภาพไม่ออก สำหรับเด็กเล็กให้พ่อแม่ตั้งเป้าหมายความสำเร็จเป็นระยะ เช่น เราวิ่งกันสัก 10 นาทีก่อน และค่อยเป็น 20 นาที และขยับมากขึ้น หรือวิ่งรอบสนาม ก็ค่อยๆ ปรับเพิ่มรอบ ตั้งเป้าหมายเป็นระยะไปเรื่อยๆ เมื่อทำสำเร็จ เด็กๆ จะมีความเชื่อมั่นในตัวเองและจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้
เราควรวิ่งกับลูก แต่ลูกจะวิ่งกับเราหรือไม่แล้วแต่เขาไม่ยึดเหนี่ยวลูกไว้กับเรา เหนื่อยก็พัก ค่อยวิ่งต่อ “กิจกรรมต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกัน” หลีกเลี่ยงการใช้คำพูด “ทำไมไม่อดทน” “ดูสิ … คนอื่นไปหมดแล้ว” ฯลฯ เบื้องหลังของ EF คือการมีสายสัมพันธ์ที่ดี
โดยธรรมชาติเด็กไม่กลัวฝน กลับเป็นเรื่องน่าสนุกด้วยซ้ำ พ่อแม่คือคนที่ตั้ง mindset ให้กับลูก เมื่อพ่อแม่ไม่มองว่าเป็นปัญหา ลูกย่อมไม่มีปัญหา ( คุณแม่ที่มีลูกเป็นนักกีฬารักบี้สนับสนุนว่า ลูกมีความสุขในการซ้อมท่ามกลางสายฝนกลับไม่ป่วย แต่แข็งแรงขึ้นมาก) สิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้วดีเสมอเพราะจะทำให้เราได้เรียนรู้
ทำให้ลูกเห็นความสำคัญว่าโครงการนี้เป็นของเขา เขาจะมีพลัง ไม่เหนื่อย ไม่ร้อน ไม่หิว ไม่ง่วง
เมื่อเหนื่อยก็พักอยู่กับลูก เป้าหมายคือเราไม่ได้วิ่งแข่งกับใคร คอยรับฟัง รับรู้อารมณ์ของลูกไม่ว่าจะ เหนื่อย หิว เบื่อ โกรธ ลูกแค่ต้องการคนรับฟังไม่ต้องแก้ปัญหา หรืออาจจะใช้วิธีลดทอนเป้าหมายให้สั้นลงเช่นไปให้ถึงเสาไฟข้างหน้า (เห็นเป็นรูปธรรม) เมื่อไหวก็ไปต่อ จนถึงเส้นชัย
งานวิ่งจะมีทีมตำรวจดูแลความปลอดภัยกระจายตามจุดต่างๆ / มีพี่ๆ คอยดูแล / เขียนเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ พ่อแม่วางแผนคุยกับลูกล่วงหน้า จะเจอกันจุดไหนได้บ้าง เด็กๆ ก็ต้องการรับรู้สถานการณ์ล่วงหน้า เพื่อได้คิดวางแผนล่วงหน้า เขาจะไม่ตื่นตกใจ และรู้ว่าต้องทำอย่างไรเมื่อพลัดหลงกัน คุยกับลูกในเชิงตั้งคำถาม เส้นทางแบบนี้ถ้าเด็กๆ กลัวหลง ลองวางแผนจะต้องทำอย่างไร ให้ลูกได้ซักซ้อมและฝึกจัดการ
พ่อแม่พาลูกเก็บเกี่ยวความสำเร็จได้เป็นระยะ ชวนตั้งเป้าหมายระยะสั้น ระยะยาว เราไม่ได้ใช้ความเร็วเป็นตัวตั้ง ดังนั้นไม่ถึงเร็ว ก็ถึงช้า ถ้าไปไม่ถึงก็ยังมาได้อีกในวันหลัง ไม่อยากให้เปรียบเทียบกับใคร ทุกคนสำเร็จในระยะของตัวเอง บ้านที่มีลูกเล็ก เราพักได้เป็นระยะ ชวนเล่น ขี่หลังไม่จำเป็นต้องพึ่งเครื่องทุ่นแรง ไม่ช้าก็ถึงเส้นชัยได้เหมือนกัน
ขอให้ทุกคนวิ่งให้มีความสุข เก็บเป้าหมายระยะสั้นไปเรื่อยๆ ยอมรับในศักยภาพของแต่ละคน เด็กไม่เหนื่อยถ้าเขาสนุก ได้ใช้ชีวิตกับครอบครัวเราและครอบครัวอื่น มีความสุขกับการออกกำลังกายที่มีประโยชน์ทั้งกับตัวเอง และเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อคนอื่น ทุกอย่างจึงมีรายละเอียดสอดแทรกสอนเด็กๆ ทั้งการชวนแยกขยะ การเชียร์กัน การปรบมือ ฯลฯ งานวิ่งงานเดียวได้เรียนรู้มากมาย
แล้วพบกันงานวิ่ง Run for Plearn
29 กันยายน 2562 6.00 น.
ณ สวนพุทธมณฑลนะคะ
โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2562