การออกแบบการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อชีวิตผ่านงานภาคสนาม และ Day Trip
อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของคุณครูเพลินพัฒนา คือการจัดกิจกรรมภาคสนามให้กับนักเรียนที่มีเป้าหมายเชื่อมการเรียนรู้จากห้องเรียนสู่โลกจริง
เมื่อวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดงานวันนักประดิษฐ์ 2567
Thailand Inventors’ Day 2024 ในหัวข้อ “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนำประเทศ”
โดยงานนี้มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนที่มีความสามารถพิเศษด้านการประดิษฐ์คิดค้นวิจัยและนวัตกรรมได้ใช้ศักยภาพในการสร้างสรรค์และพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ให้เกิดการพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ และเป็นการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนมีพื้นที่แสดงผลงานและศักยภาพของตัวเอง
ในงานนี้มีการจัดนิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมมากกว่า 1,000 ผลงาน และ 1 ในผลงานน่าทึ่งเหล่านี้ มีผลงานของนักเรียนเพลินพัฒนาอยู่ด้วย คือ ใจดี เด็กหญิงรมิตา พรทาบทอง และ ผิงอัน เด็กหญิงณัฐชยา ยุกตานนท์ นักเรียนชั้น 9 กับผลงานสิ่งประดิษฐ์อุปกรณ์กักเก็บก๊าซมีเทนจากวัว
ผลงานสิ่งประดิษฐ์ของใจดีกับผิงอันเป็นผลงานที่มาจากการทำโครงงาน PBL ของโรงเรียน และได้ผ่านการคัดเลือกในการประกวดโครงงาน Thailand New Gen Inventors Award 2024 (I-New Gen Award 2024) เพื่อนำไปจัดแสดงนิทรรศการในงานระดับประเทศครั้งนี้ และให้ผู้ร่วมงานได้รับชม พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงเพื่อร่วมการประกวดชิงรางวัลชนะเลิศ และได้รับโอกาสต่อยอดงานประดิษฐ์ของตนกับบริษัทที่สนใจสนับสนุนเหล่านักประดิษฐ์ โดยชิ้นงานนี้เข้าร่วมการแข่งขันในกลุ่มพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ
จากการแข่งขันที่ต้องมีการนำเสนอที่บูธนิทรรศการ รวมถึงการนำเสนอต่อคณะกรรมการบนเวทีใหญ่ ใจดีและผิงอันได้รับรางวัลเหรียญทองแดงกลับบ้าน แต่มากกว่ารางวัลคือสิ่งที่ทั้งสองคนได้รับจากการไปเข้าร่วมงานวันนักประดิษฐ์ในครั้งนี้ และอยากจะร่วมแบ่งปันกับผู้อ่านทุกท่าน
เพราะอะไรจึงสนใจทำโครงงานนี้ ?
ใจดีเล่าว่า ประเด็นปัญหาใหญ่ที่ใจดีสนใจคือเรื่องของ ภาวะโลกร้อน และได้ทำการศึกษาเรื่องก๊าซที่สร้างภาวะโลกร้อนเพื่อนำมาทำเป็นโครงงาน PBL ก่อนหน้านี้ที่ได้ทำไปแล้วคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO₂ ในครั้งนี้จึงเลือกทำโครงการเกี่ยวกับก๊าซอันตรายตัวต่อมาคือ ก๊าซมีเทน CH₄ โดยผิงอันได้ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ก๊าซมีเทนมีความอันตรายต่อชั้นบรรยากาศมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 30 เท่า เมื่อเทียบในอัตราส่วนที่เท่ากัน และเมื่อศึกษาเพิ่มเติมจึงได้พบว่า 1 ในสิ่งมีชีวิตที่ปล่อยก๊าซมีเทนออกมาเยอะสุดคือ สัตว์เคี้ยวเอื้อง เพราะในกระเพาะที่ใหญ่ที่สุดจาก 4 กระเพาะของสัตว์เคี้ยวเอื้องนั้นจะมีแบคทีเรียที่ทำปฏิกิริยาและสร้างก๊าซมีเทนออกมา และที่เลือก วัว เป็นตัวหลักในการทำโครงงาน เพราะว่าคนเรานิยมรับประทานเนื้อวัว ซึ่งทำให้วัวเป็นสัตว์ใหญ่ที่มีจำนวนมากในฟาร์มปศุสัตว์ และวัวโตเต็มวัย 1 ตัวสามารถปล่อยก๊าซมีเทนได้มากถึง 300 – 600 ลิตรต่อวัน
ดังนั้นจึงมีความสนใจในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่จะช่วยกักเก็บก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นจากวัว ก่อนที่จะถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ โดยออกแบบอุปกรณ์มาในรูปแบบของตะพายที่สวมตรงจมูกวัว และมีกลไกในการดูดก๊าซที่วัวปล่อยออกมาทางจมูกไปกักเก็บไว้ในพื้นที่ปิด เพื่อเตรียมใช้สารละลายเอมีนในการแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากก๊าซมีเทน เพื่อนำก๊าซไปใช้ประโยชน์ต่อในรูปแบบของเชื้อเพลิงต่อไป ใจดีเสริมให้ว่า อุปกรณ์นี้จะใส่ให้วัวหลังวัวเพิ่งรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมงเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงเรื่องวัวจะไม่สบายตัว
มองการต่อยอดโครงงานนี้ไว้อย่างไรบ้าง ?
“หนูอยากให้อุปกรณ์นี้ได้ใช้งานจริงในโซนยุโรป” ผิงอันกล่าว เมื่อถามว่าทำไมถึงต้องเป็นโซนยุโรป ก็ได้คำตอบว่าเมื่อเทียบอัตราส่วนการเลี้ยงวัวของประเทศไทยกับประเทศแถบยุโรป พบว่าทางยุโรปมีการทำฟาร์มปศุสัตว์เยอะกว่า เนื่องจากอาหารการกินหลักๆ ของชาวยุโรปคือ เนื้อ นม เนย ชีส ซึ่งเป็นผลผลิตที่เกิดจากวัวทั้งสิ้น ซึ่งหมายความว่าปริมาณก๊าซมีเทนที่ถูกปล่อยออกมาจะสูงกว่าประเทศไทยแน่นอน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโครงงานนี้จะถูกใช้ในไทย โดยใจดีกับผิงอัน มีความคิดอยากได้มีโอกาสพูดคุย เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัยเพื่อพัฒนาอุปกรณ์นี้ให้ใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพในอุตสาหกรรม รวมถึงอยากร่วมมือกับบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องในด้านสิ่งแวดล้อม สัตว์ และด้านวิศวกรรม
แต่ในเบื้องต้น ตอนนี้ทั้งสองคนมีแผนจะปรับปรุงและพัฒนาชิ้นงานให้ดียิ่งขึ้นก่อน เพราะได้รับความคิดเห็นและคำแนะนำดีๆ จากผู้ร่วมงานในงาน I-New Gen มามากมาย บางท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัว ซึ่งทำวิจัยมามากกว่า 7 ปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ แรงดันในถังกักเก็บ ให้ระวังการไหลย้อนกลับ หรือ คำแนะนำเรื่องใบพัดที่เหมาะสมในการใช้งาน และแนวคิดเรื่องอุปกรณ์ที่กันน้ำ หากวัวดื่มน้ำระหว่างที่ใส่อุปกรณ์อยู่ ดังนั้นเด็กๆ จึงยินดีรับเอาความคิดเห็นเหล่านี้ไว้เพื่อพัฒนาต่อในอนาคต
ได้เรียนรู้อะไรจากการไปร่วมงาน I-New Gen ในครั้งนี้บ้าง ?
ทั้งใจดีและผิงอันตอบเหมือนกัน คือ “ได้เห็นว่าในฐานะนักประดิษฐ์ การมีชิ้นงานที่จับต้องได้ออกมาให้เห็นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะบางครั้งการมีแค่ไอเดีย คนอาจยังไม่เห็นภาพ” การได้เห็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ของคนอื่นๆ ในงานทำให้เปิดโลกทัศน์ว่า วงการนักประดิษฐ์นี้กว้างขวางเหลือเกิน ไอเดียดีๆ มากมายถูกนำมาประดิษฐ์และใช้งานได้จริงเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ มากไปกว่านั้น เด็กๆ ยังได้เรียนรู้เรื่องการคิดเชิงพาณิชย์สำหรับงานประดิษฐ์ด้วย ว่ามีความคุ้มค่า คุ้มทุนในการสร้างหรือไม่ ทำอย่างไรจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งทางคุณค่าและปริมาณ
ย้อนมองกลับมาที่โครงงาน PBL กระบวนการนี้สำคัญกับเรายังไงในฐานะนักประดิษฐ์ และชอบขั้นตอนใดที่สุดในกระบวนการนี้ ?
ผิงอัน : “หนูมองว่า PBL เป็นกระบวนการฝึกเราให้สามารถต่อยอดไปทำงานวิจัยได้ และหนูชอบขั้นตอนการ empathize หรือขั้นตอนการหาข้อมูล เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นงานไหนๆ ก็ต้องใช้การหาข้อมูล เราควรหาข้อมูลให้เป็นและถูกต้อง หนูได้เรียนรู้วิธีการหาข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์ หรือการทำแบบสอบถาม”
ใจดี : “PBL เป็นเหมือนเวทีเล็กๆ ที่ให้เราได้ฝึกซ้อมก่อนที่จะไปเจอเวทีใหญ่ๆ ที่เพลิน เราได้ฝึกการนำเสนอบ่อยมากจนทำให้ไม่ตื่นเวทีเมื่อต้องไปพูดที่เวทีอื่น และหนูชอบขั้นตอนการนำเสนอ เพราะเป็นความภูมิใจที่เราจะได้ออกมาเล่าถึงสิ่งที่เราสนใจ สิ่งที่เราค้นพบและให้เวลากับมัน”
ทั้งสองคนยังเล่าให้ฟังเพิ่มว่าบนเวทีของงาน I-New Gen มีเวลานำเสนอให้เพียงแค่ 3 นาทีเท่านั้น เมื่อเทียบกับของที่โรงเรียนที่ให้เวลาในการนำเสนอเต็มที่ แต่ทั้งสองคนก็สามารถเล่าข้อมูลที่สำคัญออกมาได้ใน 3 นาที แม้จะเสียดายเล็กน้อยที่ไม่มีโอกาสได้บอกเล่าข้อมูลน่าสนใจในโครงงานของตนมากกว่านี้
เด็กๆ ทิ้งท้ายว่า มีผู้สนใจไม่น้อยที่แวะเวียนเข้ามาชมโครงงานของตนแล้วชื่นชอบ ซึ่งเป็นกำลังใจสำคัญของทั้งสองคนให้อยากจะต่อยอดผลงานของตนไปให้ไกลขึ้นกว่าเดิม ขอบคุณนักประดิษฐ์ทั้งสองที่ช่วยทำให้เราเห็นว่า นวัตกรรมจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่าได้อย่างไร
“Innovation is the ability to see change as an opportunity – not a threat.” Steve Jobs Co-founder of Apple Inc.
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567