ชื่นใจ…ได้เรียนรู้ ช่วงชั้นที่ 2

ชื่นใจ..ได้เรียนรู้ ของช่วงชั้นที่ 2 ในภาคเรียนจิตตะนี้ เป็นช่วงกลางของการเดินทางก่อนเข้าสู่บทสรุปในภาคเรียนวิมังสา เด็กๆ ในแต่ละชั้นได้เรียนรู้และทำโครงงานวิจัยในหัวข้อที่หลากหลาย ซึ่งนับเป็นหน่วยประสบการณ์การเรียนรู้ที่บูรณาการมาจากหน่วยประสบการณ์มานุษฯ และธรรมชาติฯ ที่ใช้กระบวนการวิจัยในรูปแบบ Question Guess Test Review (OGTR) โครงงานเหล่านี้ล้วนมีส่วนในการช่วยคิดค้นหาคำตอบในการแก้ปัญหาให้กับแง่มุมต่างๆ ของสังคมที่เราอาศัยอยู่

ส่วนประกอบหลายส่วนในการทำโครงงานที่ช่วยสร้างการเรียนรู้แบบบูรณาการแก่เด็กๆ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เช่น การระบุที่มาของความสนใจ โดยเป็นการนำเรื่องใกล้ตัวมาตั้งคำถาม และทำเป็นวิจัยเพื่อจะได้เป็นสิ่งที่จับต้องได้ และหาข้อมูลหรือพิสูจน์สมมติฐานได้ง่าย เกิดการคิดเป็นระบบหรือลำดับ การต้องระบุข้อมูลสำคัญหรือความหมายสำคัญของคีย์เวิร์ดหลักในโครงงาน ก็ช่วยทำให้เด็กๆ ต้องค้นคว้าหาข้อมูลทั้งจากการไปภาคสนาม และข้อมูลจากแหล่งการเรียนรู้ประเภทต่างๆ แล้วกรองข้อมูลก่อนจะนำมาใช้ประกอบในการทำโครงงาน และการมองย้อนสะท้อนตน ก็เป็นส่วนสำคัญในการจะเห็นพัฒนาการรวมถึงข้อบกพร่องที่ต้องถูกแก้ไข การตระหนักรู้ในตนเองจะทำให้เด็กๆ ไปสู่ความรู้สึกชื่นใจได้ในที่สุด

  • ชั้น 4 “เมือง และ ชนบท”

เมื่อสังเกตครอบครัวของตนเอง เด็กๆ หลายคนอาจพบว่า ตนเองนั้นมีครอบครัวเดี่ยว ไม่ก็ครอบครัวใหญ่ หลายคนมีญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด และพบว่าลักษณะการดำเนินชีวิตในเมืองและชนบทนั้นมีความแตกต่าง ในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริโภค รายได้ การจับจ่ายใช้สอย ลักษณะที่อยู่อาศัย และความเชื่อวัฒนธรรม นักเรียนชั้น 4 จึงมีโอกาสได้สำรวจความแตกต่างนี้และเรียนรู้เพื่อเข้าใจสังคมชนบทและสังคมเมือง และหาคำตอบให้กับสมมติฐานงานวิจัยของตัวเอง

  • ชั้น 5 “ชาวนา ผู้ปลูกข้าว”

ข้าวที่เราได้รับประทานทุกมื้อ มีผู้เหน็ดเหนื่อยอยู่เบื้องหลัง ซึ่งนั่นก็คือ ชาวนา นี่คือสิ่งที่เด็กๆ ทุกคนได้เรียนรู้มาตั้งแต่ยังเล็ก แต่เด็กๆ ชั้น 5 ไม่ได้แค่เรียนรู้แต่ยังช่วยกันคิดหาวิธีช่วยเหลือชาวนาเหล่านี้ด้วยโครงงานวิจัยของตน หลังจากที่เด็กๆ ได้ลงพื้นที่เพื่อสังเกต เรียนรู้ และเก็บข้อมูลปัญหาต่างๆ ทุกอย่างจะถูกนำมาขยายเพื่อให้เห็นที่มาที่ไปและภาพชัดเจนด้วยการทำ Mindmapping และการสร้างผังเหตุและผล รวมถึงการระบุตัวแปรต้น และ ตัวแปรตามเพื่อจะได้สามารถหาวิธีแก้ไขที่ตรงจุด ตรงประเด็นอย่างแท้จริง เด็กๆ ได้นำสิ่งที่น่าสนใจ อย่างเช่น เทคโนโลยีสีเขียว และ หลักวิสาหกิจเพื่อความยั่งยืน เข้ามาเพื่อช่วยคืนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรมสู่คนปลูกข้าวอีกด้วย

  • ชั้น 6 “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์”

การท่องเที่ยวเป็นจุดขายอันดับต้นๆ ของประเทศไทย แต่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จำเป็นต้องมีมากกว่าแค่การท่องเที่ยว เด็กๆ ชั้น 6 ได้เข้าไปศึกษาในเรื่องนี้ เรียนรู้ความหมาย และวิธีการจัดการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากตัวอย่างในประเทศของเรา ควบคู่ไปกับการเรียนรู้อัตลักษณ์ทางภูมิสังคม-วัฒนธรรมของท้องที่ต่างๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ ดังนั้นโครงงานของนักเรียนชั้น 6 จึงทำให้เด็กๆ เป็นทั้งนักท่องเที่ยวและนักเรียนรู้ไปในตัว

การที่ทุกคนต้องออกมานำเสนอผลรวมและผลลัพธ์ในการเรียนรู้ผ่านการทำงานวิจัย ก็เพื่ออธิบายให้ผู้อื่นได้เข้าใจอย่างกระจ่างที่สุด และเกิดความพยายามที่จะนำเอาศักยภาพที่มีอยู่ในตนออกมาใช้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ นักเรียนจะได้ตระหนักถึงความสามารถและความพยายามที่ลงแรงไป ได้รู้จักตนเองมากขึ้นว่าตนถนัดอะไร ทำอะไรได้ดี ยังต้องพัฒนาเรื่องใด เมื่อเราฟังสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้และพัฒนา เราจะพบว่าเด็กๆ ได้รับประโยชน์ในเรื่องของการจัดระเบียบความคิดให้เป็นระบบ เป็นเหตุเป็นผล สามารถเชื่อมโยงสถานการณ์ต่างๆ หรือความรู้เข้าหากัน ได้เรียนรู้การตั้งสมมติฐานที่ดี สามารถจับประเด็น ย่อยความ สรุปความได้ดี และมีความต้องการที่จะรักษาคุณภาพการทำงานให้เรียบร้อยสม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพ และเพื่อท้ายที่สุดจะได้ชื่นใจกับการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 5 มกราคม 2567

We use cookies to enhance your browsing experience on our website. เราใช้คุกกี้เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงประสบการณ์การเข้าใช้งานเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น Privacy Policy.