เปิดมุมมองสร้างสรรค์สื่อยุคใหม่
นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมในมิติต่าง ๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและสังคมอยู่ตลอดเวลา ผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้าประเด็นที่ตนเองสนใจ
ผ่านมาครึ่งทางแล้วสำหรับ “การทำวิจัย” ของเด็กๆ ช่วงชั้นที่ 2 ประจำภาคเรียนวิมังสาที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วง HBLC คุณครูให้เด็กๆ เลือกหัวข้อที่ตนเองสนใจโดยให้อยู่ในขอบเขตเนื้อหาของหน่วยวิชาธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยา กับหน่วยวิชามานุษและสังคมศึกษา หัวข้อที่เด็กๆ เลือกวิจัยจึงมีความหลากหลาย เช่น
– การศึกษาเปรียบเทียบแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแบบสามเหลี่ยมปริซึม กับแบบทรงกระบอกว่าแบบใดป้องกันการกัดเซาะได้ดีกว่ากัน เพราะเหตุใด (จูเน่ 6/1)
– ผ้าของภูมิภาคทั้ง 4 ของไทยมีความเป็นมาอย่างไร และมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนสมัยก่อนอย่างไร (เอม 6/2)
– การออกแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้นักท่องเที่ยวได้ซึมซับสังคมวัฒนธรรมของชาวเชียงใหม่ (นิว 6/3)
– สาเหตุใดบ้างที่ส่งผลต่อวิวัฒนาการของดาวเทียมสื่อสารตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (ธันว์ /ไหม / ริญ 6/4)
ตลอดเส้นทางของการทำวิจัยสิ่งที่คุณครูให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากระบวนการเรียนรู้คือการ “สะท้อนตน” เพื่อให้งานวิจัยของเด็กๆ เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีแรงบันดาลใจที่จะทำวิจัยให้สำเร็จใน 3 บทแรก เมื่อย้อนกลับไปในภาคเรียนที่ผ่านมาเด็กๆ เริ่มต้นมาจากหาประเด็นที่สนใจ ตั้งคำถามวิจัย และค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้กำหนดคำถามได้ชัดขึ้น พอมาถึงภาคเรียนนี้เด็กๆ จะได้ศึกษาข้อมูลลงลึกในรายละเอียดมากยิ่งขึ้นคุณครูวรรณวรางค์ รักษทิพย์ (ครูเปีย) ครูมานุษและสังคมศึกษาได้บอกเล่าถึงการสะท้อนตนที่มีความสำคัญพอๆ กับการทำงานวิจัยว่า
“การสะท้อนตน เป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญที่ผู้เรียนปฏิบัติควบคู่กับการฝึกทำงานวิจัย ทุกขั้นตอนของการทำงานนี้ล้วนซับซ้อนและท้าทาย…เริ่มจากเปลี่ยนคำถามทั่วไปเป็นคำถามวิจัยก็ยากแล้ว… การได้ฝึกฝน เรียนรู้ ข้ามผ่านเส้นทางสร้างงานยากเช่นนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีเรียนรู้ของตนเอง (learn how to learn) การสะท้อนตนผ่านการเขียนบันทึกอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ทำให้เห็นวิธีคิด วิธีเรียนรู้ เห็นจุดแข็ง และสิ่งที่ยังต้องฝึกฝนต่อ เมื่อเดินทางไปสักพัก และได้กลับมาทบทวนบันทึกสะท้อนคิดของตนเอง ย่อมทำให้ได้ย้อนมองการเรียนรู้ของตนเองในวันก่อนหน้า เพื่อวางแผนก้าวใหม่ให้ไกลและมั่นคงยิ่งกว่าเดิม”
รู้ใดไม่เท่ารู้จักตัวเอง เสริมจุดแข็ง พัฒนาจุดอ่อน เพราะเด็กๆ แต่ละคนมีดีที่ต่างกัน ขอให้สนุกกับการทำวิจัยนะคะ
โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564