โอกาสและความหวัง บ้านกาญจนาภิเษก | มัธยม ฉันทะ 2567

หลายครั้งที่เราเคยเห็นคดีอาชญากรรมที่ก่อโดยเยาวชน และหลายครั้งที่เรามักตีตราไว้ว่าพวกเขาเป็นปีศาจ คดีที่หลายคนน่าจะรู้จักและให้ความสนใจอย่างมากคือคดีป้าบัวผัน จนนำมาสู่กระแสการแก้กฎหมายเยาวชน แต่ถามว่าการแก้กฎหมายเยาวชนสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ พวกเรามักมองประเด็นนี้อย่างผิวเผินจนเกินไป เรามองมันผ่านกรอบแว่นค่านิยมของสังคม แต่หากเพียงแค่เราก้าวถอยออกมาจากกรอบแว่นนี้ เราจะเห็นว่าปัญหามันซับซ้อนลงไปมากกว่าที่เราเห็น เรามักตัดสินเด็กเหล่านั้นด้วยอคติ ปิดโอกาสให้เขาเติบโตแถมซ้ำเติมเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเผลอผลิตเด็กที่สังคมตีตราว่า “แย่” ออกมาอีกนับไม่ถ้วน ท่ามกลางความคิดเหล่านี้กลับมีความคิดที่แตกต่าง เป็นสถานที่แห่งหนึ่งและบุคคลคนหนึ่งที่ถอยออกมาจากกรอบแว่นของสังคม ยื่นมือไปเพื่อเสนอโอกาสให้แก่เด็กเหล่านั้น และที่นี้คือ “บ้านกาญจนาภิเษก”

พวกเรามีโอกาสได้นั่งล้อมวงคุยกับพี่ที่เคยอาศัยอยู่ในบ้านและออกไปแล้วพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง พี่เขาเกิดมาในครอบครัวที่ไม่อบอุ่น ใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ หันไปทางไหนก็เจอแต่ความมืด ทั้งเสพติดยา ค้ายาหรือข่มขืน จนเขามองว่าคนที่ไม่ทำอย่างเขานั้นผิดแปลก พวกเขาไม่เคยมีทางเลือก พวกเขาไม่เคยได้สัมผัสกับคำว่า “โอกาส” แม้อยากจะปืนออกจากหุบเหวลึกสุดท้ายก็ร่วงลงไปสู่จุดเริ่มต้นอยู่ดี พวกเขาเข้าออกสถานพินิจนับครั้งไม่ถ้วน พวกเขาพูดไว้ว่า “ที่แห่งนั้นไม่ได้ทำให้พวกเขาดีขึ้น มีแต่ทำให้กลัว และลดทอนความเป็นมนุษย์”

จนพวกเขาได้ก้าวเข้ามาสู่บ้านกาญจนาภิเษก บ้านที่ไร้เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ ไร้กุญแจมือ ไร้การกดขี่ มีเพียงอ้อมแขนที่พร้อมจะโอบกอดพวกเขาด้วยความอ่อนโยน พวกเขามองว่ามันแปลก สถานที่นี้มันง่ายมากที่จะหนีออกไป พวกเขาเกิดเสียงที่ตีกันในหัวว่าจะอยู่หรือไป แต่สุดท้ายพวกเขาเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ พวกเขาได้ทบทวนความผิดพลาดของตัวเองและปลอบโยนตัวเอง

ถ้าทุกที่คือความมืดมิด ป้ามลคงเป็นแสงสว่างสำหรับพวกเขา นี้คือสิ่งที่พวกเราคิด ในสังคมที่ก่นด่าเขาว่าปีศาจ กลับมีคนคนหนึ่งยืนหยัดว่า ไม่มีมนุษย์คนไหนเกิดมาเป็นปีศาจ

ในฐานะที่พวกเราเองก็เป็นเยาวชนคนหนึ่งแม้ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่ได้รับรู้ถึงความหวังดีของป้ามล พวกเราสัมผัสได้ถึงความอบอุ่น รู้สึกถึงมืออันอ่อนโยนที่ยื่นเข้าหาเด็กที่เป็นผู้แพ้ในสังคม พร้อมที่จะช่วยดึงเราออกจากหุบเหวลึก ป้ามลกำลังต่อสู่กับกระแสต่อต้านจากสังคมมาอย่างต่อเนื่อง

ถึงเวลาที่พวกเราเองก็ควรหันมาทบทวนถึงปัญหา เราควรต้องตั้งคำถามกับสังคมว่า เราต้องโทษแค่เด็กพวกนั้นเหรอ มันคือพวกเราหรือเปล่าที่ตีตราพวกเขาว่าไร้ความเป็นมนุษย์ จนสร้างผู้แพ้ขึ้นมาในสังคมอีก แท้จริงแล้วใครกันแน่ที่ไร้ความเป็นมนุษย์ ? คือเราหรือเปล่าที่ตั้งค่านิยมแปลก ๆ ? คือเราหรือเปล่าที่ละเลยปัญหาเชิงโครงสร้าง เหมือนกำลังก่อสร้างตึกที่สวยงามเพียงแค่เปลือก แต่เสาเข็มชั้นแรกยังไม่มั่นคงเลย

หากพวกเขาได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่าทางเลือก โอกาส และความหวัง พวกเขาจะยังเดินหน้าไปในทางที่ผิดหรือไม่

สุดท้ายพวกเราไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าเราควรจัดการอย่างไรกับปัญหาคดีเยาวชนเหล่านี้ เพราะพื้นหลังเด็กแต่ละคนต่างกัน เราไม่สามารถใช้มาตรฐานใดมาตรฐานหนึ่งต่อเด็กทั้งประเทศได้ เพราะเด็กหนึ่งคนไม่เท่ากับเด็กทุกคน

พวกเราอยากจะฝากความหวังหนึ่งเสียงเล็ก ๆ จากบ้านกาญจนาภิเษกไว้ว่า “หากคุกคุมเข้มน้อยลง แล้วมีบ้านแบบนี้เพิ่มขึ้นก็คงจะดี…” แม้ว่ามันอาจจะต้องใช้เวลา แต่ได้โปรดสร้างโอกาสให้เด็กที่ไร้โอกาสด้วยเถิด

บทความโดย “แทนย่า” ชั้น 11
ผู้ซึ่งสนใจเรียนรู้มิติทางสังคมในแง่มุมต่างๆ

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2567