เทศกาลสัปดาห์รักการอ่านช่วงชั้นอนุบาล 67
ความอบอุ่นจากจินตนาการ และแรงบันดาลใจดีๆ ที่จะช่วยพัฒนาอารมณ์และสังคมของเด็กๆ หนังสือนิทานจึงไม่ใช่แค่เรื่องเล่าแต่เป็นสายใยที่เชื่อมโยงความรักในครอบครัว
เริ่มวิชาประวัติศาสตร์ ชั้น 9 ในการเรียนแบบ HBLC (Home-based Learning Community) การเรียนรู้ที่ใช้บ้านเป็นฐานการเรียนรู้ ท่ามกลางการระบาดของโควิดรอบ 3 ที่ทำให้ต้องเรียนรู้จากที่บ้านเมื่อต้องใช้บ้านเป็นการการเรียนรู้ การเรียนรู้จึงจำเป็นต้องสัมพันธ์กับบ้าน วิชาประวัติศาสตร์จึงเริ่มต้นด้วยการชวนนักเรียนเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “ประวัติศาสตร์” จากสิ่งของในบ้าน ผ่านกิจกรรม “ค้นหาสิ่งของที่มีอายุมากที่สุดในบ้าน” โดยให้นักเรียนแยกย้ายกันไปหาสิ่งของที่คิดว่ามีอายุมากที่สุด เขียนตอบคำถามสั้นๆ ตามโจทย์การเรียนรู้ และแชร์ให้เพื่อนๆ ในห้องเห็นว่าไปหยิบของอะไรกันมาบ้าง
หลังจากที่ทุกคนกลับมาจากการไปค้นหาสิ่งของในบ้าน พบว่ามีสิ่งของที่หลากหลายมาก อายุของสิ่งของที่นำมาก็มากไปจนถึง 100 กว่าปี เช่น ขัน ที่เขี่ยบุหรี่ ไม้พายทำขนม กาน้ำชา เชิงเทียน นาฬิกา เก้าอี้ ตู้เสื้อผ้า ตุ๊กตา พระบูชา กะเพาะปลา และอื่นๆ อีกหลายชิ้น
โฟกัสของห้องเรียนกลับมาอยู่ที่ “ขัน” ของนักเรียนคนหนึ่ง นักเรียนเล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่า ขันใบนี้เป็นของคุณตาทวด โดยที่ก้นของขันสลักชื่อเอาไว้ว่า ร.ต. ____ – ____ นักเรียนอ่านชื่อคุณตาทวด และชื่อหลังขีด โดยบอกว่าน่าจะเป็นนามสกุลเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว และขันนี้น่าจะใช้ใส่ข้าวตักบาตรมาก่อน
ทีนี้เลยชวนนักเรียนมารู้จักขันใบนี้กันมากขึ้น ด้วยการชวนกันสันนิษฐานเรื่องราวของขันใบนี้จากร่องรอยที่ปรากฎอยู่บนขัน เริ่มจากชื่อก่อน ร.ต. น่าจะเป็นยศ “ร้อยตรี” คุณตาทวดน่าจะเป็นทหาร ชื่อแรกเป็นชื่อของคุณตาทวด และชื่อหลังขีด ไม่น่าจะใช่นามสกุล แต่อาจจะเป็นชื่อคุณยายทวด (บอกนักเรียนว่าลองไปถามจากคนในบ้านดูอีกทีนะ) และขันใบนี้ไม่น่าจะใช่ขันที่ใช้งานทั่วไป น่าจะเป็นขันที่เป็นของที่ระลึกในวันแต่งงานของคุณตาทวดและคุณยายทวด และตัวเลข ๒๔๕๖ บนขันน่าจะเป็นปี พ.ศ.ที่คุณตาทวดและคุณยายทวดแต่งงานกัน
มาถึงตรงนี้เริ่มเห็นภาษากายของนักเรียนหลายคนอมยิ้มแบบเขินๆ คงแบบฟิลความรักแหละ
ก็เลยสรุปว่าขันใบนี้คือ “ขันแห่งความรัก” เป็นตัวแทนพยานความรักของคุณตาทวดและคุณยายทวด เพราะฉะนั้น ขันใบนี้จึงมีความหมายกับบ้านหลังนี้มากๆ
ยังมีเรื่องราวอีกมากมายของขันใบนี้ที่เรายังไม่รู้ และยังมีสิ่งของอีกมากมายที่ยังรอการค้นพบและมอบความหมายที่งดงามให้กับปัจจุบัน
ก่อนจบคาบเรียนให้นักเรียนได้ reflect การเรียนรู้ในวันนี้ นักเรียนหลายคนสะท้อนในลักษณะคล้ายๆ กันว่า สิ่งของทุกสิ่งมีเรื่องราว มีความหมายต่อผู้ใช้เสมอ และมันก็มีความเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาด้วย
การเรียนรู้ในวันนี้เพื่อที่จะบอกกับทุกคนว่า “ประวัติศาสตร์ คือ อดีตและความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่/สิ่งของ ผู้คน เวลา ที่มีความหมายกับปัจจุบันและอนาคต”
เเม้ไม่ได้เจอกันในห้องเรียนจริงๆ แต่การเรียนรู้นี้ยังคงสร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมให้กับทุกคน ทำให้ทุกคนได้มีปฏิสัมพันธ์ในการแลกเปลี่ยนเรื่องราวกัน และได้ใช้ร่างกายเคลื่อนไหวลุกขึ้นไปค้นหาสิ่งของด้วยเป็นการเริ่มต้นที่งดงาม มีความหมาย และมีความสุข
ขอบคุณเรื่องราวดีๆ จาก คุณครูสิปปกร จันทร์แก้ว (ครูแอร์) ฝ่ายมัธยมด้วยนะคะ
โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2564