เปิดมุมมองสร้างสรรค์สื่อยุคใหม่
นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมในมิติต่าง ๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและสังคมอยู่ตลอดเวลา ผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้าประเด็นที่ตนเองสนใจ
เด็กๆ ที่จบจากเพลินพัฒนาหลายต่อหลายคนเมื่อกลับมาพบปะกับครู มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ที่นี่เหมือน Sand Tray ให้เราได้ฝึกล้ม ลองผิด ลองถูก ได้ทำอะไรหลายๆ เรื่องเหมือนในชีวิตจริงที่ได้เจอ จะแตกต่างกันอยู่บ้างก็ตรงที่เมื่ออยู่ในโรงเรียนพอล้มก็ยังมีคุณครู มีคุณพ่อคุณแม่คอยช่วยชี้แนะ การที่ได้ผ่านประสบการณ์ ได้ลองคิด ลองทำ กิจกรรมต่างๆ ที่โรงเรียน ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งความสำเร็จและความผิดพลาดทำให้ตัวเขาได้มีแนวทางแก้ปัญหาที่หลากหลาย เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์จริงจึงช่วยให้ปรับตัวได้ง่ายขึ้นมากๆ … หนึ่งในกิจกรรมที่เด็กๆ ต่างพูดถึงคืองานลมข้าวเบา…เงาเดือนเพ็ญ พื้นที่และโอกาสให้เด็กๆได้ฝึกฝนตนเอง
ขอส่งท้ายเรื่องราวการเรียนรู้ในงานลมข้าวเบา เงาเดือนเพ็ญ 2566 ของเด็กๆ ในหลากหลายแง่มุม
ปีนี้คณะทำงานเปิดโอกาสให้กับนักเรียนสมัครเข้ามาร่วมเป็นพิธีกร เพื่อสร้างประสบการณ์ให้เด็กๆได้ฝึกฝนตนเอง โดยมีคุณครูและผู้ปกครองที่มีความเชี่ยวชาญคอยช่วยให้คำปรึกษาและให้การแนะนำอย่างใกล้ชิด
จุดเริ่มต้นของเหล่าพิธีกรภาคสนามวัยประถมในปีนี้มาจาก “น้องฟ้าใหม่” เด็กหญิงชั้นประถมปลายที่มีความสนใจอยากลองทำหน้าที่พิธีกรภาคสนามในงานลมข้าวเบาเมื่อปีที่ผ่านมา หลังจากได้ทำแล้วสร้างความมั่นใจให้น้องเห็นถึงคุณค่าในการพัฒนาตนเองเป็นอย่างมาก ดังนั้นในปีนี้ทางทีมจัดงานจึงเปิดโอกาสให้แก่เด็กๆ ได้สมัครเป็นพิธีกรภาคสนาม โดยขอให้ส่งคลิปวิดีโอการนำเสนอของตนเองในหัวข้อที่กำหนดมาให้คณะกรรมการพิจารณา ในที่สุดก็ได้พิธีกรภาคสนามมือใหม่ แต่มีของมาถึง 6 คน ได้แก่ น้องแฟลร์ น้องแม็คก้า น้องบูมบูม ชั้น 5 น้องโอโซน น้องมีอา จากชั้น 4 และน้องเล็กสุด คือน้องบรู๊ค ชั้น 3
ก่อนถึงวันงาน เด็กๆ ได้มาประชุมร่วมกับทีมผู้ปกครองภาคสนาม เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับงานลมข้าวเบา และ หน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละคน ในครั้งนี้มีทั้งเด็กที่ทำงานคู่กับผู้ปกครองภาคสนาม รวมถึงคู่เด็กด้วยกันเอง โดยมีผู้ปกครองที่เป็นหัวหน้าทีมภาคสนามตามประกบอีกทีหนึ่ง
เด็กๆ เตรียมตัวกันมาอย่างดี ทั้งการฝึกซ้อมการพูด เขียนบท แบ่งบทร่วมกับผู้ปกครองที่เป็นคู่ของตน อีกทั้งยังแต่งกายด้วยชุดไทยอย่างสวยงาม แต่เมื่อถึงเวลาขึ้นเวทีจริง อาจมีบ้างที่มีอาการประหม่า แต่เด็กๆ ก็สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ แต่มากกว่าความสามารถ คือ พลังใจสู้ แม้ว่าอากาศจะร้อนจนทำให้หนึ่งในพิธีกรภาคสนามรุ่นจิ๋วของเราเวียนหัว เกือบจะเป็นลมไปหนึ่งคน แต่ในช่วงเย็นเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ก็รีบกลับมาหาคุณครูเพื่อขอทำหน้าที่ต่ออีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงของคู่พิธีกรเด็กที่รับช่วงต่อพอดี จึงทำให้ในตอนเย็นของงานวันที่ 2 ผู้ร่วมงานหลายท่านอาจจะได้เห็นภาพน่ารักๆ เป็นเด็กน้อย 3 คน ถือไมโครโฟนเดินไปทั่วงาน เพื่อสัมภาษณ์บรรดาผู้ปกครองที่มาร่วมงาน
หลังจบงาน เสียงชื่นชมมากมายส่งถึงเด็กๆ รวมถึงเหล่าผู้ปกครองอาสาที่มาร่วมเป็นพิธีกรคู่กับเด็กๆ ในงานปีนี้ สำหรับเด็กๆ พิธีกรเองก็ได้สะท้อนตนว่า การได้มาเป็นพิธีกรภาคสนามในปีนี้เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และได้ฝึกฝนตัวเอง ทั้งในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ การสื่อสารความให้ครบถ้วนและตรงประเด็น ถือเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าสำหรับเด็กๆ มาก
ในส่วนของพี่ใหญ่มัธยมที่ในปีนี้ได้มีโอกาสเป็นพิธีกรเวทีใหญ่ ในวันสุดท้ายของงาน ล้ำ และ ปริญญ์ จากชั้น 11 มาในชุดไทยคู่สีทอง ประดับด้วยรอยยิ้มที่พาให้ทุกคนตั้งใจชมและฟังสิ่งที่เด็กๆ กล่าว เบื้องหลังความสำเร็จนี้ เริ่มต้นตั้งแต่การที่คุณครูช่วงชั้นมัธยมได้คัดเลือกทั้งสองคนมาเพื่อรับหน้าที่ในปีนี้ และได้เขียนบทพูดของตน ร่วมกับคุณครูภาษาไทย ทำการฝึกซ้อมและเข้าประชุมร่วมกับทีมพิธีกรและทีมแบ็คสเตจ และแม้จะมีกำหนดการที่ปรับเปลี่ยน หรือมีเหตุการณ์เฉพาะหน้า เด็กๆ ก็จัดการได้ เป็นแบบอย่างให้กับน้องๆ พิธีกรภาคสนามวัยประถมได้อย่างดี
การเป็นพิธีกร ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรภาคสนาม หรือ พิธีกรเวทีใหญ่ ล้วนแต่ต้องอาศัยทักษะหลากหลาย ที่สำคัญคือ ต้องมีความมั่นใจในตัวเองและเชื่อใจเพื่อนร่วมทีมของตน ไม่ว่าจะอยู่วัยไหนประสบการณ์เหล่านี้จะเป็นของใหม่ทุกครั้ง และเป็นการเพิ่มชั่วโมงบินของตนเองในการทำงานสายนี้ ผู้ปกครองและคุณครูที่ให้คำปรึกษามุ่งหวังให้เด็กๆได้ฝึกฝนตัวเอง ได้เห็นภาพจำที่ดีและเรียนรู้จากผู้ใหญ่ พร้อมเติบโตไปอย่างเต็มศักยภาพ
Backstage หรือผู้ดูแลเวทีการแสดงทั้งหมด งานนี้มีขอบเขตของงานเริ่มต้นตั้งแต่การวางกำหนดการการแสดงบนเวที ทั้งบนเวทีใหญ่ที่เป็นรายการหลัก และ เวทีเล็กสำหรับรายการภาคสนาม ดูแล กำกับให้แต่ละรายการเป็นไปอย่างเรียบร้อย ตรงเวลา มีการติดต่อประสานงาน ดูแลนักแสดง พิธีกรและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงการดูแลบริเวณรอบๆ เวที ให้อยู่ในความเรียบร้อย
งานส่วนนี้จะต้องทำงานประสานกับทีม light and sound หรือทีมเครื่องเสียงด้วย ดังนั้นในปีนี้ ขณะที่ทางช่วงชั้นมัธยม มีวิชาเปิดใหม่ คือวิชา backstage ทางทีมจัดงานก็เล็งเห็นว่า ควรให้งานลมข้าวเบาครั้งนี้ เป็นโอกาสในการฝึกฝนตนเองล่วงหน้า สำหรับนักเรียนชั้น 9 ที่จะต้องทำการจัดงานมหกรรมดนตรีที่จะมีขึ้นในอีกไม่ช้า ทันทีที่ขอทีมงานช่วยจึงมีนักเรียนชั้น 9 อาสามาช่วยงานฝ่าย backstage มากถึง 18 คน โดยแต่ละคนเลือกส่วนงานที่ตนสนใจ ได้แก่ ทีม guard ทีมประสานงาน และทีม control
ทีม guard – ดูแลความเรียบร้อยรอบๆ เวทีเป็นหลัก ทั้งการช่วยเตรียมอุปกรณ์การแสดงต่างๆ ดูแลขณะที่นักแสดงขึ้นลง ดูแลความเรียบร้อยหลังเวที และหน้าเวที ไม่ให้มีเด็กเล็กปีนป่ายเวที หรือ มีผู้ชมบังทัศนวิสัยของผู้ชมท่านอื่นๆ เป็นหน้าที่ที่ใช้พลังกายค่อนข้างมาก และอาศัยทักษะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงทักษะการสื่อสารและมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
ทีมประสานงาน – ช่วยกำกับรายการให้เป็นไปตามกำหนดการ ดูแลความเรียบร้อยของนักแสดงในช่วงเตรียมตัวก่อนขึ้นแสดง ดูแลพิธีกร และคอยประสานงานเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการ หรือ มีเหตุฉุกเฉินที่ต้องแก้ไข และปรับเปลี่ยนหน้างาน เด็กๆ จะได้ฝึกฝนตัวเองในเรื่องของการจัดการ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ต้องมีไหวพริบและความไว อาศัยความคล่องตัวและตื่นตัวตลอดในการทำงาน
ทีม control – ทำงานร่วมกับทีมเครื่องเสียง และ แสงสีเสียง แม้ปีนี้เด็กๆ อาจไม่ได้มีโอกาสลงไปเรียนรู้อย่างละเอียดเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องเสียงเนื่องจากมีความสลับซับซ้อน แต่การได้เห็นมืออาชีพทำงานจริง และยินดีให้ข้อมูลทุกแง่มุมกับเด็กๆ เมื่อสอบถาม จึงเป็นโอกาสอันดีที่เด็กๆ จะได้ข้อมูลเชิงลึก อีกทั้งยังได้มีโอกาสเห็นอุปกรณ์ที่หลากหลายในหน้างานด้วย
ก่อนวันงาน ทีมbackstage ได้มีการนัดประชุมกันก่อนกับเด็กๆ เพื่อสร้างความเข้าใจในตัวเนื้องาน และ ความเป็นลมข้าวเบา รวมถึงถามเป้าหมายและความคาดหวังจากเด็กๆ และแนะนำให้รู้จักหัวหน้าทีมที่เป็นผู้ปกครอง และ คุณครู รวมถึงแบ่งหน้าที่กันให้เรียบร้อย
ในช่วงวันแรก เด็กๆ ทั้ง 3 ทีมยังคงปรับตัวกับหน้างาน ประกบคุณครูทีม stage และเป็นผู้ช่วยให้การทำงานราบรื่น แต่เมื่อเข้าวันที่ 2 และ 3 เด็กๆ สามารถทำหน้าที่ได้ดี โดยมีความรับผิดชอบ ทำตามสิ่งที่ได้รับมอบหมาย และสามารถแก้ปัญหาได้เอง โดยที่คุณครูไม่ต้องช่วยเหลือ แม้จะเหนื่อย แต่เด็กๆ ก็สนุกกันมาก และมีการส่งไม้ต่อกันกับเพื่อนๆ คนอื่นๆ ที่จะมาทำงานแทนในวันต่อๆ ไป ด้วยการบอกเล่า และให้เทคนิคกับเพื่อนๆ การทำงานเป็นทีม ทำให้การทำงาน backstage ของเด็กๆ เป็นงานที่สนุกมาก อีกทั้งเด็กๆ หลายคน ไม่ได้สะดวกมาช่วยแบบเต็มเวลา เพราะว่า มีหน้าที่ต้องไปช่วยขายของที่ร้านหมู่สีของตน แต่ก็ยังขอมาช่วยงานทีม backstage ด้วยแม้ว่าจะมาได้แค่ชั่วโมงเดียวก็ตาม นับถือหัวใจที่เต็มใจจะทำงานใหญ่จริงๆ การได้เห็นความทุ่มเทของเด็กๆ ในทุกๆ วัน ทำให้คุณครูและผู้ปกครองในส่วนงานนี้ภูมิใจ และอยากจะขอชื่นชมทุกคนจากใจจริง
การออกร้านขายของในงานลมข้าวเบาเงาเดือนเพ็ญ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทั้งนักเรียน ครู ผู้ปกครองตั้งตาคอย ปีนี้มีร้านค้าที่เด็กๆ เข้ามามีส่วนร่วมมากกว่า 30 ร้าน ทั้งร้านค้าที่คุณครูเปิดร่วมกับเด็กๆ พ่อแม่ชวนเด็กๆ มาขาย หรือพี่มัธยมรวมตัวกันเพื่อหาทุนในการทำงานกีฬาแดงชาด และจัดงานมหกรรมดนตรี
สำหรับพี่ๆ นั้นโจทย์ในการหาทุนมีความท้าทายแตกต่างกันไปในแต่ละระดับชั้น ดังนั้นใน 3 วันนี้จึงต้องประเมินหลายๆ ด้านเพื่อทำของขายให้เพียงพอกับผู้ซื้อ รสชาติดีคงที่ เพื่อให้ลูกค้ามาอุดหนุนในวันต่อไป ก่อนมาขายต้องซ้อมมือ ปรุงสูตรอาหารคาวหวาน ขนม เครื่องดื่มจนรสชาติเข้าที่ หลังจบงานแต่ละวันร่วมพูดคุยวางแผนการทำงานเพื่อเตรียมวัตถุดิบในวันถัดไป ขณะเดียวกันการช่วยเหลือกันในทีมก็เป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้ทุกคนไม่ล้าจนเกินไป ทุกร้านมีลูกค้ามาต่อคิวยาวแทบทุกวัน
ในมุมของน้องๆ ประถม มีคุณพ่อ คุณแม่คอยดูแลเรื่องความปลอดภัย เตาร้อนต่างๆให้ ส่วนหน้าที่ปรุง หน้าที่ขาย ยกให้เด็กๆ ได้ทดลองทำ เช่นร้านขายขนมปังปิ้งร้านนี้
“ คณะเราเลือกขายขนมปังปิ้ง ขายดีมากมาย วันเเรกยืนตั้งเเต่เปิดร้านจนถึงปิดร้าน เด็กๆสู้มาก มีทีมงานสับเปลี่ยนมาเเวะเวียนช่วยกันทุกวัน ยิ่งเพื่อนๆมาอุดหนุนยิ่งดีใจ เด็กๆช่วยกันเป็นทีมเวิร์คที่ดี ง้องเเง้งกันบ้าง สักพักก็กลับมาช่วยกันต่อสลับหน้าที่กันไป งานลมข้าวเบาปีนี้เเทบจะไม่ได้เก็บบรรยากาศในงานเลย ประจำการอยู่ที่บูทเป็นส่วนใหญ่ เหนื่อยทุกวัน เเต่โดยรวมเด็กๆสนุกได้จุดประกายอะไรหลายๆอย่าง เเม่ทนด้ายยยย ในส่วนปีหน้านั้น บูทยังไม่มีแต่มีทีมงานเด็กๆมาจับจองหน้าที่เเล้วว่าจะขายอะไรดี ”
ขณะที่ร้านขายข้าวไข่เจียวของน้องธัญญ่าและผองเพื่อน คุณแม่ก็สะท้อนไว้น่าประทับใจ
“ การออกร้านลมข้าวเบาครั้งที่ 2 กับเพื่อนรัก ได้แบ่งหน้าที่การทำงาน ไปซื้อของ เตรียมวัตถุดิบ รวมถึงมาตั้งร้านช่วงพักกลางวัน ที่ปกติจะได้ออกไปเล่น แต่ก็มาช่วยตั้งร้านกันอย่างแข็งขัน ระหว่างขายของ มีเพื่อนๆ ชวนไปวิ่งเล่นตลอดทั้งงาน สิ่งที่ได้ยินคือ ทอดไข่หมดก่อนเดี๋ยวออกไปเล่นด้วย ยืนทอดไข่จนขาแข็ง ตั้งแต่ 15.45 -18.00 เกือบทุกวัน พอไข่หมดเก็บร้านได้วิ่งสนุกกับเขาหน่อย เพื่อนก็ทยอยกลับกันแล้ว แต่ไม่เป็นไร แค่นี้ก็สนุกมากแล้ว เป็น 3 วันที่สนุกมากๆ จบงาน นั่งนับเงิน คืนทุน ตอนเห็นกำไรมีท้อบ้าง ได้เรียนรู้คำว่า “หุ้นส่วน” และ “แบ่งปัน” จบงาน มีลูกค้าประจำเยอะเลย แค่นี้ก็ภูมิใจแล้วค่ะ สนุกสนานได้เรียนรู้ ”
ทางด้านร้าน “กับข้าวกับปลา” ที่คุณครูและนักเรียนช่วงชั้นที่ 2 มาเปิดครัวนึ่งข้าวเหนียว พร้อมด้วยเมนูปลาและหมูทอด ไฮไลท์อยู่ที่ส้มตำทำเอง มีครกวางเรียงรายรอลูกค้ามาตำ มาปรุง คลุกเคล้า ได้รับความนิยมตั้งแต่เด็กเล็กวัยอนุบาลไปจนถึงผู้ปกครองมาต่อคิวรอตำส้มตำกันแน่นร้าน นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น ภายในงานยังมีสีสันความน่าลิ้มชิมรสของแต่ละร้านแตกต่างกันไป
หลังจบงานวันสุดท้ายสิ่งที่โรงเรียนปลูกฝังกับเด็กๆ เสมอคือเรื่องของการให้และการแบ่งปัน รายได้ส่วนหนึ่งที่เด็กๆ ได้รับจากการขายของเชิญชวนร่วมบริจาคเข้ากองทุนศิลปวัฒนธรรมไทยเพื่อเป็นทุนในการจัดงานในปีต่อๆไป
ในทุกรายละเอียดของงาน ทีมงานทุกคนต่างช่วยกันระดมความคิด ลงแรง ลงใจกันอย่างเต็ม สิ่งที่จะเป็นกำลังใจให้กับคณะทำงานคือการได้ขับเคลื่อนให้งานนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น สวยงาม อย่างไรก็ตามภายใต้การทำงานมีความจำเป็นที่ต้องใช้ทุนจำนวนไม่น้อยไม่ว่าจะเป็นการจัดเวที แสงสีเสียง การแสดงอันทรงคุณค่าหาชมยาก หรือการละเล่นต่างๆ ดังนั้นทุนส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้การจัดงานใหญ่ประจำปีลุล่วงไปได้ด้วยดีก็มาจากการร่วมแบ่งปันกันเพื่อส่วนรวมนี่เอง
ขอขอบคุณทุกร้านที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงาน ช่วยเติมเต็มบรรยากาศแสนอิ่มเอม ให้ทุกคนได้อิ่มท้อง ทั้งได้อิ่มใจไปกับการร่วมบริจาคสมทบเข้ากองทุนฯ เทศกาลแห่งความสุขนี้นอกจากจะพาพี่น้องชาวเพลินพัฒนามาพบปะ ได้ยิ้ม ได้หัวเราะไปด้วยกัน ยังเป็น Sand Tray ของเด็กๆ ที่ให้ทั้งพื้นที่เล่น พื้นที่เรียนรู้ และพื้นที่ฝึกฝนการทำงานไปพร้อมๆ กัน
แล้วพบกันใหม่ปี 2567 นะคะ
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2566