เปิดมุมมองสร้างสรรค์สื่อยุคใหม่
นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมในมิติต่าง ๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและสังคมอยู่ตลอดเวลา ผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้าประเด็นที่ตนเองสนใจ
ภาษาและลีลาการเขียน “จดหมายข่าวบ้านฉัน” ที่เด็กๆ ชั้น 6 ได้ฝึกฝนในหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย นอกจากทักษะภาษา การลำดับเรื่องราวที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ ยังเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ ได้สะท้อนสิ่งที่อยากบอกเล่า ความประทับใจที่มีต่อสมาชิกในครอบครัวเรียงร้อยผ่านตัวหนังสือด้วยการเขียน หรือพิมพ์ตามถนัด ก่อนตกแต่งจดหมายข่าวฉบับนี้ให้สวยงามดึงดูดความสนใจผู้อ่านซึ่งก็คือสมาชิกในบ้าน คุณพ่อ คุณแม่ พี่ หรือน้องนั่นเอง
“จดหมายข่าว” พื้นที่การสื่อสารที่บางครั้งอาจถูกมองข้ามเพราะมีช่องทางการสื่อสารอื่นที่เข้าถึง และรวดเร็วมากกว่า แต่ความได้เปรียบของการสื่อสารรูปแบบนี้ช่วยให้แต่ละถ้อยคำที่เด็กๆ เขียนลงไปผ่านการคิดตริตรอง ค่อยๆ คิด ค่อยๆ เขียน แม้บางเรื่องจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่กลับเป็นเรื่องที่เขาจดจำได้ เสริมภูมิคุ้มกันทางใจให้เด็กๆ รู้สึกว่าครอบครัวพร้อมรับฟังและเป็นแรงสนับสนุนซึ่งกันและกัน
” ทำให้คนในบ้านได้รับรู้ถึงสิ่งที่เราอยากเล่า และเราได้เล่ามันออกมาโดยไม่ต้องพูด (เพราะบางทีก็ไม่กล้าพูด) และได้รู้ความคิดเห็นของผู้ปกครองมากขึ้นว่าเขาคิดอย่างไร ซึ่งบางความเห็นฉันก็ไม่คิดว่าจะคิดเห็นแบบนี้ …ได้รับรอยยิ้มของคนในครอบครัว คนในครอบครัวอ่านจดหมายข่าวแล้วยิ้ม ตนเองก็ยิ้มเพราะอ่านความเห็น” ความรู้สึกจากเด็กๆ
” เหมือนได้บอกความในใจกัน แล้วเริ่มต้นกันใหม่ ได้เรียนรู้ว่าทุกคนก็สามารถมีความรู้สึกไม่ไหวได้ แต่เราก็บอกเล่าให้กันฟังได้ แล้วไปต่อ ครอบครัวเป็นสถานที่ซึ่งเราคุยกันได้ทุกเรื่องจริงๆค่ะ” ความรู้สึกจากคุณแม่
จดหมายข่าวที่เด็กๆได้เขียนในวันนี้เป็นมากกกว่าบันทึกการเรียนรู้เพื่อส่งคุณครูเท่านั้น แต่เป็นบันทึกความทรงจำดีๆ ที่หยิบขึ้นมาอ่านคราวใด จะสร้างรอยยิ้มและความสุขใจให้ผู้อ่านได้ทุกครั้ง … ไม่เชื่อ !!ลองเขียนถึงสมาชิกในบ้านของเราดูนะคะ
โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2563