เปิดมุมมองสร้างสรรค์สื่อยุคใหม่
นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมในมิติต่าง ๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนและสังคมอยู่ตลอดเวลา ผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้าประเด็นที่ตนเองสนใจ
โรงเรียนเพลินพัฒนาและการบ่มเพาะครูให้เติบโตในทุกด้าน ความรู้-ทักษะ-จิตวิญญาณ เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่กว้างใหญ่ให้เด็กในชั้นเรียน
เมื่อครู คือ บุคลากรคนทำงาน ผู้สร้างการเรียนรู้ให้เด็กเติบโต แล้วการเติบโตของตัวครูเองนั้นสำคัญแค่ไหน? วันนี้แอดชวนอ่านเรื่องราวของโรงเรียนเพลินพัฒนา ชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะครู ซึ่งเป็นบุคลากรที่สำคัญในโรงเรียนเพื่อให้เติบโต ทั้งด้านความรู้ ทักษะและจิตวิญญาณภายใน เพราะเมื่อครูเติบโต การส่งมอบการเรียนรู้สู่เด็กก็จะได้รับการยกระดับไปด้วย
วันนี้ #โรงเรียนเพลินพัฒนา มีแนวคิดและการดำเนินงานอย่างไร เพื่อให้โรงเรียนและบุคลากรมีคุณภาพ เรามาหาคำตอบไปด้วยกัน ผ่านการเล่าเรื่องราวจาก ครูปาด-ศีลวัต ศุษิลวรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนคุณภาพการศึกษา และครูเล็ก-ณัฐทิพย์ วิทยาภรณ์ หัวหน้าช่วงชั้นที่ 2 (ประถมปลาย) โรงเรียนเพลินพัฒนา
ครูปาดเล่าถึงการก่อตั้งโรงเรียนเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนว่า “เราอยากสร้างโรงเรียนที่เข้าร่วมในการปฏิรูปการศึกษา เวลาเราเขียนป้ายโรงเรียนที่ไหน จะมีมอตโตเขียนเคียงข้างว่า ‘ชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม’ จากแนวคิดนี้ ทำให้เพลินพัฒนาเสาะแสวงหาวิธีการดีๆ เพื่อทำให้นักเรียน ครู และผู้ปกครองได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอยู่เสมอ”
วัฒนธรรมการพัฒนาครูผ่านระบบการวิจัยบทเรียน (Lesson Research)
โรงเรียนเพลินพัฒนา มีวัฒนธรรมการพัฒนาครูไปบนหน้างานจริงผ่านระบบการวิจัยบทเรียน (Lesson Research) โดยเชื่อมั่นว่าการประสานระบบของหลักสูตร การเรียน และการประเมินผล กับระบบ Lesson Research และระบบจัดการความรู้ (KM หรือ Knowledge Management) เข้าด้วยกัน จะทำให้เกิดการพัฒนาชั้นเรียนและครูที่ดีขึ้น
ครูปาดเล่าว่า “ครูแต่ละคนต้องทำวิจัยในชั้นเรียน เพื่อให้กระบวนการสอนออกมาดีที่สุด เวลาครูเตรียมการสอนให้เด็ก ต้องระลึกเสมอว่าสิ่งที่เด็กจะได้เรียน ต้องไปถึงระดับคุณค่า ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพื่อไปสู่กระบวนการใหม่ๆ หรือวิธีการคิดแผนการสอนใหม่ๆ ต้องอาศัยทักษะและความรู้ความสามารถ กว่าครูจะบรรลุไปถึงจุดนั้น อาจต้องขยายศักยภาพ ตกอยู่ในสภาวะกดดัน และมีความเครียด เพราะเป็นการทำงานที่มุ่งสู่ฐานหัว”
ครูปาดอธิบายต่อว่า การที่คนเราจะทำงานได้ดีต้องสร้างสมดุลของ #Head#Hand#Heart การมุ่งบ่มเพาะด้านวิชาการอย่างเดียว โดยไม่มีฐานใจหล่อเลี้ยง ในมุมของคนทำงาน จุดหนึ่งมันจะก่อให้เกิดปัญหาได้ เพื่อสร้างความรู้และทักษะการสอนของครูให้มีความมั่นใจในการลงชั้นเรียน จนประเมินผลการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ #ฐานจิตใจ เป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้
#จิตตปัญญาศึกษา (Transformative Education) จึงถูกนำมาใช้ที่โรงเรียนเพลินพัฒนาเพื่อผ่อนคลายสภาวะภายในของครูให้คลายความตึงเครียดและสงบ เป็นการสร้างสุขภาวะทางใจ ผ่านการทำความเข้าใจในตัวเอง ความหมายของชีวิต ความเป็นมนุษย์ของคนอื่นในสังคม ตลอดจนความเชื่อมโยงกับโลก
ครูเล็ก อธิบายเสริมว่า “เรามีกิจกรรม #ไดอะล็อก ที่ให้เพื่อนครูได้มาแลกเปลี่ยนเรื่องราวกัน ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นเส้นทางการเป็นครู หรืออาจจะย้อนกลับไปถึงวัยเด็กเลย เพื่อสำรวจทำความเข้าใจความหมายของชีวิต”
“อีกกิจกรรมคือ #ปิดตาพากันเดิน ที่เน้นสร้างความไว้วางใจแก่กันระหว่างเพื่อนร่วมงาน ซึ่งต่อมาขยายไปสู่เด็กเป็นกิจกรรม #ปิดตาพาครูเดิน ครูอาจคิดว่าตัวเองเป็นผู้ดูแลเด็กอย่างเดียว แต่แท้จริงเด็กๆ ก็มีความห่วงใยครูของเขาเหมือนกัน จะเห็นว่ากระบวนการจิตตปัญญาพาเรากลับมาสู่ฐานความเป็นมนุษย์ ที่มีอารมณ์ความรู้สึกห่วงหาอาทรซึ่งกันและกัน”
กระบวนการวิจัยบทเรียนที่บูรณาการอยู่กับจิตตปัญญาสร้างความเป็นทีมที่เหนียวแน่น “ไม่มีครูคนไหนต้องทำงานอย่างโดดเดี่ยว ทุกคนจะต้องมี #คู่วิชา ร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมกันคิดแผน ผลัดกันมาสังเกตการสอนของกันและกันในชั้นเรียน และสุดท้ายก็กลับมาสะท้อนผลการสอนซึ่งกันและกัน”
ครูเล็กเล่าว่ากระบวนการคิดแผนการสอนใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพ เป็นงานที่ยากและท้าทาย ครูจะต้องทำงานหนักเพื่อขยายศักยภาพของตัวเองออกไปเรื่อยๆ เปรียบเหมือนดักแด้ ที่กว่าจะกลายเป็นผีเสื้อแสนสวย มันต้องลอกคราบ ผ่านจุดที่ยากลำบาก
“เมื่อมีกระบวนการจิตตปัญญาแฝงอยู่ในระบบ การทำงานของเราแม้จะเหน็ดเหนื่อย แต่จุดสำคัญ คือ เราจะไม่ทอดทิ้งใคร เราจะไม่ปล่อยให้ครูคนนั้นโดดเดี่ยว ต้องมีทีม มีพี่ๆ เข้าไปช่วยเหลือสนับสนุน ไปลงมือทำงานด้วยกันจนสำเร็จลุล่วง เมื่อครูเห็นเด็กเกิดการเรียนรู้ที่ห้องเรียนของตัวเอง ครูจะรู้สึกถึงการมีคุณค่าต่อผู้อื่น ความสุขและความปีติจะเกิดขึ้น เหมือนผีเสื้อที่โบยบิน
ครูเล็กบอกว่า โรงเรียนเพลินพัฒนามีวัฒนธรรมองค์กรที่สร้าง Sense of Belonging ให้ครูทุกคนรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม โดยในหน้างาน ครูจะได้รับประสบการณ์ทำงานเป็นคู่ เป็นทีม ทั้งทีมเล็กทีมใหญ่ ทีมระดับชั้นและทีมภาควิชา
รวมถึงส่งเสริมวัฒนธรรม #การสื่อสารในเชิงบวกและสันติ ให้ทุกคนอยู่บนฐานจิตใจที่รับฟัง เปิดกว้าง และพร้อมเรียนรู้ สำหรับองค์กร วัฒนธรรมนี้สำคัญมากเพราะเป็นหัวใจของการหลอมรวมบุคคลจากต่างภูมิหลังให้เข้ามาเป็นสังคมเดียวกันได้ ครูจะอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างได้อย่างราบรื่น มีความสุขในการทำงาน
ครูเล็กอธิบายทิ้งท้ายอีกด้วยว่า “การสร้าง #ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง จะช่วยให้ครูเป็นทีมที่หล่อหลอมเรียนรู้กัน ภายใต้บรรยากาศที่มีความสัมพันธ์หลายมิติ เป็นเพื่อน เป็นพี่น้อง เป็นผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุข เป็นชุมชนที่ครูรู้สึกปลอดภัยที่จะเปิดเผยความจริงต่อกัน ยอมรับความไม่รู้ โอบรับความไม่เข้าใจ ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้และพัฒนา ทั้งความสามารถในการทำงาน และจิตใจภายในที่แข็งแรง”
ความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนเพลินพัฒนา รวมไปถึงชุมชนผู้ปกครอง #ห้องเรียนพ่อแม่ จึงถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้ความรู้กึ่งเวิร์คช็อป ที่บ่มเพาะให้ผู้ปกครองเข้าใจรูปแบบการเรียน-การสอน-การเรียนรู้ ของโรงเรียน และบทบาทหน้าที่ของผู้ปกครองที่แตกต่างแต่สอดประสานกับบทบาทหน้าที่ของโรงเรียน ซึ่งสำคัญต่อการหล่อหลอมคุณลักษณะหรือคาแรกเตอร์ของเด็ก
“ตามเป้าหมายสูงสุดของโรงเรียนที่ต้องการหล่อหลอมมนุษย์คนหนึ่งขึ้นมา เพื่อให้เด็กเติบโตอย่างสมดุลและสมวัย เราไม่สามารถแยกสองพื้นที่นี้ออกจากกันได้ บ้านกับโรงเรียนต้องร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันแต่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ห้องเรียนพ่อแม่จึงเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับอนุบาล” ครูเล็กกล่าว
หลังภาคเรียนวิริยะ และวิมังสา (ปีละ 2 ครั้ง) โรงเรียนเพลินพัฒนา ยังจัดงานมหกรรม KM ที่ตั้งชื่ออย่างลึกซึ้งไว้ว่า ‘ชื่นใจได้เรียนรู้ ภาคครูเพลิน’ เพื่อให้ครูได้แบ่งปันการเรียนรู้และความสำเร็จจากหน้างาน เป็นการทบทวน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการสร้างความภาคภูมิใจให้กับครูและทีมของครู ครูจะได้แลกเปลี่ยนและถอดบทเรียน นำสิ่งที่ค้นพบไปปรับใช้กับงานของตัวเองได้ด้วย
“เราทำงานด้วยการมุ่งผลประโยชน์ของเด็กเป็นตัวตั้ง ระหว่างทาง ครูแต่ละคนอาจมีความคิดเห็นและมุมมองที่แตกต่างกันบ้าง แต่ในท้ายที่สุดเมื่อจิตของครูมุ่งเน้นไปที่เด็ก เราก็จะพูดคุยแลกเปลี่ยน หาทางออกร่วมกันจนสร้างแผนการสอนชั้นเรียนขึ้นมาได้” ครูเล็กอธิบาย
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566