เปิดหมวก #1 มหกรรมดนตรีและศิลปะ2567
เปิดหมวก #1 มหกรรมดนตรีและศิลปะ2567เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ลานเล่น โรงเรียนเพลินพัฒนา “IN OUR DREAM” ของนักเรียนชั้น 9
เมื่อวันเสาร์ 21 ธันวาคม 2567 ศ.คลินิก พญ. วินัดดา ปิยะศิลป์จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้มาให้ความรู้กับผู้ปกครอง ในห้องเรียนพ่อแม่ หัวข้อ การสร้างสุขเพื่อลดปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน
คุณหมอเริ่มต้น Workshop ให้จับคู่คุยกันว่า “เรามองตัวเองแล้วเห็นข้อดีอะไรในตัวเรา?” หลังจากแลกเปลี่ยนกันแล้วก็ให้ลองสรุปข้อดีของเพื่อน อีกครั้งคือพูดคุยถึงเรื่องที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคในชีวิตของเราที่ยังยังแก้ไขไม่ได้ ยังค้างคาอยู่
จาก Workshop นี้นำมาสู่บทสรุปของการเป็นผู้ฟังที่ดี ควรมีลักษณะดังนี้ :
ตั้งใจฟัง ไม่พูดแทรก ไม่ตัดสิน สบตา พยักหน้า มีอารมณ์ร่วมกับผู้พูด การตั้งคำถามย้อนกลับแสดงถึงความสนใจ และท่าทีที่ไว้ใจได้
เวลาที่เราจะเล่าอะไรให้ใครฟัง ใครคนนั้นเกิดจากการประเมินของเราว่า เขาคุ้มค่าที่เราจะเล่าให้ฟังหรือไม่ (เราประเมินตัวผู้ฟังก่อน เราถึงตัดสินใจที่จะเล่า) เพราะฉะนั้น ท่าทีของผู้ฟังที่มีเวลาให้กับผู้พูดสำคัญมาก หมายความว่า พฤติกรรมที่มีเวลาให้ = ผู้เล่ามีความสำคัญ
หากแม่บอกว่า “ขอเวลาอีก 5 นาทีเคลียร์งานก่อน แล้วเดี๋ยวไปฟังลูกเล่านะ” ก็แปลว่า..เราไม่มีเวลาไป เราจัดลำดับความสำคัญของเขาไว้ทีหลัง บ่อยครั้งเข้า ลูกก็ตีความว่า “หนูไม่ใช่คนสำคัญ” แล้วคำพูดของเราในช่วงที่เราไม่มีเวลาให้ลูกมากพอ มันจะออกมาในรูปแบบที่ห้วน กระชับ “พูดเร็วๆ สิ” “สรุปว่ายังไงนะ” อารมณ์อาจจะติดหงุดหงิด
เมื่อเด็กโตขึ้นมาถึงชั้น 6 แล้ว ตามสถิติ พ่อแม่จะได้รับข้อมูลจากเด็กเพียงแค่ 9% เท่านั้น ที่เหลือคือเด็กไม่อยากเล่า เพราะอะไร?
บอกแล้ว ไม่มีอะไรเกิดขึ้น บอกแล้ว กลายเป็นเรื่องใหญ่โต มาทะเลาะกันเอง เผลอๆ เป็นความขัดแย้ง 2 ชั้น ทะเลาะกับเพื่อนแล้วยังต้องมาทะเลาะกับพ่อแม่อีก
ดังนั้น ทักษะของผู้ฟังที่ดี จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
ทำใหัได้รับข้อมูลมากขึ้น
ได้สัมพันธภาพที่ดี
ทำให้มองเห็นคุณค่าของผู้ฟัง
เราเป็นคนที่ลูกมองเห็นคุณค่าเวลาที่เขาอยากจะบอกเล่าเรื่องราวให้ฟังหรือไม่!? หากลูกมาเล่าเรื่องที่ถูกเพื่อนแกล้ง หรือแม้แต่เขาไปแกล้งเพื่อน เราชื่นชมเขาได้ “แม่ภูมิใจนะ ที่หนูมาเล่าเรื่องนี้ให้แม่ฟัง” แบบนี้มันทำให้ไปต่อได้ แต่หลายครั้งคือ เรารีบสวน รีบสอน รีบเสนอวิธี บางครั้งลูกแค่อยากเล่าอยากระบาย ไม่ได้อยากได้คำตอบ
การเก็บความลับได้ = ไว้ใจได้ = คนที่เป็นผู้ใหญ่ = มีวุฒิภาวะ (mature) หากเราเก็บความลับไม่ได้ จะทำให้เราสูญเสียความไว้ใจก่อนหน้านั้นทั้งหมด
เด็กบางคนอาจจะไม่เล่าพ่อแม่ แต่เล่าคนใกล้ตัวที่เขาไว้ใจได้ เช่น คุณน้า คุณครู เด็กจะชั่งน้ำหนัก วิเคราะห์และประเมินแล้วว่า..คนนี้คือคนที่เขาไว้ใจได้
เวลาที่เจอกับปัญหาและอุปสรรค สิ่งที่ต้องมีเพื่อเอาชนะอุปสรรคนั้น ได้แก่ :
● การควบคุมอารมณ์ มี EQ ที่ดี
● การให้เวลาเพื่อคิด และทำให้ใจเย็นลง ช่วงเวลาที่โกรธ เศร้า โมโห เป็นช่วงที่ EF ไม่ทำงาน
● การคิดไตร่ตรอง วิเคราะห์ว่าปัญหานั้นเกิดจาก 1.) ตัวเรา 2.) ผู้อื่น หรือ 3.) ทั้ง 1 และ 2 ร่วมกัน
● การปรับเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหา
● ความอดทนอดกลั้น เพราะการแก้ปัญหาบางอย่างต้องใช้เวลา
● การมีความสามารถและทักษะในการแก้ปัญหา
ทักษะและความสามารถในการแก้ปัญหา ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับตัว แต่มาพร้อมกับโอกาสที่ทำให้ได้รับการฝึกฝน ต้องสะสมมาเรื่อยๆ แต่บางครั้งเราพ่อแม่พยายามกำจัดปัญหาออกไป แก้ให้ แก้แทน ให้ชีวิตลูกโรยด้วยกลีบกุหลาบ คนที่เก่งขึ้นจึงเป็นพ่อแม่ ไม่ใช่ลูก!
ลูกต้องเผชิญปัญหาด้วยตัวเอง บางครั้งเขาแก้ได้ บางครั้งไม่ได้ แต่เขาจะมีประสบการณ์มากขึ้น >> เก่งขึ้นในการแก้ปัญหา
ดังนั้น เมื่อเจออุปสรรค เลือกว่าเราจะทำให้ลูกเก่งขึ้น หรือให้ความสามารถมีเท่าเดิม หรือลูกจะยิ่งห่อเหี่ยว/มองลบไปกว่าเดิม
เพราะฉะนั้นการ “ฝึกให้คิด/ทำ” เป็นการสร้างฐานทุกอย่าง ยิ่งชีวิตลูกมีอุปสรรคมากยิ่งดี และเมื่อเด็กมีความสามารถหลายอย่าง ก็จะสามารถเข้ากับคนได้หลายกลุ่ม >> มีเพื่อนหลากหลาย >> โอกาสถูกกลั่นแกล้งน้อยลง >> ยิ่งมีความสามารถมากขึ้น ก็ช่วยเหลือคนได้มากขึ้นด้วย
การกลั่นแกล้งรังแก
● มีผู้รังแก (ผู้กระทำคนเดียวหรือมากกว่า 1 คน) และมีผู้ถูกกระทำ (เหยื่อ)
● ผู้รังแกมีกำลังหรือมีอำนาจที่เหนือกว่า
● มีการกระทำซ้ำๆ โดยเจตนา
● เกิดผลกระทบทำให้ผู้ถูกรังแกได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย และ/หรือทางจิตใจ
บางครั้งไม่เกิดบาดแผลทางกาย แต่เกิดที่จิตใจ ซึ่งพบได้มาก และอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่าและยาวนานกว่า แต่ผู้ใหญ่ พ่อแม่ รวมไปถึงคุณครู มักมองเห็นแผลจากร่างกายเป็นเรื่องใหญ่กว่า เพราะมันเห็นได้ชัดเจน แต่สิ่งที่มองไม่เห็น ไม่ใช่ว่าไม่มีหรือไม่สำคัญ
เวลาที่เราหยุดเด็กที่ทะเลาะกันไม่ได้ หยุดพี่น้องที่ทะเลาะกันไม่ได้ คนที่เป็นผู้กระทำได้โอกาสที่จะทำต่อเรื่อยๆ เขาจะรังแกเก่งขึ้น จะซับซ้อนมากขึ้น จะเลือกเหยื่อและเลือกวิธีการในการกลั่นแกล้งได้ดีขึ้น เช่น ไปทำในที่ที่ไม่มีคนเห็น ฯลฯ
ยกตัวอย่างในครอบครัว น้องชายทำชิ้นงานของพี่พัง
แม่ : “น้องยังเล็ก ยังไม่รู้เรื่องหรอก” = กองเชียร์
พ่อ : ไปบอกพ่อ พ่อไม่สนใจ = ผู้เพิกเฉย
กองเชียร์ + ผู้เพิกเฉย = ทีมเดียวกับผู้กระทำ
น้อง : ผู้กระทำ (พวกมาก) ยิ่งฮึกเหิม
พี่ : เหยื่อ (ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในบ้านตัวเอง)
สัดส่วนของผู้กระทำ เหยื่อ ผู้เพิกเฉย ผู้ช่วยเหลือ
สัดส่วนเหล่านี้ โรงเรียนมองออกหรือไม่ คุณครูอ่านสถานการณ์ออกหรือไม่?
กองเชียร์ (คือคนที่อยากรังแก แต่ฉันไม่มีพลังมากพอ) มีทั้งแบบที่แสดงออกชัดเจน เชียร์โจ่งแจ้ง และแบบที่เฝ้าดูเงียบๆ แต่แอบสะใจ ทั้งหมดสามารถพัฒนาไปเป็นผู้กระทำได้ หรืออาจเคยเป็นเหยื่อมาก่อน แต่เชียร์เพื่อสยบต่อผู้รังแก (ที่มีอำนาจเหนือกว่า) เพื่อที่จะได้ไม่โดนรังแกไปด้วย
ส่วนผู้เพิกเฉย ก็มีโอกาสที่สุดท้ายจะกลายมาเป็นเหยื่อเสียเอง และถ้าทุกคนเพิกเฉย เหยื่อจะเกิดความรู้สึกว่า…โลกนี้ไม่ยุติธรรม และสัมพันธภาพนั้นไว้ใจไม่ได้
แล้วผู้ช่วยเหลือล่ะ!?
เด็กที่มีความสามารถ ช่วยเหลือเพื่อนเสมอ ช่วยคือช่วยจากสถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยไม่ตัดสิน เวลาเราเกิดปัญหาเพื่อนก็จะกลับมาช่วยเรา แล้วยิ่งถ้าช่วยโดยไม่หวังผลตอบแทน คือ ช่วยทุกคน ทั้งผู้กระทำ ทั้งเหยื่อ ให้ลองสังเกตดูว่า…เด็กแบบนี้ ผู้ล่าจะเกรงใจ หรือต่อให้ถูกกลั่นแกล้ง จะเสียใจไม่นาน แล้วก็จะสามารถกลับมาได้ เพราะตัวตน self จากการที่มีความสามารถในการช่วยเหลือผู้อื่นนั้นยังดีอยู่มาก
แต่ผู้ช่วยเหลือที่ไม่มีความสามารถ ขาดทักษะ ช่วยไปโดยธรรมชาติ (แบบมวยวัด) ไม่มีระบบหรือโครงสร้างที่ดีรองรับ ท้ายที่สุด หากจนมุมก็อาจกลายเป็นเหยื่อเสียเอง หรือไม่ก็เหนื่อยล้าจนกลายไปเป็นผู้เพิกเฉย
“ทุกสิ่งล้วนเกิดแต่เหตุ เหยื่อและผู้กระทำก็มีที่มา”
10 ปีแรก หากเราเห็นภาพชัดว่าเป็นช่วงที่แก้ไข ปรับเปลี่ยนได้ง่ายสุด ถ้าเราลงทุนดีๆ (การพัฒนาเด็กไม่ได้เกิดจากการพูด แต่เกิดจากการลงมือฝึกฝน) จะช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไปได้มาก เช่น ปัญหาในวัยรุ่น
สิ่งที่ขาด…จนทำให้กลายเป็น
● ขาดความรักจากครอบครัว
● ขาดการยอมรับ
● ขาดความเห็นอกเห็นใจ
● ขาด Self ตัวตน
● ขาดการยับยั้งชั่งใจ
● ขาดความสามารถ
● ขาดทักษะการแก้ปัญหา อ่านสถานการณ์ไม่ออก
● ขาดทักษะการเข้าสังคม
● ขาด Self ตัวตน
● ขาดความเข้มแข็งทางจิตใจ
● ขาดความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง
#ผู้เพิกเฉย (เพราะขาด…จึงไม่สามารถกลายมาเป็นผู้ช่วยเหลือได้)
● ขาดความเห็นอกเห็นใจ
● ขาดความกล้า
● ขาดทักษะในการแก้ปัญหา / เข้าไปช่วยเหลือ
● ขาดการซักซ้อม
● ขาด Teamwork
ณ ตอนนี้ถ้าต้องเลือกมา 5 สิ่ง ที่จะช่วยพัฒนาให้เด็กไม่กลายเป็นผู้กระทำ ไม่ตกเป็นเหยื่อ และพัฒนาจากผู้เพิกเฉยมาเป็นผู้ช่วยเหลือ คือ :
● เพิ่มความรู้เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งให้เด็กทุกคนเข้าใจแบบเดียวกัน และเพิ่มทักษะในการแก้ปัญหา
● สร้าง Self ที่มั่นคง ความกล้าจะมา
● สร้าง Self Control กำกับควบคุมตัวเอง
● สร้างให้เกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
● ฝึกให้อยู่ในกติกาส่วนรวม (ทักษะสังคม)
การกลั่นแกล้งรังแก ไม่ใช่เกิดเพียงแค่ในบ้านหรือโรงเรียน เมื่อเรากลายเป็นผู้ใหญ่เราก็อาจเจอในสังคมการทำงาน ลูกน้องตกเป็นเหยื่อของเจ้านาย ประชาชนตกเป็นเหยื่อของผู้มีอำนาจในสังคม
“…เส้นทางของผู้ตกเป็นเหยื่อ อาจไปสิ้นสุดที่การจบชีวิตลง ส่วนเส้นทางสายมืดของผู้กระทำที่มีความสุขอยู่บนความทุกข์ของผู้อื่น ซึ่งไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ก็อาจสิ้นสุดที่การสูญเสียความเป็นมนุษย์…” คุณหมอกล่าวทิ้งท้ายค่ะ
บันทึกโดย
แม่บิว (พุฒิ ชั้น 9 พีค พราว ชั้น 6 พริม ชั้น 3)