ไดอารี่ : บันทึกเรื่องเล่าจากภาคสนาม ชั้น 6

ณ แหล่งเรียนรู้ ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน ตำบลแหลมฟ้าผ่า จ.สมุทรปราการ และศูนย์ศึกษาการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 จ.สมุทรสาคร

วันแรก: สิ่งมีชีวิตน่ารักที่ใต้สะพาน

===========

วันแรกของภาคสนามที่บ้านขุนสมุทรจีน ต้อนรับด้วยการเดินทางไกลราว 2 กิโลเมตร ผ่านสะพานที่มีข้างทางเป็นนากุ้ง แนวกั้นคลื่น ต้นโกงกาง ฉันสังเกตเห็นนกกระยาง ปลาตีน ปลากระจัง ปูก้ามดาม ผักเบี้ย และพืชพันธุ์อื่นๆ ที่แปลกตาตามรายทางกว่าจะถึงตัววัด ด้านล่างสะพานก่อนถึงวัดมีปลาตีนกับปลากระจังอยู่ทั่ว “ปลากระจังตาโตแก้มตุ่ยดูน่ารักจัง” ฉันตื่นเต้นกับการไถลตัวไปบนเลนของปลากระจัง เพื่อนคนหนึ่งพูดกับครูประจำกลุ่มว่า

“ถ้าอยากให้คนมาอนุรักษ์ป่าชายเลน ก็ถ่ายภาพสัตว์ในป่าชายเลนให้ทุกคนเห็นความน่ารักของสัตว์เหล่านี้เหมือนที่หนูเห็นสิคะ”

“จริงด้วย” ฉันก็คิดแบบเดียวกัน ถ้ามีโอกาสฉันอยากกลับมาที่นี่อีก เพื่อมาถ่ายภาพสัตว์เหล่านี้พร้อมกับครอบครัว ฉันคิดว่าสัตว์พวกนี้ก็คงดีใจเหมือนกันที่มีคนมองว่ามันน่ารัก

วันที่ 2 : ตื่นเต้น ล้มลุก สนุกสนาน

===========

ฉันตื่นขึ้นมาพร้อมกับความงัวเงีย นึกไม่ออกแล้วว่าเป็นการตื่นครั้งที่เท่าไหร่นับตั้งแต่เมื่อคืน เพราะความตื่นเต้นย่องมาปลุกฉันหลายต่อหลายครั้ง แต่ครั้งนี้ฉันยอมฟังเสียงความตื่นเต้นเพราะเสียงนั้นบอกว่า “นี่เธอ! วันนี้จะต้องเป็นวันที่สนุกที่สุดเท่าที่เธอเคยมีเลยหละ” รู้ตัวอีกทีก็อยู่ที่บ้านขุนสมุทรจีนแล้ว

ตารางกิจกรรมที่ครูแจ้งบอกว่า วันนี้พวกเราจะได้ลงมือขุดสำรวจและตั้งข้อสังเกตปัจจัยการกัดเซาะและการงอกของแผ่นดิน กลุ่มของเรามาถึงพื้นที่จุดสำรวจที่ 2 บริเวณสะพานระฆังหลังวัด พวกเราทำงานตามที่ตกลงกันไว้ คนขุดสองคนสวมถุงมือถุงเท้าถือพลั่วลงขุดดูชั้นดินในกริดขนาด 1 ตารางเมตร พวกเราที่เหลือช่วยกันสังเกต ถ่ายรูป และบันทึกสิ่งที่สังเกตเห็น แต่ละคนดูตื่นเต้นกับภาพตรงหน้ารวมถึงฉันด้วย พื้นกระซ้ายวบๆ ทำเอาจะล้มหลายครั้ง แต่เราก็ช่วยกันพยุงคนนี้ทีคนนั้นที เราวุ่นๆ กับการหาทางทรงตัวอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะเกิดคำถามตามมา “ทำไมพื้นดินที่เรายืนอยู่หลังแนวกั้นมีกระซ้ากระจุกอยู่ แต่ก่อนแนวกั้นมีแต่ดินเลน” “ปูและหอยที่ขุดเจอมีผลอะไรกับการเกิดแผ่นดินตรงนี้” “แล้วถ้าหากแนวกั้นเหล่านั้นหายไป เราจะยังมีพื้นดินให้ยืนอยู่ตรงนี้ไหม” เราช่วยกันตั้งข้อสังเกตอื่นๆ อีก เพื่อนำประเด็นที่ได้ไปแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่นๆ ในตอนเย็น

วันนี้เป็นวันที่เหนื่อยมาก ร้อนมาก และสนุกมากด้วย ได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำ มองเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น ถือว่าเป็นวันที่มีหลายอารมณ์เลยหละ

วันสุดท้าย: พื้นที่ที่แตกต่าง มุมมองที่แตกต่าง

===========

วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการเดินทางภาคสนาม เราเดินสังเกตป่าชายเลนที่ศูนย์วิจัยป่าชายเลย จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมฟังวิทยากรเล่าความน่าสนใจของพืชและสัตว์ตามรายทางที่ดูหนาแน่นและชุ่มชื้นผิดจากป่าชายเลนที่บ้านขุนสมุทรจีน ฉันถามพี่กระรอกวิทยากรของเรา พี่กระรอกเล่าว่า ป่าชายเลนแห่งนี้ค่อนข้างสมบูรณ์เพราะปัจจัยการกัดเซาะไม่เหมือนที่บ้านขุนสมุทรจีนทั้งทิศทางคลื่นลม สภาพภูมิศาสตร์ ความหนาแน่นของป่าชายเลน ที่บ้านขุนสมุทรจีนพบปัญหามากกว่า และยังบอกอีกว่าการกัดเซาะส่วนใหญ่เกิดจากธรรมชาติไม่ได้เกิดจากชาวบ้านแถวนี้ เพราะวิถีชีวิตของชาวบ้านนั้นใกล้ชิด เคารพ และให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่ตนเองอยู่เป็นอย่างมาก ทำให้ฉันรู้สึกประทับใจในความผูกพันของชาวบ้านและป่าชายเลนเป็นอย่างมาก

กลับออกมาจากการเดินชมป่าชายเลนพวกเราต่างรีบมานั่งนับจำนวนสิ่งมีชีวิตที่สังเกตเห็นและบันทึกได้ระหว่างทางตามภารกิจที่ครูให้ไว้ ฉันนับได้ตั้ง 40 ชื่อแน่ะ ไม่น่าจะมีใครได้มากกว่านี้แล้วหละ

“ผมได้ 80 ครับ!” เสียงมาจากอีกกลุ่มหนึ่ง “โห! นี่เขานับกันยังไงนะ” ฉันประหลาดใจพร้อมกับชื่นชมเพื่อนในความช่างสังเกตไปพร้อมกัน ฉันจะทำยังไงให้เป็นคนช่างสังเกตแบบเขาได้บ้างนะ

ภาคสนามครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของฉัน แต่ไม่ได้ทำให้ฉันเบื่อเลย มันทั้งร้อน เหนื่อยล้า ท้อบ้างบางครั้ง แต่ก็ตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา สนุกกับการทำภารกิจร่วมกับเพื่อน ตื่นเต้นกับการลงมือหาสาเหตุของปัญหาด้วยตนเอง และประหลาดใจกับเพื่อนได้แทบทุกคน ภาคสนามของฉันครั้งนี้ทำให้ฉันเปิดโลกไปอีกแบบเลย

เพื่อนที่ไม่ค่อยได้คุยกันตอนอยู่โรงเรียน กลายเป็นเหมือนคนละคนตอนอยู่ที่ภาคสนาม เห็นเขาตื่นเต้นตลอดเวลา มีความอยากรู้อยากเห็นสิ่งรอบตัว พูดคุยโต้ตอบกับวิทยากรอย่างสนใจ เวลาทำงานกลุ่มก็แสดงความเป็นผู้นำในการจัดแบ่งงานและนำกิจกรรมของกลุ่ม จนฉันประหลาดใจและประทับใจที่ได้เห็นอีกด้านหนึ่งของเขา ฉันรู้สึกขอบคุณภาคสนามในครั้งนี้จริงๆ ตั้งตารอภาคสนามครั้งถัดไปเลย

*ประมวลจากความรู้สึก ความคิด ความเข้าใจ และมุมมองของนักเรียนชั้น 6 ที่ได้สัมผัสประสบการณ์ภาคสนามภาคเรียนฉันทะ

===========

บทความโดย

ครูกิตตินันท์ วันทะวงษ์ (ครูนัน)

ครูกันตพัฒน์ เจริญกิจวริทธิ์ (ครูกันต์)

เชื่อว่า “พรประการหนึ่งของมนุษย์คือไม่ว่า ใคร ก็เรียนรู้ได้เสมอ”

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2566