เราคือสิ่งแวดล้อมของกันและกัน
ตั้งใจเข้ามาช่วยงานโรงเรียน เพราะเชื่อว่าเราคือสิ่งแวดล้อมของกันและกัน และเพราะเด็กคนหนึ่งต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านช่วยกันเลี้ยงดู (It takes a village to raise a child.)
ชวนอ่านแนวคิด “การพัฒนามนุษย์อย่างเป็นองค์รวม ที่ไม่ได้เกิดจากความสุขอย่างเดียว แต่เกิดจากการยกระดับสติปัญญา ทักษะความสามารถ วุฒิภาวะทางอารมณ์และสังคม ซึ่งหล่อหลอมเป็นคุณค่าของคนๆ หนึ่ง”
ครูปาด-ศีลวัต ศุษิลวรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนคุณภาพการศึกษาโรงเรียนเพลินพัฒนา ได้เล่าถึงแนวคิดสำหรับคนทำงาน ที่ชวนคิดลึกซึ้งลงไปถึงตัวตนภายใน เพื่อหาความหมายของการเป็นมนุษย์ เมื่อรู้ว่าคุณค่าของชีวิตคืออะไร การทำงานจะมีจุดมุ่งหมาย และเราจะสามารถหาคำตอบของคำถามข้างต้นได้ด้วยตัวเอง
ครูปาด อธิบายว่า “แนวคิดหลักในการพัฒนามนุษย์อย่างเป็นองค์รวม คือ การได้ยกระดับทั้งสติปัญญา วุฒิภาวะทางอารมณ์ ความสามารถในการทำงาน รวมถึงความสามารถทางสังคม สุขภาวะกาย-ใจ ทั้งหมดทั้งมวลหล่อหลอมเป็นคุณค่าของคนๆ หนึ่ง เรารู้สึกถึงการมีคุณค่าได้ในหลายมิติ คุณค่าในการทำงาน คุณค่าของความสัมพันธ์ เป็นต้น”
“ผมใช้คำว่า ‘คุณค่า’ เพราะมันเป็นร่มคันใหญ่ที่อยู่เหนือความสุข ความสุขไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่โดดเด่นของการพัฒนามนุษย์ เพราะชีวิตจริงของคนเรา มีทั้งสุขทั้งทุกข์ และอารมณ์ต่างๆ หลายระดับ ความสุขไม่ใช่สิ่งที่ประเมินเพียงผิวเผินได้ บางครั้งเราต้องฝืนทำสิ่งที่ไม่ชอบ เพื่อผลลัพธ์ในอนาคต แน่ล่ะมันทุกข์ แต่ถ้าเรามีศรัทธาและความเชื่อมั่น ทุกข์นั้นจะกลายเป็นความปรีดีสมฤดีอยู่ลึกๆ”
ครูปาดยกตัวอย่างการเล่นโยคะ ที่ต้องค่อยๆ ยืดเหยียดร่างกายออกไป ทั้งเจ็บ ทั้งล้า มันเป็นความทุกข์ที่ผู้เล่นสมฤดีและอยากที่จะทำให้ยากขึ้นเรื่อยๆ
โรงเรียนเพลินพัฒนาให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์อย่างเป็นองค์รวม จึงไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การมอบความสุขเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งเน้นไปที่การเติบโตในทุกด้านของครู ทั้งด้านความรู้และทักษะจากกระบวนการออกแบบหลักสูตรที่เข้มข้น และด้านจิตวิญญาณ จากกระบวนการ #จิตตปัญญาศึกษา ที่ครูได้ฝึกการใช้สุนทรียสัมผัสและเรียนรู้บ่มลึกเข้าไปภายในจิตใจตัวเอง ผลผลิตจากการเข้าใจตัวเองและผู้อื่น ทำให้บรรยากาศการทำงานในโรงเรียนเพลินพัฒนาเป็นชุมชนที่การเรียนรู้เกิดขึ้นในทุกหน่วยย่อย หล่อหลอมเป็นวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีม ที่ครูช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อจุดมุ่งหมายเดียว คือ การเติบโตอย่างสมดุลและสมวัยของเด็กๆ นั่นเอง
“บนเส้นทางบ่มเพาะการเติบโตนั้น มีทั้งช่วงที่ยากลำบาก เนื่องจากครูต้องยืดศักยภาพ ฝ่าฟันข้อจำกัดของตนเองจนเกิดความคิดสร้างสรรค์ออกมาเป็นแผนการสอนที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม เมื่อผลลัพธ์ของการทำงานออกดอกผล ครูได้เห็นว่าเด็กๆ มีพัฒนาการ ได้รับรู้ว่าตัวเองมีคุณค่าต่อการสร้างคนรุ่นใหม่ เมื่อนั้นความสุข ความปรีติ และความอิ่มเอิบของครูก็จะปรากฏชัดขึ้นเอง”
รับชมวิดีโอสัมภาษณ์ https://www.youtube.com/watch?v=DboifEcRohE
อ่านบทความฉบับเต็ม https://shorturl.asia/ZEAHc
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566