แดงชาดชั้น 10 : ความสำเร็จจากความร่วมแรงร่วมใจ

ตลอดระยะเวลาในการทำงานแดงชาดของนักเรียนชั้น 10 เกือบ 1 ปีที่เริ่มตั้งแต่การวางแผน นำเสนอธีมงาน และจัดประกวดตราสัญลักษณ์แดงชาด นักเรียนก็ค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นของการลงเนื้องานมากขึ้นตามลำดับ

เวลาว่างทุกนาทีมีความสำคัญกับคณะทำงานเป็นอย่างมาก เพราะคือช่วงเวลาที่นักเรียนจะได้ร่วมพูดคุย จัดการงานต่างๆ ให้เป็นไปตามแผน

มาถึงวันสุดท้าย “วันแดงชาด” เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566

ทีมคุณครูที่ปรึกษารู้สึกชื่นชม ยินดีกับอีกหนึ่งก้าวของการเติบโตที่นักเรียนสามารถก้าวข้ามปัญหา อุปสรรค และจัดงานออกมาได้อย่างน่าประทับใจ

อยากขอแบ่งปันความรู้สึกบางส่วนจากตัวแทนคณะทำงาน และคุณครูที่ปรึกษา สัมผัสได้ถึงความทุ่มเท ตั้งใจ ของคณะทำงานทุกคน

ทุกสิ่งสำเร็จได้ด้วย “ความร่วมแรงร่วมใจ”

รู้สึกดีใจที่สุดท้ายงานก็จบลุล่วงไปได้ด้วยดี แต่ก็ใจหายเล็กน้อย เพราะมันก็เป็นงานที่เราใช้เวลาด้วยมามากจนแทบจะเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว แต่เชื่อว่าประสบการณ์ที่ได้จากงานนี้จะมีประโยชน์ต่อไปในอนาคตแน่นอน การทำงานครั้งนี้ทำให้พวกเราได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่หลากหลาย ทั้งเพื่อน ครู ผู้ปกครอง

การแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดการทำงานทำให้ได้รู้ว่า ในบางครั้งสุดท้ายไม่ว่าจะเลือกวิธีการไหนก็ต้องมีคนไม่พอใจอยู่ดี แต่ถ้าเราไม่เด็ดขาดเลยก็จะขาดความชัดเจนกับทั้งสองฝ่ายเช่นกัน ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถก้าวข้ามไปได้เลยหากไม่มีเหล่าเพื่อนๆ คณะทำงานรวมถึงคุณครูที่คอยให้คำปรึกษาตลอด ทำให้ได้รู้ถึงแง่มุมต่างๆของปัญหานั้น และสามารถกลั่นกรองออกมาเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่คิดว่าดีที่สุดในสถานการณ์นั้นได้

“ผมคิดว่าปัจจัยที่ทำให้งานนี้สำเร็จคือการให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเพื่อนคณะทำงานและครูที่ปรึกษาทุกท่าน ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทุกคนทำให้สามารถทำให้งานนี้สำเร็จได้ครับ”

นายกฤติกร เสริมศรี (เกีย) ประธานคณะทำงานแดงชาด

“ตีธง” ที่ตราตรึง

ในปีนี้การแสดงในพิธีเปิดจากคณะทำงาน ชั้น 10 สร้างความประทับใจแก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก คุณครูอินทิพร สดากร คุณครูที่ปรึกษาและคุณครูหน่วยวิชาแสนภาษา เล่าให้ฟังว่า การแสดงตีธงเริ่มต้นมาจาก นักเรียนชั้น 10 ต้องรับผิดชอบงานแดงชาดในฐานะคณะทำงาน และในคาบเรียนศิลปกรรมนักเรียนต้องออกแบบการแสดงโดยมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนขึ้นโดยต้องออกแบบเพื่อบอกเล่าโจทย์ธีมงานแดงชาด รวมไปถึงลักษณะ รูปแบบของพื้นที่แสดงที่ต่างออกไป ซึ่งเป็นโจทย์ในห้องเรียนที่นำมาแสดงออกร่วมกับกิจกรรมที่รับผิดชอบ

ครูจึงให้ดูตัวอย่างการแสดงที่แตกต่าง หลากหลาย และเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่แสดง นักเรียนสนใจการแสดงที่เรียกว่าตีธงเพราะได้ทราบกระบวนการออกแบบการแสดงตีธงมาบ้างแล้ว รู้สึกแปลกใหม่ ไม่เคยทำมาก่อน บวกกับทักษะ และเวลาที่เหลืออยู่ไม่มากนักเรียนจึงตัดสินใจ นำเสนอการแสดงพิธีเปิดในรูปแบบนี้

ธงหลากสีและทำนองเพลงที่เลือกใช้ สื่อถึงทวีปต่างๆ ที่สอดคล้องกับธีมงานเทศกาล (Festival) ความหลากหลายที่ทำให้ผู้คนได้กลับมาพบเจอ สนุกสนานร่วมกันหลังจากที่เราไม่ได้จัดงานแดงชาดมาหลายปี แต่ด้วยเงื่อนไขของค่าใช้จ่ายเรื่องอุปกรณ์ (ธงและเสา) ที่มีราคาสูงมาก นักเรียนจึงช่วยกันระดมความคิดแก้ปัญหาด้วยการขอให้ พี่ๆ อป. ช่วยดัดแปลงท่อ PVC ใช้เป็นด้ามเสาธง และช่วยกันตัดเย็บผ้า ส่วนที่เป็นธงสำหรับแสดง

ติดตามคลิปการแสดงตีธงได้ที่

การทำงานครั้งนี้คือสถานการณ์จำลองเพื่อฝึกการทำงาน ฝึกการวางแผน ยืดหยุ่น และเรียนรู้ที่จะจัดการอารมณ์ของตนเองก่อนที่นักเรียนจะออกไปเผชิญกับโลกจริง ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าทักษะด้านวิชาการ

ขอขอบคุณทุกๆ ส่วนงานทั้งคุณครู บุคลากร และผู้ปกครองที่คอยให้คำปรึกษาและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และขอขอบคุณภาพสวยๆ เบื้องหลังการทำงานของคณะทำงานในวันแดงชาดโดย “ครูนุก” ด้วยค่ะ

แล้วพบกันใหม่ในงานกีฬาแดงชาดครั้งที่ 18

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566