เส้นทางของ 3 สาวนักสร้างสรรค์

ชวนเปิดมุมมองสำหรับเด็กๆ ที่ชื่นชอบงานออกแบบและนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งยังได้ลงมือปฏิบัติฝึกฝนประสบการณ์ตรงขณะเรียนกับ 3 รุ่นพี่ศิษย์เก่า ได้แก่ นางสาวอันน์ ปัญญจร (อันน์) ได้รับทุนเพชรพระจอมฯสาขาวิชาการดีเด่น, นางสาวพิชชากร ไชยศิริธัญญา (พลอย) และนางสาวนีลัญชนา พุทธิรัตน์ (เค้กกี้) ทั้งสามคนเลือกศึกษาต่อคณะเดียวกันที่ SoA+D (school of Architecture and design) สาขานวัตกรรมการออกแบบเชิงลึก DIPs (Design Innovation Practice school) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่เน้นการออกแบบนวัตกรรม ให้ความสำคัญด้านการเจาะลึกการเเก้ปัญหา การออกแบบ เเละจะได้เรียนรู้ Hard skills และ Soft skills ซึ่งมีความสำคัญมากกับการทำงานในอนาคต

ทั้งสามคนมีความเหมือนที่แตกต่าง ชื่นชอบการออกแบบเชิงสร้างสรรค์เพื่อการทำธุรกิจเหมือนกัน แต่เส้นทางอาชีพมีความแตกต่างกัน อันน์ชอบกิจกรรมที่ทำเพื่อสังคม พลอยสนใจต่อยอดธุรกิจร้านอาหาร เค้กสนใจพัฒนางานออกแบบของตนเองให้มีความโดดเด่น

อันน์สนใจคณะนี้มาตั้งแต่ ชั้น 9 แล้วค่ะ ในตอนนั้นยังเป็น Industrial Design ที่เกี่ยวกับการออกแบบเพื่ออุตสาหกรรม เพราะว่าชอบดีไซน์สิ่งของต่างๆ พอมา ม.ปลายก็ค้นพบว่าตัวเองไม่ได้ชอบเรียนแค่ศิลปะ แต่ยังสนใจด้านสังคมและธุรกิจด้วย ซึ่งสาขา Design Innovation Practice School ที่เพิ่งเปิดใหม่ (อันน์ทำงานกับมหาวิทยาลัยมาก่อนหน้านี้ก็เลยได้เห็นในช่วงออกแบบหลักสูตร)

ก็พบว่าเป็นทางที่เหมาะกับอันน์มากขึ้นกว่าเดิมค่ะ เพราะว่านอกจากจะได้เรียนดีไซน์แล้ว ยังได้รับประสบการณ์ทำงานในบริษัทจริงๆ ได้ทำเวิร์คชอป ได้ทำโปรเจคที่จะนำไปพัฒนาสังคมจริงๆ และอันน์อยากเป็นดีไซน์เนอร์อยู่แล้วค่ะ ยิ่งการที่ได้ทำงานก่อน ยิ่งทำให้เรามีประสบการณ์ ถ้าทำผลงานดี โดดเด่น พอจบมาก็อาจจะสามารถยื่นสมัครไปในบริษัทในเครือหรือมีคอนเนคชั่นดีๆได้เลย”

ติดตามบทสัมภาษณ์ของอันน์ที่เคยให้สัมภาษณ์กับคณะ SoA+D ได้ที่ลิงค์ด้านล่าง

พลอยชอบและสนใจเกี่ยวกับ Innovation, Business แล้วก็รู้สึกว่าเห็นภาพตัวเองตอนเรียน ตอนทำกิจกรรม รู้สึกว่าเหมาะกับตัวเองมากๆค่ะ คิดว่าพอเรียนจบจากสาขานี่ จะไปเรียนต่อด้านอาหาร เพราะเป็นอีกหนึ่งความชอบของพลอย คิดว่าอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง โดยจะนำสิ่งที่เรียนทั้ง 2 อย่างมาปรับใช้กัน”

เค้กสนใจเรื่องของการออกเเบบ,นวัตกรรมใหม่ๆ เเละการเรียนรู้ที่ได้ลงมือทำหรือทำงานควบคู่ไปด้วย ให้โอกาสกับนักศึกษาได้ทำงานร่วมกับบริษัทชั้นนำสามารถเลือกได้ตามที่ตัวเองสนใจ ส่งเสริมให้มีประสบการณ์สามารถทำงานต่อได้ในอนาคต เเละเป็นการเรียนรู้ที่ไม่ได้ตีกรอบความคิดของเด็กเเต่สนับสนุนในสิ่งที่เด็กสนใจทำให้ชื่นชอบคณะนี้ เส้นทางอาชีพหลังจากนี้ส่วนตัวสนใจที่จะเป็นนักออกเเบบหรือทำธุรกิจส่วนตัวค่ะ”

เมื่อการเรียนรู้เริ่มต้นมาจากความชอบ ความสนใจ เชื่อว่าอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้เราจะมีนักออกแบบเชิงสร้างสรรค์หน้าใหม่ รอติดตามผลงานและเป็นกำลังใจให้ทั้งสามสาวนะคะ

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร

ข้อมูล ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2564