เส้นทางการเรียนรู้…สู่โลกกว้างของ “มินนี่”รุ่นที่ 11

ได้พูดคุยกับ “มินนี่ – น.ส. ปัณณพร ขรรค์บริวาร” นักเรียนชั้น 12 ตั้งแต่ช่วงก่อนสถานการณ์ covid – 19 ถึงเส้นทางการศึกษาต่อ และความประทับใจที่ได้เดินทางไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ล่าสุดได้รับข่าวดีจาก “มินนี่” ว่ากำลังจะไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมันโดยไปเรียนภาษา และเรียนปรับพื้นฐาน (Studienkolleg) ซึ่งจะเดินทางช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. นี้ก่อนสอบเข้าเรียนด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์  จึงอยากนำบทสัมภาษณ์ของ “มินนี่” ในช่วงเวลานั้นเพื่อแบ่งปันมุมมองความคิดและประสบการณ์ดีๆ ที่ได้รับ  

จุดเริ่มต้นของความสนใจด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์

เริ่มมาจากได้ไปดูงานที่ญี่ปุ่นกับคุณแม่ เป็นงานเกี่ยวกับเครื่องมือการแพทย์ ข้อเข่าเทียม แผ่นเหล็กที่ไว้แปะกระดูก ดามกระดูกหัก พวกสายน้ำเกลือ เข็ม หนูมีความรู้สึกว่าทุกวันนี้การแพทย์ของโลกเราไปไกลกว่าที่เราคิดแล้ว  และหนูมีความรู้สึกว่าครอบครัวทำธุรกิจด้านนี้หนูน่าจะพัฒนาธุรกิจของที่บ้านให้ดีกว่านี้ได้ไหม จึงสนใจ และเริ่มมีความคิดว่าแล้วมีประเทศไหนอีกที่มีเทคโนลยีที่ทันสมัยที่เราน่าไปเรียนรู้

เลือกไปแลกเปลี่ยนประเทศ “เยอรมัน” ผู้นำด้านเทคโนโลยี

หนูเลือกไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เยอรมันเป็นเวลา 10 เดือน เพราะทราบมาว่าเยอรมันเป็นอันดับต้นๆ เรื่องเทคโนโลยีของโลก หนูจึงอยากรู้ หนูสนใจอยากเป็นวิศวกร  จึงต้องไปดู

ความประทับใจ และประสบการณ์ที่ได้รับจากการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน

ประทับใจ Host  ค่ะเค้ามี Attitude ในการมองคน ยอมรับในความแตกต่างด้านวัฒนธรรม บ้านเราเป็นอย่างนี้ แต่วัฒนธรรมบ้านเค้าเป็นอีกแบบหนึ่ง คือไม่มีอะไรผิด อะไรถูก มันคือความแตกต่าง อันนี้คือสิ่งที่หนูคิดว่าหนูก็ควรจะมองคนแบบนี้ด้วย ไม่มีอะไรถูกทั้งหมดหรอกมันแค่แตกต่างเฉยๆ ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก

Host จบด้านวิศวกรรมทั้งคู่ ทั้ง  Host dad และ Host mom สำหรับ Host mom ทำธุรกิจครอบครัวเป็น HR และเขียน Code ส่วน Host dad ทำงานอยู่ที่ Porsche (ปอร์เช่) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของประเทศเยอรมัน ฝ่าย development แผนก acoustic  มีอะไรก็จะพาหนูไปด้วย อย่างบางทีเปลี่ยนยางรถยนต์ก็จะถามว่าเปลี่ยนไหม พาไปเปลี่ยนแบบ Manual นั่งขันน็อตรถยนต์ของเค้าเอง หรือบางทีก็พาไปเปลี่ยนที่ศูนย์รถ Porsche  พร้อมทั้งสอนว่า  Test ยาง หรือ Test เครื่องทำแบบนี้  ยกตัวอย่างยางสำหรับฤดูร้อนและฤดูหนาว และขับ Test ให้ดู หนูรู้สึกว่าน่าสนใจดีค่ะ

การเปลี่ยนแปลงด้านมุมมอง ความคิด

หนูรู้สึกว่าเปลี่ยนไปตามสิ่งที่เราเจอบวกกับตัวตนของเราด้วยว่าเราเป็นยังไง เรารู้สึกอย่างไร บางทีความคิดเราก็เปลี่ยนไปบ้างตามเวลา ตามสิ่งที่เราเจอมาแต่มันอยู่ที่ว่าเราเลือกที่จะเป็นแบบไหนด้วย สิ่งที่เราเจอมา อย่างหลงทางไปถามทางใครก็ไม่รู้  โทรไปหา Host เค้าก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้  นึกภาพแบบว่าถ้าเราเป็นคนเดือดร้อนแล้วไปอยู่ต่างประเทศ เราจะรู้สึกยังไง ภาษาก็ไม่รู้ คนที่นี่ก็พูดภาษอังกฤษไม่ได้ แบตโทรศัพท์ก็ไม่มี เงินในโทรศัพท์ก็โทรหาใครไม่ได้ ความรู้สึกเหมือนว่าโลกมันแบบหันไปทางไหน .. ก็ไม่รู้จะขอความช่วยเหลือจากใคร จึงเกิดความรู้สึกว่าถ้าเกิดมีใครมาขอความช่วยเหลือเราอย่างนี้ ถ้าเราไม่เดือดร้อน ช่วยได้ก็จะช่วยเค้า … เราต้องไม่รังแกใคร และก็ไม่ให้ใครมารังแกเรา หนูรู้สึกอย่างนั้น  คือเราต้องเข้มแข็งแต่เราต้องไม่รังแกใคร

ทักษะที่เราได้เรียนรู้จากเพลินพัฒนาปรับใช้อย่างไรในต่างแดน

หนูว่าเรื่องความคิด วิธีการทำงาน  มุมมองต่างๆ ค่อนข้างมีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ เช่น เวลาหนูหลงทาง  บางคนเค้า Panic  แม้แต่คนในเยอรมันเองที่ไปอยู่ต่างเมือง ยัง Panic เลย แต่หนูมีความรู้สึกว่าหลงเหรอก็หลงสิ ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็มีทางออกแหละ โทรศัพท์ก็มี Information ก็มี ก็แค่หลงไม่เป็นไร ถ้าเกิดเราไม่หลงเราก็ไม่รู้หรอกว่าทางไหนคือทางที่ถูก

มุมมองความคิดจาก “คุณแม่ลูกสาม” คุณเพ็ญนภา  แก้วยานุรักษ์ และการค้นหาตัวตนของ “มินนี่ – น.ส. ปัณณพร  ขรรค์บริวาร” ลูกสาวคนโตของคุณแม่ และศิษย์เก่าเพลินพัฒนารุ่นที่ 11 ที่กำลังออกโบยบินสู่โลกกว้างเดินทางไปศึกษาต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์  สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ Technische Universität Berlin ประเทศเยอรมัน

กว่าจะมาถึงวันนี้ มีทั้งความไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจ และค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นความไว้ใจ เชื่อใจ เพราะเชื่อมั่นว่าเด็กจะเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อ โรงเรียนสร้างประสบการณ์.. บ้านช่วยสนับสนุน

มุมมองความคิดจาก “คุณแม่ลูกสาม” คุณเพ็ญนภา  แก้วยานุรักษ์ และการค้นหาตัวตนของ “มินนี่ – น.ส. ปัณณพร  ขรรค์บริวาร” ลูกสาวคนโตของคุณแม่ และศิษย์เก่าเพลินพัฒนารุ่นที่ 11 ที่กำลังออกโบยบินสู่โลกกว้างเดินทางไปศึกษาต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์  สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ Technische Universität Berlin ประเทศเยอรมัน

กว่าจะมาถึงวันนี้ มีทั้งความไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจ และค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นความไว้ใจ เชื่อใจ เพราะเชื่อมั่นว่าเด็กจะเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อ โรงเรียนสร้างประสบการณ์.. บ้านช่วยสนับสนุน

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ ตุลาคม 2563