จากบ้านเล็กสู่บ้านใหญ่
เปิดการเรียนรู้ จากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ก่อตั้ง โรงเรียนเพลินพัฒนา อ. ธิดา พิทักษ์สินสุข ที่นำพาให้รู้ถึงเจตนารมณ์ ความสำคัญของสัญลักษณ์ 9 พอดี
เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ผู้ปกครองอนุบาลได้ร่วมวงเสวนาและเรียนรู้ผ่านกิจกรรมกับ คุณครูหวาน อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข นายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯ และ ที่ปรึกษาพิเศษโรงเรียนเพลินพัฒนา โดยได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบรรยากาศสบายๆ ชวนคิด ชวนคุยถึงความสำคัญในการเล่นของลูก พ่อแม่มีส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเล่นของลูกได้ง่ายๆ
…
เป็นแนวคิดที่ครูหวานได้ชวนผู้ปกครองร่วมคิดด้วยกัน เพราะ เด็กปฐมวัยชอบเล่น เล่นได้ทุกที่ และมีจินตนาการไม่มีสิ้นสุด และ เด็กเกิดการเรียนรู้จากการเล่นอย่างมหัศจรรย์ และมีพลังอันยิ่งใหญ่
ดังนั้นในช่วงต้น ผู้ปกครองทุกท่านจึงได้มีโอกาสกลับไป “เล่น” อีกครั้ง โดยต้องช่วยกันคิดว่าจะนำสิ่งของต่างๆ ที่เตรียมไว้ให้ มาเล่นอย่างไร จึงจะสนุกด้วยกันทั้งคนเล่น และ คนดู
แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่ปรากฏขึ้น ทำให้เราได้เห็นว่า ผู้ใหญ่ในวันนี้ ได้พาเด็กน้อยที่ซ่อนอยู่ในใจออกมาโลดแล่นอีกครั้ง
…
เป็นคำถามต่อมาที่ครูหวานชวนผู้ปกครองไตร่ตรองด้วยกัน ด้วยว่า EF คือทักษะทางสมองเพื่อจัดการชีวิตให้สำเร็จ แล้วทักษะอะไรบ้างที่ได้ผ่านการเล่นก่อนหน้านี้ ผู้ปกครองบางท่านได้ให้คำตอบว่า “ได้ทุกทักษะเลยค่ะ!” ถ้าเช่นนั้นแล้ว การเล่นจึงต้องสำคัญมากมิใช่หรือ แล้วทำไมผู้ใหญ่อย่างเรา บางครั้งจึงห้ามเด็กๆ เล่นสนุกกันล่ะ
เด็กๆ นั้นฉลาดกว่าที่เราคิด และเต็มไปด้วยจินตนาการ ครูหวานพาผู้ปกครองไปชมการเล่นของเด็กๆ ไม่ว่าจะในบ่อทราย แทรมโพลีน และสนามหญ้า ได้เห็นการเล่นที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ การแก้ปัญหา และการช่วยเหลือกันของเด็กๆ
เด็กนั้นจะเรียนรู้และพัฒนาได้ดี ผ่านการเล่นแบบ Free Play คือ การเล่นแบบอิสระ โดยไม่มีกฎกติกา หรือ ข้อบังคับใดๆ การเล่นลักษณะนี้เป็นการตั้งเป้าหมายการเล่นโดยเด็กๆ อย่างแท้จริง เขาจะได้ปลดปล่อยจินตนาการ และค้นพบตัวเองผ่านการเล่น
…
การสร้างตัวตนนั้น ดีที่สุดเมื่อเริ่มตั้งแต่เล็กๆ ครูหวานได้ให้ภาพเปรียบเทียบเด็กๆ ในวัยอนุบาล เป็นเสมือนระบบปฏิบัติการที่เรากำลังสร้างขึ้นมา เพื่อรองรับอนาคต ในวัยประถม หรือมัธยม ที่เขาจะติดตั้งแอพพลิเคชั่นอะไรก็ได้ให้ตัวเอง เพิ่มทักษะและความสามารถของระบบนั้นๆ
แต่การพัฒนานั้นจะไปไม่ถึงไหน เพราะในขณะที่เขากำลังก่อร่างสร้างตัวตน ผู้ดูแลระบบอย่างพ่อแม่ได้ขัดขวางเขาไม่ให้พัฒนา ด้วยการ “คิดแทนลูก”
การคิดแทนลูก ไม่ว่าจะเป็นการที่เราเอาประสบการณ์ส่วนตัวที่เรามี หรือความกลัวที่มี ใช้ตัดสินไปก่อนแล้วว่า ลูกควรทำ หรือไม่ควรทำอะไร ห้ามทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ จะทำให้ลูกขาดโอกาสเรียนรู้
การชี้นำการเล่นของลูกเอง ก็ทำให้สุดท้ายลูกไม่รู้สึกสนุกกับการเล่น และพลาดโอกาสเรียนรู้ไป
ที่สำคัญอย่างมากสำหรับพ่อแม่ คือ การระมัดระวังคำพูด ที่เราเลือกใช้กับลูก เพราะคำพูดของเราส่งผลอย่างมากต่อความเชื่อมั่นในตัวเอง หรือ SELF ของลูก เขาอาจกลายเป็นคนไม่กล้าทำอะไร เพราะกลัวความผิดพลาด และอื่นๆ ที่ส่งผลเสียมากกว่าผลดี
…
ครูหวานได้แนะนำผู้ปกครองว่า ควรปล่อยให้ลูกได้ทำอะไรด้วยตนเองแต่เล็ก รวมถึงใช้วิธีขอความร่วมมือจากเขา ให้ลูกช่วยเหลือเรา แม้จะเป็นสิ่งที่เราทำได้อยู่แล้วก็ตาม และเมื่อเขาทำสำเร็จแล้ว อย่าลืมขอบคุณลูกด้วย การกระทำลักษณะนี้จะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ ส่งเสริม SELF ของเขาในทางที่ดี
…
หลายครั้งปัญหาของผู้ใหญ่ คือ
ไม่รู้ว่าจะต้องเล่นอะไรกับลูก หรือแม้แต่เล่นอย่างไรกับลูก
คุณครูหวานจึงได้แนะนำวิธีแสนง่าย นั่นก็คือ ให้ลูกเป็นผู้นำเราในการเล่น
ทำให้เขาเกิดจินตนาการและความคิดที่หลากหลายมากขึ้น โดยมีเราเป็นผู้ร่วมจินตนาการกับเขา
และอย่าลืมว่าผู้ใหญ่ทุกคนมีเด็กอยู่ในตัว เราย่อมเล่นกับลูกได้แน่นอน
…ในช่วงท้ายครูหวานและครูป้อมได้ให้ขั้นตอนง่ายๆ ที่ผู้ปกครองทุกท่านสามารถเริ่มต้นทำได้ทันทีตั้งแต่วันนี้
ขั้นตอนที่ 1 ดูลูกเล่น – ให้เราปล่อยใจ ปล่อยวางความกังวล ดูอย่างตั้งใจ และไม่ขัดขวางการเล่นของเขา
ขั้นตอนที่ 2 ลงไปเล่นกับลูก – ให้ลูกเป็นคนนำการเล่น ให้เราแกล้งแพ้-ชนะบ้าง ผลัดกันไป จะทำให้ลูกเข้าใจความเป็นจริงของชีวิตง่ายขึ้นด้วย และสนิทสนมกับเรามากขึ้น เพราะได้ใช้เวลาร่วมกันในสิ่งที่เขาชอบ
ติดตามรับชมวิดีโอวงเสวนาได้ที่ : https://youtu.be/Po70y7PKRWs
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 20 มกราคม 2566