เสวนาระบบการเข้าศึกษาต่อ ระดับอุดมศึกษา

วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม 2566 ช่วงชั้นมัธยม โรงเรียนเพลินพัฒนา ได้จัดงานเสวนาระบบการเข้าศึกษาต่อ ระดับอุดมศึกษา สำหรับผู้ปกครอง วิทยากรโดย อาจารย์ ดร. รับขวัญ ภูษาแก้ว อาจารย์ประจำสาขาจิตวิทยาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ หัวหน้าศูนย์แนะแนวโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ในการเสวนาครั้งนี้ มุ่งเน้นประเด็นเรื่องรูปแบบของระบบการคัดเลือกกลาง (TCAS) และ บทบาทของผู้ปกครองในการส่งเสริมและสนับสนุนเด็กๆ ให้พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายรั้วมหาวิทยาลัย

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา รูปแบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้นถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมไปตามยุคสมัย ตามศักยภาพของเด็กที่ก้าวกระโดดไปพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในทุกปี ดังนั้นการติดตามข่าวสาร ทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมจึงสำคัญมากสำหรับทั้งตัวนักเรียนเอง และ ผู้ปกครอง ในการเสวนาครั้งนี้อาจารย์ ดร. รับขวัญจึงพาผู้ร่วมเสวนาทั้งเด็กมัธยมและผู้ปกครองทำความเข้าใจระบบ TCAS พร้อมให้ข้อมูลที่จำเป็น และ ส่งเสริมให้เด็กๆ ให้ความสำคัญการการสอบเข้าแต่ละรอบ โดยเฉพาะรอบของการยื่น Portfolio

อาจารย์ ดร. รับขวัญ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการยื่น Portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงานว่า ควรเก็บสะสมผลงานไว้ตั้งแต่เด็กๆ และเลือกนำผลงานมาใส่ในแฟ้มให้สอดคล้องกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเขียนแรงบันดาลใจ การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นแก่ตัวนักเรียนคนนั้นๆ จากกิจกรรม หรือ การประกวดที่ได้ลงมือทำจนออกมาเป็นผลงานในแฟ้มนี้ การทำ Portfolio ที่เรียบง่ายสบายตา แต่เน้นเลือกใส่สิ่งที่มีคุณค่า เช่น เมื่อไปทำสิ่งนี้ได้เรียนรู้อะไร ไม่เพียงระบุทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่แล้วจบเท่านั้น เพราะกรรมการสนใจในเรื่องราวเบื้องหลังที่บอกเล่าเกี่ยวกับตัวเจ้าของผลงาน มากกว่าเพียงแค่ภาพหรือรางวัลที่ได้

ในช่วงท้าย คุณทนง โชติสรยุทธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเพลินพัฒนา ได้ร่วมให้กำลังใจกับผู้เข้าร่วมเสวนา ว่าไม่ใช่แค่ต้อง “รับรู้” วิชาการในหนังสือหรือวิชาเรียนเท่านั้น แต่ต้อง “รอบรู้” เรื่องราวในโลกข้างนอก เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสังคมและโลกของเรา รวมถึงควรมีทักษะคิดวิเคราะห์ติดตัวไว้ด้วยเพราะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการศึกษาต่อมหาวิทยาลัยที่จะยังเกิดขึ้นในทุกๆ ปีต่อไป

โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2566