จากบ้านเล็กสู่บ้านใหญ่
เปิดการเรียนรู้ จากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ก่อตั้ง โรงเรียนเพลินพัฒนา อ. ธิดา พิทักษ์สินสุข ที่นำพาให้รู้ถึงเจตนารมณ์ ความสำคัญของสัญลักษณ์ 9 พอดี
ขอแบ่งปันเรื่องเล่า เรื่องราวดีๆ ของ “พี่มี่จัง” นางสาวมิยูกิ บันโนะ ชั้น 12 ซึ่งผ่านการคัดเลือกศึกษาต่อ Science & Engineering Environmental Engineering สาขา Sustainable Innovation SOKA University ประเทศญี่ปุ่น ระยะเวลากว่า 10 ปี ในรั้วเพลินพัฒนาได้หล่อหลอมให้พี่มี่จังจากเด็กน้อยขี้อายกลายเป็นผู้นำกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน เป็นขวัญใจของน้องๆ เป็นพี่สาวใจดีที่มีรอยยิ้มอยู่เสมอ
” เพลินพัฒนาเป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 ของมี่ ตั้งแต่อนุบาล 2 จนถึงชั้น 12 มีความทรงจำมากมายเกิดขึ้นที่นี่ ตอนเด็กๆมี่เป็นเด็กขี้อาย แล้วก็ไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง แต่มี่ก็ค่อยๆ โตขึ้นมาโดยได้รับโอกาสจากคุณครู ได้อยู่รายล้อมด้วยเพื่อนๆ ที่น่ารัก และผู้ปกครองที่เป็นเหมือนคุณพ่อคุณแม่ของเราเช่นเดียวกัน ได้เติบโตในสังคมที่ดี และไม่เหมือนที่อื่นๆ ทุกๆ เหตุการณ์ในรั้วโรงเรียนทำให้มี่เป็นมี่ในทุกวันนี้ได้ จากนี้ไปมี่กำลังจะได้เริ่มต้นเดินทางไปสู่สถานที่ใหม่ๆ อีกมากมาย แต่มี่จะไม่มีวันลืมวัยเด็กที่แสนมีค่า และความทรงจำทั้งหลาย ณ ที่แห่งนี้ “
ตั้งแต่มี่เด็กๆ มี่ค่อนข้างมีความสนใจในด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด การทำชื่นใจฯ ในวัยประถม จนถึงการทำโครงงาน PBL ในวัยมัธยม เปิดโอกาสให้มี่ค้นหา และค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตัวเองมาโดยตลอด มี่ค้นพบว่าตนเองชอบธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาก แต่ไม่ใช่แค่ความหลงใหลในความงามเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความรู้สึกอยากปกป้องมาตั้งแต่เด็ก พอยิ่งโตขึ้นก็ยิ่งมีโอกาสศึกษาหาข้อมูลอย่างละเอียด จนได้เรียนรู้นวัตกรรมที่น่าสนใจ และบุคคลผู้เป็นแรงบันดาลใจ อย่าง Dr.Wangari Maathai นักสิ่งแวดล้อมชาวเคนย่า เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี ค.ศ. 2004 และยังเป็นผู้ก่อตั้งขบวนการแนวร่วมสีเขียว (Green Belt Movement) ท่านเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ของมี่มาตั้งแต่เด็ก เป็นต้นแบบของความพยายาม และความรักที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ท่านเริ่มต้นจากการเป็นเพียงผู้หญิงแอฟริกาธรรมดาๆ คนหนึ่งผู้มีความฝันที่ยิ่งใหญ่ในการจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้
พลังที่เด็ดเดี่ยวของท่านได้พลิกโฉมอนาคตของแอฟริกา และเรื่องราวของท่านก็ได้เปิดฉากความฝันให้กับมี่ ไม่ใช่แค่การเรียนอย่างไร้จุดหมายอีกต่อไป แต่ทุกๆสิ่งที่เรียนรู้จะกลายเป็นสมบัติที่ล้ำค่าให้กับอนาคตของโลก มี่เชื่อมั่นเช่นนั้น ดังนั้นการเรียนวิศวกรสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ความฝันของมี่ แต่คือทางผ่านไปสู่ความฝันของการเป็นสตรีคนหนึ่งผู้ยืนหยัดเพื่อสิ่งแวดล้อมได้เช่นเดียวกับ Dr.Wangari Maathai
คำพูดของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยโซคา ดร.ไดซาขุ อิเคดะ
สาเหตุที่ต้องเป็นมหาวิทยาลัยโซคา เพราะมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้ความใส่ใจในการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้กลายเป็นผู้นำระดับโลกให้ได้ โดยยึดมั่นในหลักมนุษยนิยม และมีเป้าหมายหลักในการสร้างสันติภาพโลก..
จริงๆ แล้วมี่ไม่เคยมีความรู้สึกอยากจะไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นมาก่อนเลย แต่เมื่อ 4 ปีที่แล้วพี่ชายของมี่ทั้ง 2 ได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโซคา และมี่ก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพี่ชายอย่างมากมาย เมื่อก่อนความฝันของพี่คือการได้ไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันความฝันของพี่ยิ่งใหญ่มาก ทั้งการเป็นวิศวกรที่สามารถช่วยเหลือมนุษยชาติ ไม่ใช่แค่ช่วยประเทศไทย แต่ช่วยเหลือทุกคนบนโลกใบนี้ หรือการทำงานเพื่อสังคม ไม่ใช่ชื่อเสียงเงินทอง การเปลี่ยนแปลงของพี่ๆ สร้างความประหลาดใจให้กับมี่ จนอดสงสัยเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยนี้ไม่ได้ และเมื่อมี่อยู่ ชั้น 10 มี่มีโอกาสได้ไปเยือนมหาวิทยาลัยในช่วงงานเทศกาลประจำปี มี่ก็ได้เข้าใจถึงสาเหตุการเปลี่ยนแปลงของพี่ๆ
มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เต็มไปด้วยความเอาใจใส่ที่มีต่อนักศึกษา เต็มไปด้วยความหวัง และความปรารถนาที่มีต่อโลกใบนี้ นักศึกษาทุกคนจะได้เรียนวิชา “การศึกษาสร้างคุณค่า” ซึ่งกล่าวถึงการสร้างสังคมที่มีคุณค่านั้นจำเป็นต้องมีบุคลากรผู้มีคุณค่า ผู้ที่ทำงานเพื่อความสุขของมนุษยชาติ ไม่ใช่เพื่อความก้าวหน้าส่วนตัวเพียงอย่างเดียว แนวคิดที่ยอดเยี่ยมของมหาวิทยาลัยนี้ ดึงดูดให้มี่พยายามอย่างหนัก ตั้งใจเรียนและเตรียมตัวอย่างดีที่สุด จนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยโซคา ในคณะวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Sustainable Innovation (นวัตกรรมที่ยั่งยืน) พร้อมทั้งได้รับทุนการศึกษาอีกด้วยค่ะ
เช่นเดียวกับเข็มชี้ของมหาวิทยาลัย หากเรารู้ว่าทุกวันนี้เราเรียนหนังสือไปเพื่อสิ่งใด การเรียนรู้ก็จะไม่ใช่การทำเพื่อเกรด หรือเรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป แต่จะเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น และมีคุณค่า นี่คือสิ่งที่เด็กๆ ทุกคนควรคำนึงถึงเช่นเดียวกัน
ถ้าพูดถึงเป้าหมายในอนาคตของมี่ แน่นอนว่า อยากจะเป็นนักวิศวกรที่ทำงานเพื่อโลกใบนี้ แต่จริงๆแล้วมี่ก็ไม่เคยวางแผนอนาคตไว้ชัดเจนว่าจะต้องลงเอยด้วยการทำงานที่ไหนขนาดนั้น มี่คิดว่ามี่อยากจะผจญภัยไปเรื่อยๆ ขัดเกลา และพัฒนาตนเองต่อไปจนกว่าจะพบประเทศและสถานที่ที่มี่จะสามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความสุขได้
การไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศสวีเดนในช่วงที่เรียนอยู่ชั้น 11 มอบทัศนคติที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้นให้กับมี่ ทำให้มีเห็นว่าโลกใบนี้ใหญ่โตเหลือเกิน และยังมีอีกหลายเรื่องราวให้มี่ได้ค้นหา และด้วยความที่ครอบครัวของมี่ล้วนเป็นชาวต่างชาติ ทั้งคุณพ่อที่เป็นคนญี่ปุ่น และคุณแม่ที่เป็นคนไต้หวัน ทั้ง 2 ท่านจึงเข้าใจและเปิดโอกาสให้พวกเรา ลูกๆทั้ง 3 คนของท่าน ออกไปเผชิญโลกที่ตนเองต้องการมาโดยตลอด
คุณแม่ของมี่ เคยเรียกมี่และพี่ชายทั้ง 2 ที่กำลังจะไปเรียนต่อญี่ปุ่นมาคุยว่า
” พวกเราจะเรียนอะไรก็ได้ที่อยากเรียน จะอยู่ประเทศไหนก็ได้ที่อยากอยู่ มะม้าคิดเสมอว่า เมื่อลูกๆ อายุ 18 ปี พวกเราไม่ใช่ลูกของมะม้า แต่เป็นลูกของสังคม เพราะฉะนั้นจากนี้ไปจะทำอะไรก็ได้ แต่ขอให้สิ่งนั้นมีประโยชน์ต่อมนุษย์ และมีคุณค่าต่อโลกใบนี้ “
คำพูดนี้ของคุณแม่อยู่ในใจของพวกเราทั้ง 3 เสมอมา ทั้งกับพี่ที่อยู่ญี่ปุ่นมาตลอด 4 ปี และกับมี่ที่กำลังจะเริ่มต้นเดินทางบนเส้นทางของตนเอง คำขอเดียวของคุณแม่ก็คือขอให้พวกเราเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคม และพวกเรากำลังมุ่งสู่ความปรารถนานี้เช่นเดียวกัน
อ่านถึงบรรทัดนี้คิดว่าหลายๆ คนต้องแอบยิ้มตาม ปลื้มปริ่มไปกับความคิดของเด็กผู้หญิงคนนี้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์และพลังชีวิต ที่มาจากเบ้าหลอมเดียวกันตั้งแต่อนุบาล ประถม และมัธยม โดยมีครอบครัวเป็นเบื้องหลังสำคัญช่วยนำพาให้เด็กผู้หญิงคนนี้กล้าก้าวออกจาก comfort zone พร้อมออกไปเผชิญโลกได้อย่างมีพลัง เป็นกำลังใจให้ “มี่จัง” เดินทางไปถึงเป้าหมาย แม้เส้นทางอาจไม่ได้ราบเรียบเสมอไปแต่เชื่อมั่นว่า “มี่จัง” จะเดินทางไปถึงได้ด้วยแรงบันดาลใจอันแน่วแน่
โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 20 มีนาคม 2562