“เรียนรู้เรื่องดิน” ห้องเรียนธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยาชั้น 5

ดินที่สมบูรณ์ควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง …

อินทรียวัตถุ อนินทรียวัตถุ สิ่งมีชีวิต สิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดดิน ดิน 1 ก้อนใช้เวลาในการก่อกำเนิดนานหลายร้อยปี  นี่คือพื้นความรู้เดิมที่เด็ก ๆ ชั้น 5 ได้รับรู้และนำมาต่อยอดในคาบเรียนธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยา

คุณครูวิ และคุณครูอัมชวนเด็กๆ หาคำตอบเกี่ยวกับสมบัติทางกายภาพของดินแต่ละชนิด โดยให้เด็กๆ สังเกตลักษณะและเนื้อสัมผัสของ ดินร่วน ดินทราย ดินเหนียว แล้วบันทึกข้อมูลที่สังเกตได้ จากนั้นหยดน้ำลงไปบนดินทั้ง 3 ชนิด คนให้เข้ากัน สังเกตการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ สี กลิ่น ผิวสัมผัส และการจับตัวกันของดิน ก่อนนำตัวอย่างของดินมาป้ายลงในแบบบันทึกที่คุณครูแจกให้เพื่อสังเกตอย่างละเอียด หลังจากการทดลองนี้จบลง เด็กๆ ร่วมสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ 

“ เมื่อดินร่วนโดนน้ำแล้วกลิ่นเหมือนตอนฝนตกใหม่ๆ  ดินเหนียวมีกลิ่นคล้ายโคลน  ดินทรายหยาบมากและมีสีอ่อน…” 

มาถึงการทดลองที่ 2 คือการสังเกตลักษณะของเนื้อดินผ่านกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูอนุภาคของดินแต่ละชนิด สิ่งที่เด็กๆ บอกเล่าคือดินเหนียวเนื้อละเอียดมาก ดินทรายมีลักษณะคล้ายผลึก

การทดลองสุดท้ายคือการ สังเกตการระบายน้ำของดิน โดยนำดินทั้ง 3 ชนิดใส่ในกรวยและวางกรวยบนบีกเกอร์ จากนั้นค่อยๆ เทน้ำปริมาณ 200ml ลงบนดินทั้ง 3 ชนิดพร้อมๆ กัน  สังเกตน้ำที่ไหลผ่านดินลงในบีกเกอร์ระยะเวลา 2 นาที แล้ววัดปริมาณน้ำที่ได้ คำตอบจากการทดลองครั้งนี้คือดินทรายสามารถระบายน้ำได้ดีกว่าดินชนิดอื่นๆ  พร้อมกันนี้คุณครูได้อธิบายถึงหลักการทางวิทยาศาสตร์เรื่องของตัวแปรต้น ตัวแปรตาม และตัวแปรควบคุมด้วย

จากการทดลอง เมื่อเด็กๆ เห็นถึงลักษณะและคุณสมบัติของดินแล้ว  ถัดไปจะต้องนำข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อได้ว่าดินแต่ละชนิดเหมาะกับการปลูกพืชชนิดใด  สามารถพัฒนาดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ได้อย่างไร  หลังจากสังเกตลักษณะทางกายภาพของดิน สัปดาห์หน้าจะได้ทดลองสมบัติทางเคมีหาค่า pH  และปริมาณธาตุอาหารพืชในดินด้วย

ตลอด 3 คาบเรียนในห้องแลปช่วงชั้นประถมปลาย เด็ก ๆ ทุกคนมีความสนใจใคร่รู้  กระตือรือร้นในการทดลอง ค้นคว้า หาคำตอบตลอดเวลา ไม่ต้องเดาเลยว่าคาบเรียนหน้าที่มีการทดลองทางเคมีเด็กๆ จะสนุกแค่ไหน

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2563