เรียนรู้วิถีภาคกลาง อนุบาล 3 ปีการศึกษา 2563

“ของดี 4 ภาค” แนวคิดจัดการเรียนรู้ชั้น อ.3 ที่มีเป้าหมายให้เด็กๆ ซึมซับ คุณค่าในความเป็นไทย สัปดาห์นี้คุณครูจึงพาเด็กๆ ท่องลุ่มน้ำเจ้าพระยา พื้นที่ภาคกลางที่มีแม่น้ำจากภาคเหนือไหลผ่านถึงสี่สาย มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าวได้ตลอดทั้งปี

เด็กๆ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตภาคกลางผ่านการละเล่นและบทเพลงต่างๆ ที่สะท้อนวิถีชีวิตชาวนา ได้ร้องเพลง “รำเคียวเกี่ยวข้าว” พร้อมทำท่าประกอบ และเรียนรู้คำศัพท์ในเพลงสัมพันธ์กับท่าทางด้วย เช่น ท่าเกี่ยวข้าว ท่าชะแง้แลเหลียว

การแสดงรำเคียวเกี่ยวข้าว จะทำเมื่อถึงเวลาเกี่ยวข้าวที่ต้องอาศัยเรี่ยวแรงของชาวบ้านมาช่วยกันเกี่ยว เรียกว่า การลงแขก แต่ผลผลิตของข้าวบางปีอาจไม่ได้ตามเป้าหมาย จึงเกิดประเพณีทำขวัญข้าวขึ้น คุณครูเปิดวิดีทัศน์ประเพณีทำขวัญข้าวให้เด็กๆ ดูแล้วชวนพูดคุยพร้อมตั้งคำถาม

นอกจากประเพณีทำขวัญข้าวแล้ว เด็กๆ คิดว่าภาคกลางมีประเพณีอะไรอีก?

คุณครูแสดงบัตรภาพประเพณีให้เด็กคาดเดาว่าในภาพคือประเพณีใด คุณครูพูดคุยถึงภาพแต่ละประเพณี จากนั้นถามคำถามเชื่อมโยงสู่การละเล่น เมื่อชาวนาเกี่ยวข้าวไปหมดแล้ว ทุ่งนาจะเป็นพื้นที่โล่งๆ มีลมพัดเย็นสบาย ก็จะมีการละเล่น เด็กๆ คิดว่าเป็นการละเล่นอะไร? “เล่นว่าว” เด็ก ๆ ช่วยกันตอบอย่างไม่ลังเล

การละเล่นว่าว นิยมเล่นในเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน เพราะมีลมพัดผ่าน ไม่มีฝนตก และจัดเป็นกีฬาที่แข่งขันกันอีกประเภทหนึ่งด้วย ผู้เล่นต้องอาศัยความแข็งแรง ความประณีต ความมีไหวพริบ และความพร้อมเพรียง จากนั้นนำว่าวของจริงให้เด็กๆ ดู พร้อมบอกชื่อของว่าวแต่ละตัว ก่อนให้เด็กๆ สร้างสรรค์ผลงานว่าวของตนเอง

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564