เรียนรู้การแสดง 4 ภาค : อนุบาล 3
ในภาคเรียนนี้เด็กๆ ชั้น อ.3 เรียนรู้วัฒนธรรมผ่านการแสดงของภาคต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตชาวไทยในอดีต คุณครูจึงมีทั้งใบความรู้ ภาพประกอบ รวมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการแสดงมาสาธิตให้เด็กๆได้ชม มากไปกว่านั้นเด็กๆ ยังได้เคลื่อนไหวไปกับจังหวะช้า เร็วตามท่วงทำนองบทเพลงของแต่ละภูมิภาค ดังนี้
- เซิ้งแหย่ไข่มดแดง – ในอดีตชาวบ้านในภาคอีสานมักหาอาหารในแหล่งธรรมชาติ ไข่มดแดงก็เป็นอาหารพื้นฐิ่นที่นิยมนำมาปรุงหลากหลายเมนู จากวิถีการกินอยู่ นำไปสู่การร้องเล่น เต้นสนุกๆ คุณครูแสดงให้เด็กๆ ได้ชมก่อนพาเซิ้งไปพร้อมกัน
- เด็กไทภูเขา – ของภาคเหนือ เด็กๆ ดูภาพการแต่งกายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จากนั้นได้สาธิตการแสดง “เด็กไทภูเขา” พร้อมแนะนำท่าทางประกอบให้เด็กฟังเพลง และท่าฟ้อนที่สัมพันธ์กับเนื้อเพลง เคลื่อนไหวร่างกายไปตามจังหวะ
- เต้นกำรำเคียว – สะท้อนวิถีชีวิตของคนภาคกลางที่ผูกพันกับสายน้ำ ข้าวและชาวนา เด็กๆได้เรียนรู้เครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ที่ใช้ พร้อมชมคลิปการแสดง มือหนึ่งถือเคียว มือหนึ่งถือรวงข้าว ฝึกเต้นรำไปตามจังหวะเพลง
- ลิเกฮูลู – การละเล่นพื้นบ้านของชาวมลายูมุสลิม ภาคใต้ มีจังหวะดนตรีที่สนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจ มักเล่นในงานรื่นเริง เช่น งานแกปูโละ พิธีเข้าสุนัต และงานฮารีรายอ ลิเกฮูลูมีท่าทางที่เฉพาะ ทั้งการเขย่าขา ตบมือ การทำท่าคลื่นทะเล ท่าแจวเรือ การแสดงชุดนี้สร้างความครึกครื้น คึกคักเด็กๆ ทำตามกันอย่างสนุกสนาน
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566