จากบ้านเล็กสู่บ้านใหญ่
เปิดการเรียนรู้ จากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ก่อตั้ง โรงเรียนเพลินพัฒนา อ. ธิดา พิทักษ์สินสุข ที่นำพาให้รู้ถึงเจตนารมณ์ ความสำคัญของสัญลักษณ์ 9 พอดี
เพื่อลดการแพร่เชื้อโรคในอนุบาลและพื้นที่ส่วนกลางของโรงเรียน
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา โรงเรียนเพลินพัฒนาได้ดำเนินการติดตั้งระบบ SCG Bi-ion หรือระบบไอออนกำจัดเชื้อโรคในอากาศ ในพื้นที่ห้องเรียน ห้องเรียนร่วม และห้องพักครู ของอาคารเตรียมอนุบาล จำนวน 8 ห้อง และอาคารอนุบาล จำนวน 16 ห้อง โดยเน้นบริเวณอาบน้ำของเด็กเตรียมอนุบาล และอนุบาลด้วย ซึ่งเป็นจังหวะที่นักเรียนถอดหน้ากาก และลดโอกาสการแพร่เชื้อในห้องปิดกับนักเรียนที่ยังอาจควบคุมการใส่หน้ากากอนามัยได้ไม่ดีนัก รวมถึงได้ติดตั้งในพื้นที่ส่วนกลางต่างๆ จำนวน 3 ห้อง ได้แก่ ห้องเรียนที่ใช้งานร่วมกัน ห้องสมุดมัธยม ห้องสมุดกลาง และห้องพยาบาลกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย รวมการติดตั้งทั้งหมด 27 ห้อง (72 เครื่อง) ถือว่าเป็นมาตรการเพิ่มเติมนอกเหนือจากมาตรการลดการแพร่เชื้อโควิด 19 ตามปกติในโรงเรียน
สำหรับพื้นที่ห้องเรียนอื่นๆ ของโรงเรียน วิศวกรของ SCG ประเมินแล้วพบว่า ระบบการหมุนเวียนอากาศดีเข้ามาในห้อง เพียงพอสำหรับการลดการแพร่เชื้อได้ตามมาตรฐานแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้ระบบ SCG Bi-ion นี้
โรงเรียนได้เลือกใช้เครื่อง Plasma Air 600 Series ของ SCG ติดตั้งกับเครื่องปรับอากาศและพัดลมที่มีอยู่เดิม เมื่อเปิดเครื่องปรับอากาศหรือพัดลม เครื่องดังกล่าวจะทำงานโดยอัตโนมัติ ในช่วงที่ไม่ได้เปิดใช้งานเครื่องปรับอากาศ ก็ยังสามารถเปิดเฉพาะพัดลมได้ โดยโรงเรียนจะเปิดใช้งานร่วมกับเครื่องฟอกอากาศ AWAC ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส-แบคทีเรียในอากาศ ลดปริมาณฝุ่นขนาดเล็กในอากาศอย่าง PM2.5-PM10 ลดกลิ่นสารระเหยและกลิ่นไม่พึงประสงค์ (VOCs) มากขึ้น
การทำงานของ Bi-ion หรือ Needlepoint Bipolar Ionization โดยเครื่อง Plasma Air จะสร้างออกซิเจนไอออนบวก (O2+) และออกซิเจนไอออนลบ (O2–) หลายล้านไอออน จากออกซิเจนธรรมชาติ (O2) ในอากาศเมื่อออกซิเจนไอออนเหล่านี้กระจายตัวจะสามารถดักจับอนุภาคในอากาศได้ ดังนี้
1. แบคทีเรียและไวรัส (Bacteria and Pathogen) ออกซิเจนไอออนบวกและลบจะเข้าทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียและไวรัสในรูปแบบของหมู่ไฮดรอกซิล (-OH) โดยหมู่ไฮดรอกซิลนี้จะดึงอะตอมของไฮโดรเจน (H) จากแบคทีเรียและไวรัส รวมตัวกลายเป็นไอน้ำ (H2O) ทำให้แบคทีเรียและไวรัสไม่สามารถก่อโรค (inactive) เทคโนโลยีนี้ผ่านการรับรองและพิสูจน์แล้วว่าลดเชื้อโคโรนาไวรัสได้ถึง 99% จากสถาบันวิจัยชั้นนำในยุโรป*
*Third-Party Test Results Show A Reduction in Coronavirus Surrogate by 99% (airborne) : Spanish Ministry of Defense Biological Laboratory
2. ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Air borne particle) อย่าง PM2.5 ที่ลอยปะปนอยู่ในอากาศ โดยออกซิเจนไอออนจะจับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขั้วตรงข้าม รวมกันกลายเป็นฝุ่นที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ถูกกรองด้วยฟิลเตอร์ในเครื่องฟอกอากาศได้ง่ายขึ้น
3. สารระเหย (Volatile organic compounds: VOCs) เช่น แก๊สแอมโมเนีย (NH3) เมื่อออกซิเจนไอออนที่ลอยอิสระในอากาศทำปฏิกิริยากับแก๊ส จะทำให้แก๊สสลายตัวและยังทำให้กลิ่นเจือจางลง
เทคโนโลยี Bipolar Ionization นี้ จะไม่ผลิตโอโซน (O3) และสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง โดยไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ภายในอาคารซึ่งผ่านการรับรองมาตราฐานผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัยจากสหรัฐอเมริกา
Intertek/ETL (UL 867)
ในการติดตั้งเครื่อง Plasma Air จะติดตั้งใน 2 บริเวณ คือ เครื่องปรับอากาศ และพัดลม โดยในบริเวณเครื่องปรับอากาศ จะติดตั้งเครื่อง Plasma Air ที่ด้านหน้าช่องระบายอากาศ เพื่อให้แรงลมที่ออกมา ช่วยส่งเสริมการกระจายของไอออน ส่วนบริเวณพัดลม จะติดตั้งเครื่อง Plasma Air ไว้ด้านหลังใบพัดลม เพื่อให้การทำความสะอาดพัดลมทำได้โดยง่าย
จากการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานไม่แตกต่างเมื่อเทียบกับการติดตั้งไว้ด้านหน้า
โดยปกติแล้วจะพบไอออนตามธรรมชาติ ประมาณ 200~20,000 ประจุ/อากาศ 1 ลบ.ซม. ขึ้นกับสภาพอากาศแต่ละพื้นที่ เช่น อากาศในเมืองที่มีมลพิษ จะมีค่าค่าไอออน 200~900 ประจุ/อากาศ 1 ลบ.ซม.
อากาศในป่า บนภูเขา ใกล้น้ำตก หรือทะเล จะมีค่าไอออน 3,000~20,000 ประจุ/อากาศ 1 ลบ.ซม. ไอออนที่ถูกสร้างจะใช้สลายมลพิษ ดังนั้นพื้นที่ที่อากาศดีจะมีไอออนคงเหลือสูงกว่า
เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการดักจับอนุภาคในอากาศ หลังการติดตั้งควรมีค่าไอออนมากกว่า 3 เท่าของไอออนตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถวัดจำนวนไอออนได้ด้วยเครื่อง ION COUNTER (ภาพด้านล่าง)
ก่อนติดตั้งเครื่อง Plasma Air วัดจำนวนไอออนในห้องเรียนได้ 600~800 ประจุ/อากาศ 1 ลบ.ซม. หลังติดตั้ง จำนวน 2 เครื่อง พบว่าวัดจำนวนไอออนได้ 129,000 ประจุ/อากาศ 1 ลบ.ซม
ซึ่งเป็นจำนวนไอออนที่มากพอที่จะสามารถดักจับอนุภาคในอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2565