เราคือสิ่งแวดล้อมของกันและกัน
ตั้งใจเข้ามาช่วยงานโรงเรียน เพราะเชื่อว่าเราคือสิ่งแวดล้อมของกันและกัน และเพราะเด็กคนหนึ่งต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านช่วยกันเลี้ยงดู (It takes a village to raise a child.)
หลังจากได้เรียนรู้เรื่องส่วนประกอบ และประสาทสัมผัสต่างๆ ในร่างกายแล้ว มาถึงสัปดาห์นี้คุณครูพาเด็กๆ ชั้น อ.2 ทำความรู้จักกับอวัยวะที่เรียกว่า “ข้อต่อ” กันบ้าง
เริ่มต้นคุณครูชวนเด็กๆ เคลื่อนไหวร่างกาย กำมือ กวักข้อมือ พับแขน ยกไหล่ หมุนแขน ขยับคอ หมุนเอว ก้ม งอขา ยกขา เตะขาไปข้างหน้า หมุนข้อเท้า ลุกนั่ง … เด็กๆทุกคนทำตามได้แบบสบายๆ ความคุ้นชินกับการเคลื่อนไหวที่อยู่ในวิถีชีวิต อาจทำให้เด็กๆ มองไม่เห็นหน้าที่สำคัญบางอย่างของร่างกายที่เรียกว่า “ข้อต่อ”
“ ให้เด็กๆ เคลื่อนไหวไปรอบห้อง โดยไม่ชนกัน โดยไม่พับแขน และไม่งอขา เคลื่อนไหวไปหยิบของ โดยไม่พับแขน ไม่งอขา /ยกขา และไม่กำมือ เคลื่อนไหวไปหยิบของ โดยไม่งอส่วนใดของร่างกายเลย ”
จบกิจกรรมนี้เด็กๆ รู้ได้ทันทีว่าข้อต่อมีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตจริงๆ ทั้งช่วยหยิบจับ เคลื่อนไหว งอได้ หมุนได้ ขยับได้ พับได้ ถ้าไม่มีข้อต่อเราต้องแย่แน่ๆ
“ฐานมือขยับมหัศจรรย์” เด็กๆ สังเกตมือ และนิ้วมือตนเอง ลองขยับทีละนิ้ว สังเกตว่าตรงไหนคือข้อนิ้วมือ คุณครูชี้ให้เด็กๆสังเกต ตรงที่งอได้เรียกว่าข้อนิ้วมือ ลองนับว่าแต่ละนิ้วมีกี่ข้อ รวมทั้งมือมีกี่ข้อ และได้ทำมือขยับมหัศจรรย์
จบคาบเรียนนี้เด็กๆ ได้เรียนรู้เข้าใจ เห็นความสำคัญของ “ข้อต่อ” ง่ายๆ ผ่านคำถามชวนคิดและได้ทดลองลงมือทำด้วยตนเอง
โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤษ๓าคม 2565