สัมผัสจิตวิญญาณบรรพบุรุษไทย

“ภูมิปัญญาภาษาไทย”

หน่วยวิชาที่เด็ก ๆ แต่ละรุ่น ได้มีโอกาสผ่านประสบการณ์ ในการสัมผัสกับจิตวิญญาณของบรรพบุรุษไทย ด้วยกิจกรรมเรียนรู้นานารูปแบบที่ได้ออกแบบไว้ เช่น การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาของนักเรียนชั้น 6 คุณครูจัดเตรียมสื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ไว้อย่างหลากหลาย อาทิ

แผนที่อยุธยา เพื่อมองหาความรุ่งเรือง ความผูกพันที่เกิดขึ้นในอดีต
กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง วรรณคดีที่สะท้อนความรุ่งเรือง อุดมสมบูรณ์ของยุคสมัย ยุคทองของวรรณกรรม
สมุดไทย จารึกภาพการประชุมกระบวนเรือฯ สะท้อนความผูกพัน วิถีแห่งสายน้ำ
ภาพลายรดน้ำ ยุคทองทางศิลปะ ลายไทย ความประณีตและการฝึกความเพียรแบบคนไทยโบราณ ฯลฯ

“แผนนี้ต่อเนื่องมาจากเดิม หลังจากรู้จักความงดงาม ภูมิปัญญาทางศิลปะวัฒนธรรม ของสุโขทัยแล้ว งานชิ้นนี้ส่งต่อความงามมาสู่ยุคกรุงศรีอยุธยา เด็กๆ ตั้งต้นความสนใจ จากคำถามที่อยากรู้ว่า อยุธยามีอะไรน่ารู้บ้าง ทุกคนมีกันคนละคำถาม จากนั้นก็ชวนกันค้นคว้า หาคำตอบจากร่องรอยหลักฐาน จากหนังสือต่างๆ ในห้องสมุด ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่น่าสนใจ เมื่อเด็กๆ หาคำตอบได้แล้ว ให้นำเสนอในรูปแบบที่ทำให้ผู้ชมเห็นเสน่ห์ไทยในอยุธยาอย่างชัดเจนและสะท้อนคุณค่าความเป็นไทย”
คุณครูนันทกานต์ อัศวตระกูลดี (ครูนัท) บอกเล่า

เด็กๆ ออกแบบการนำเสนอที่หลากหลาย บางกลุ่มออกแบบเป็นสมุดไทยและเขียนอักษรสมัยอยุธยา โดยแบ่งหน้าที่กันทำ คนหนึ่งเผาขอบกระดาษ คนหนึ่งวาดลายไทย คนหนึ่งสรุปข้อมูลแล้วเขียนร่างดินสอลงกระดาษสีดำ คนหนึ่งตัดเส้นสีขาวทับบนดินสออีกรอบ มาถึงขั้นตอนนี้จึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า …. ทำไมไม่เขียนด้วยสีขาวไปเลยทีเดียว ไม่ต้องลงดินสอก่อน เพราะดูจากข้อมูลที่เขียนคงใช้เวลาไม่น้อย เด็กคนหนึ่งบอกว่า ถ้าลงสีขาวไปเลย หากเขียนผิดจะลบยาก ถ้าลบก็จะเป็นรอยไม่สวย จึงเลือกที่จะร่างดินสอก่อนแล้วค่อยเขียนทับเพื่อป้องกันความผิดพลาด เด็กๆ ช่วยกันเขียนจนชิ้นงานเสร็จสมบูรณ์

ผลงานหนึ่งชิ้นที่เด็กๆ ได้ช่วยกันทำ นอกเหนือจากความรู้ที่ได้รับ ยังช่วยสร้างคุณลักษณะที่ดีติดตัวไป ได้ฝึกความเพียร ฝึกการทำงานเป็นทีมเพื่อให้ถึงเป้าหมายร่วมกัน ได้ซึมซับการทำงานแบบปิดทองหลังพระ สมัยก่อนการวาดเส้นเขียนลวดลายถือเป็นการปฏิบัติธรรมของช่างศิลป์ ช่างที่ตั้งใจสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อเป็นกุศลจะไม่สนใจว่าผลงานของเขาจะปรากฏต่อสายตาใครหรือไม่ หลักฐานปรากฎให้เห็นจากโกลน (โครงสร้างภายใน) ของเจดีย์สมัยอยุธยาที่ออกแบบลวดลายไว้อย่างวิจิตรแต่ซ่อนอยู่ภายใน มาปรากฏให้เห็นเมื่อโครงสร้างภายนอกเจดีย์นั้นชำรุด

จากการทำชิ้นงานนี้เด็กๆ ได้ผ่านบทพิสูจน์นี้เช่นกัน

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร

ข้อมูล ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2563