เราคือสิ่งแวดล้อมของกันและกัน
ตั้งใจเข้ามาช่วยงานโรงเรียน เพราะเชื่อว่าเราคือสิ่งแวดล้อมของกันและกัน และเพราะเด็กคนหนึ่งต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านช่วยกันเลี้ยงดู (It takes a village to raise a child.)
สัปดาห์รักการอ่านของช่วงชั้นอนุบาล ขนความสนุกมาเสิร์ฟเด็กๆ อย่างจุใจ ตลอดวันที่ 12 – 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นขบวนพาเหรด โขน โรงนิทาน นิทานรับเชิญ และนิทานแสนอร่อย
เปิดงานนี้ด้วยการเดินขบวนพาเหรดเปิดโลกนิทาน เป็นที่รู้กันว่าการแต่งตัวของน้องๆ อนุบาลจัดเต็มมากๆ ในทุกอิเวนต์ของช่วงชั้น ในครั้งนี้ก็เช่นกัน เด็กๆ ต่างพากันแต่งตัวหลากหลายมากมาย ตามแต่จินตนาการจะพาไป เป็นเด็กอนุบาลต้อง “สนุก” แม้แต่ในเรื่องการแต่งตัวที่ช่วยส่งเสริมในการแสดงตัวตนของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ตั้งแต่ยังเล็ก แต่ไฮไลต์ของวันแรกคือ การได้รับชมการแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ ซึ่งมีความพิเศษตรงที่นักแสดงนั้นก็เป็นเด็กเช่นเดียวกัน การสร้างประสบการณ์ทางศิลปวัฒนธรรมแก่เด็กๆ จึงถูกเชื่อมโยงได้ง่าย และเหมาะสมกับน้องๆ วัยอนุบาล
ขึ้นชื่อว่า สัปดาห์รักการอ่าน กิจกรรมหลักจึงต้องเกี่ยวกับการอ่านอย่างไม่ต้องสงสัย ในครั้งนี้ “โรงนิทาน” ตามห้องเรียน ถูกพัฒนาขึ้นจากครั้งก่อน โดยเพิ่มโรงนิทานจาก 8 ห้อง เป็น 16 ห้อง และมากไปกว่านั้น คือเด็กๆ เป็นผู้เลือกด้วยตนเองว่าวันนี้…อยากจะฟังนิทานเรื่องอะไร?
แนวคิดเบื้องหลังการเปิดห้องเรียนเป็นโรงละคร เล่าเรื่องสนุกๆ ให้เด็กอนุบาลฟังถึง 16 ห้องในครั้งนี้ มีเป้าหมายที่เรียบง่าย น้อยแต่มาก เล็กแต่สวยงาม และ ทรงพลัง ด้วยความตั้งใจที่อยากจะให้เด็กๆ รักการอ่าน อยากให้เด็กตื่นตัวและใช้เวลากับหนังสือมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นยังรวมถึงเป้าหมายการเพิ่มการใช้เวลาคุณภาพระหว่างเด็กๆ กับ คุณครู และระหว่างเพื่อน พี่ น้องวัยอนุบาล เพราะว่าเด็กๆ แต่ละคนจะสามารถเลือกนิทานที่ตัวเองอยากฟังรวมทั้งหมด 4 เรื่องโดยเป็นการเลือกอย่างอิสระ จึงเกิดการคละชั้นเรียนกันในแต่ละโรงเล่านิทาน น้องได้พบพี่ที่ไม่เคยคุยกัน เด็กๆ ได้พบกับคุณครูที่ตนไม่เคยได้ใช้เวลาด้วย วันนี้คุณครูประจำชั้นเปลี่ยนบทบาทเป็นครูนักเล่าได้แสดงความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคนในการสรรค์สร้างฉากนิทานต่างๆ ออกแบบการเล่านิทานในรูปแบบที่ตนสนใจและถนัด ไม่ว่าจะเป็นการเล่นหุ่นเชิด หุ่นมือ หรือเล่นดนตรีร้องเพลงประกอบ เด็กๆ ได้รับความสุขจากนิทานเรื่องโปรด ส่วนคุณครูได้รับความสุขจากการได้พบปะเด็กๆ หลากหลายห้อง
หลังการเล่านิทาน หากเวลาเหลือ เราจะได้เห็นภาพแสนประทับใจคือ พี่นอนอ่านหนังสือกับน้อง หรือภาพทุกคนช่วยกันวาดภาพจากนิทานที่ตนได้ฟังก่อนหน้านี้ หนังสือและมุมอ่านที่คุณครูจัดไว้ให้ กลายเป็นมุมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องจัดกิจกรรมยิ่งใหญ่ใดๆ เลย ความสวยงามของการปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมเล่านิทานจากกลุ่มใหญ่ มาเป็นกลุ่มเล็กแบบในครั้งนี้ คือ ความใกล้ชิด และการที่คุณครูสามารถเข้าถึงได้ทุกคน และเด็กๆ ทุกคนมีส่วนร่วมในเรื่องราวเหล่านั้นที่เขาสนใจ
ผู้เขียนได้มีโอกาสถามคุณครูอนุบาลว่า มีบ้างหรือไม่ ที่เด็กๆ รู้สึกเสียดายเพราะนิทานที่ตัวเองอยากฟังนั้นจำนวนคนเต็มแล้ว และเขาจัดการกับเหตุการณ์นี้อย่างไร ซึ่งคุณครูอนุบาลได้เล่ามุมที่น่าสนใจ คือ แน่นอนว่าเด็กๆ มีความเสียดายเกิดขึ้น แต่ในท้ายที่สุด เด็กๆ ก็สามารถยอมรับและบอกว่า “ไม่เป็นไรค่ะ หนูเลือกเรื่องอื่นได้” นี่คือการฝึกความยืดหยุ่น ฝึกการยอมรับเมื่อสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปดั่งใจคิด นับเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญที่น่าชื่นชมเมื่อได้เห็นทักษะนี้ในวัยอนุบาล
ความสนุกเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น เมื่อวันต่อๆ มา นักแสดงรับเชิญมาปรากฎตัวต่อหน้าเด็กๆ ในยามเช้าช่วงเล่านิทาน คุณครูบรรณารักษ์เป็นกลุ่มแรกที่มาเปิดโลกจินตนาการให้เด็กๆ เนื่องจากใกล้จะถึงช่วงเทศกาลคริสต์มาสแล้ว นิทานที่ถูกนำมาจึงมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคริสต์มาส และ ตัวละครโปรดของเด็กๆ คือ เอลซ่า อันนา และ โอลาฟ ในช่วงท้าย คุณครูบรรณารักษ์ได้ช่วยแนะนำหนังสือดีๆ ที่มีในห้องสมุดของโรงเรียนเพื่อส่งเสริมการรักการอ่านในสัปดาห์นี้อีกแรง แต่แขกรับเชิญพิเศษยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ คิวต่อไปเป็นคิวของ สำนักพิมพ์ แปลน ฟอร์ คิดส์ ที่ได้เข้ามาร่วมแสดงพร้อมเล่านิทาน และยังพามาสคอตพี่กุ๋งกิ๋ง ตัวเอกชื่อดังจากนิทานชุด กุ๋งกิ๋ง มาร่วมถ่ายรูปกับเด็กๆ ทุกคนอีกด้วย ในฟากของบูธขายหนังสือของสำนักพิมพ์ก็มีคุณพ่อคุณแม่รุมล้อมเพื่อเลือกซื้อหนังสือดีๆ ส่งเสริมการอ่านแก่ลูกๆ ของตน
ความอิ่มเอมในหัวใจ ถูกปิดท้ายและเติมเต็มด้วยความอิ่มท้องจากกิจกรรม เพลินโอชา นิทานแสนอร่อย นับเป็นการปิดท้ายสัปดาห์รักการอ่านอย่างสมบูรณ์ คุณพ่อคุณแม่ใจดี มาตั้งบูธมอบขนมและเครื่องดื่มแก่ทุกคน หลายครั้งที่เราเห็นของกินน่ากินในหนังสือนิทาน แต่วันนี้เราได้ชิมของจริงและเอร็ดอร่อยร่วมกันกับเพื่อนๆ และคุณครู การได้อ่านหนังสือ และ กินอาหารร่วมกัน เป็นเวลาคุณภาพที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ อนุบาลโรงเรียนพลินพัฒนามีทักษะชีวิตที่สำคัญ และ รักการอ่านติดตัวไปจนเติบใหญ่อย่างแน่นอน
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2566