จากบ้านเล็กสู่บ้านใหญ่
เปิดการเรียนรู้ จากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ก่อตั้ง โรงเรียนเพลินพัฒนา อ. ธิดา พิทักษ์สินสุข ที่นำพาให้รู้ถึงเจตนารมณ์ ความสำคัญของสัญลักษณ์ 9 พอดี
การพานักเรียนออกไปสำรวจโลกกว้างได้เห็นแง่มุมใหม่ๆ เปิดประสบการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริงให้เขาได้พบเจอกับวัฒนธรรมที่งดงามหลากหลายได้เรียนรู้ความเชื่อในยุคเก่าก่อนที่สืบทอดกันมายาวนาน เมื่อได้ก้าวเข้าไปสำรวจสถานที่ใหม่ๆ ได้ฟังเรื่องเล่าเรื่องราวราวจากผู้คนในพื้นที่ยังให้ความรู้สึกที่หลากหลายทั้งความตื่นเต้น เบิกบาน สุข หรือ เศร้า
การได้ออกเดินทางครั้งนี้ยังช่วยบ่มเพาะตัวตน เพิ่มคลังความรู้ ฝึกการแก้ปัญหาไปบนสถานการณ์จริง มากไปกว่านั้นการเชื่อมสัมพันธ์ สร้างมิตรไมตรีกับผู้คนที่อยู่รอบตัว ยังช่วยให้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองมากขึ้นด้วย คุณครูสิปปกร จันทร์แก้ว (ครูแอร์) ผู้ช่วยหัวหน้าช่วงชั้นมัธยม ด้านกิจกรรมนักเรียนและครูมานุษและสังคมศึกษา บอกเล่าไว้อย่างน่าสนใจ
กระบวนการเรียนรู้ภาคสนามเป็นการพานักเรียนไปสัมผัสกับประสบการณ์เรียนรู้นอกห้องเรียน เพื่อให้เห็น ได้รู้สึก ได้คิด และได้ทำอะไรบางอย่าง ในพื้นที่การเรียนรู้ที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งท้าทายต่อการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของนักเรียนเป็นอย่างมาก เพราะการไปภาคสนามนอกจากเด็กๆ จะไปเรียนรู้ที่เกี่ยวกับเชิงเนื้อหาสาระผ่านประเด็นสำคัญในแต่ละแหล่งเรียนรู้แล้ว เด็กๆยังต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตผ่านสิ่งที่ธรรมดาทั่วไปด้วย เช่น การกิน การนอน การพูด การเดินข้ามถนน การเข้าห้องน้ำ หรืออื่นๆด้วย
และการพาออกไปเรียนรู้ข้างนอกนั้น เรื่องราวประสบการณ์ต่างๆ ที่เด็กๆ ได้พบเจอนั้นจะกลายเป็นต้นทุนชีวิตของพวกเขาไปในหลากหลายรูปแบบ เช่น ความรู้ จินตนาการ ความทรงจำ แรงบันดาลใจ วิธีคิด หรืออื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของเด็กๆ และประสบการณ์ชีวิตอื่นๆ ที่เขาเจอด้วย
การไปในพื้นที่การเรียนรู้ที่แตกต่างกันในแต่ละระดับชั้น ที่แยกกันไปตามภูมิภาคต่างๆ ผู้คนและพื้นที่ในแต่ภูมิภาคมีวิถีชีวิต มีประสบการณ์ มีภูมิปัญญา มีสภาพแวดล้อมในมิติต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน อาจรวมถึงปัญหาและความเปลี่ยนแปลงที่ผู้คนในภูมิภาคนั้นกำลังเผชิญอยู่ด้วย
เพราะฉะนั้นการไปในแต่ละปีไม่เหมือนกัน ทำให้เด็กมีประสบการณ์ที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของพวกเขา เด็กๆ จะได้รู้จักและเข้าใจผู้คนและสังคมนี้มากขึ้น
เด็กๆ อาจจะเกิดการเปรียบเทียบสิ่งที่เคยเห็นในชั้นก่อนหน้ามาแล้ว
เช่น สิ่งที่เด็กชั้น 9 มักจะพูดเสมอว่า ตอนชั้น 7ชั้น 8 ก็เห็นศิวลึงค์ เห็นกลองมโหระทึก มาที่นี่ก็เห็นอีก บางทีย้อนกลับไปถึงที่เรียนเมื่อสมัยประถม ซึ่งพอเกิดความคิดเเบบนี้ขึ้น ก็ทำให้เกิดกระบวนการคิดแล้วว่า ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ก็จะเกิดความไคร่รู้ที่จะหาคำตอบ ซึ่งอาจจะมาจากข้อมูลความรู้จากวิทยากรหรือบางครั้งอาจจะมาจากการดึงข้อมูลความรู้ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ก็ได้
ชีวิต สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ
กิจกรรมภาคสนามช่วยเปิดมุมมองให้เห็นความหลากหลายของ ชีวิต สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ เพื่อสะสมเป็นข้อมูลในการเลือกเส้นทางอนาคตต่อไป สำหรับในภาคเรียนจิตตะ 2565 นักเรียนชั้น 7 – ชั้น 11 ได้ลงพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศไทยเพื่อเรียนรู้ภูมิปัญญา ความแตกต่างหลากหลายในมิติต่างๆ
…
ชั้น 7 ย้อนรอยวีถีบรรพชน ยลอารยธรรมความสุข รุ่งอรุณแห่งสยาม
ลงพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร มรดกโลกที่ใช้วัสดุศิลาแลงในการก่อสร้าง และแหล่งเรียนรู้ต่างๆใน จ. สุโขทัย เช่น วัดพระพายหลวง แหล่งรวมงานศิลปกรรมหลายยุคหลายสมัย วัดศรีชุม ศึกษาเทคนิคทางสถาปัตยกรรมไทย และตำนานพระพุทธรูปพูดได้ รวมทั้ง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก(เตาทุเรียง) เรียนรู้กระบวนการในการเผาเครื่องปั้นสังคโลก และใน จ.นครสวรรค์ อุทยานนกน้ำ เรียนรู้ระบบนิเวศของแหล่งน้ำจืด สิ่งมีชีวิตที่อาศัยในบึงบอระเพ็ด รวมถึงศูนย์การเรียนรู้วิทยาลัยในวัง จากพระราชปณิธานของ รัชกาลที่ 9 เพื่อแก้ปัญหาความยากไร้ของประชาชน
ชั้น 8 เยือนถิ่นอีสานใต้ สัมผัสความหลากหลายทางวัฒนธรรม
มุ่งหน้าสู่ จ.นครราชสีมาลงพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ ปราสาทหินพิมาย วิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างเป็นระบบผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ จากนั้นได้เปิดประสบการณ์หลากหลายพื้นที่ใน จ.บุรีรัมย์ เช่น ศูนย์เรียนรู้ผ้ามัดย้อมดินภูเขาไฟ (ผ้าภูอัคนี) หมู่บ้านเจริญสุขใกล้กับ “เขาพระอังคาร” เป็นภูเขาไฟเก่าแก่ที่ดับแล้วเพื่อเรียนรู้การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รวมทั้งวนอุทยานเขากระโดง ซากภูเขาไฟที่มีสภาพเป็นสระน้ำ และอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ ศาสนสถานของศาสนาฮินดู ตื่นตากับความงดงามของวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว หรือ วัดเรืองแสง จ.อุบลราชธานี โดยจำลองสภาพแวดล้อมของวัดป่าหิมพานต์ ทั้งยังได้เรียนรู้ศิลปะแบบลาว ที่ปราสาทหินวัดพู มรดกโลกแห่งที่สองของประเทศลาว แวะจุดชมวิวแม่น้ำสองสี (แม่น้ำโขง แม่น้ำมูลไหลมาบรรจบกัน) และอุทยานแห่งชาติผาแต้ม โดดเด่นด้วยภาพเขียนก่อนประวัติศาตร์ เสาหินรูปร่างแปลกตา ต่อที่หัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาว ภูมิปัญญาล้ำค่าที่สืบทอดกันมากว่า 200 ปี รวมทั้งได้เรียนรู้ที่ปราสาทศีขรภูมิที่มีความสมบูรณ์และงดงามยิ่งใน จ.สุรินทร์ด้วย
ชั้น 9 ตามรอยวัฒนธรรม เส้นทางอารยธรรมคาบสมุทร
ลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ณ ทุ่งสามร้อยยอด ไร่จันทรังษี ศูนย์ประสานงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง และโรงงานการยางแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติ และเรียนรู้เกี่ยวกับพันธุ์นก ต้นยาง ต้นจาก การประมง และความเป็นอู่ข่าวอู่น้ำของจังหวัดนครศรีธรรมราช แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของกลุ่มคนและ ชาวมุสลิม ด้วยการเยือนกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิสัญชาติ โรงเรียนประทีปศาสน์ และมัสยิดซอลาฮุดดีน เยี่ยมชมวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ที่ประทับซึ่งพระบรมสารีริกธาตุ ศึกษาวัฒนธรรมโบราณผ่านศิลปกรรมและโบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และกำแพงเมืองเก่า อำเภอเมือง รวมถึงได้เรียนรู้เรื่องหนังตะลุง ณ บ้านหนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน ลงมือทำผลิตภัณฑ์เครื่องถมและหัตถศิลป์ ณ ศูนย์การเรียนรู้นครหัตกรรมเครื่องถม และ กล่อมเกลาจิตใจด้วยศาสนา ณ วัดธารน้ำไหล (สวนโมกข์พลาราม)
ชั้น 10 เยือนถิ่นวัฒนธรรมล้านนา เรียนรู้งานหัตถศิลป์ล้ำค่า ดูชุมชนจัดการป่าอย่างยั่งยืน
เปิดภาคสนามด้วยการเรียนสานใบตาล ณ หมู่บ้านปากร้องห้วยจี้ ที่จังหวัดตาก ต่อด้วยจังหวัดลำปาง ศึกษาชุมชนรักษาป่าต้นน้ำ อย่าง บ้านสามขา ดูโรงงานสปาเซรามิกแห่งเดียวในไทย ที่หมู่บ้านศาลาบัวบก แวะชมงานสถาปัตยกรรมเก่าแก่ และวัดไม้โบราณ อย่างวัดพระธาตุลำปางหลวง และวัดศรีชุม ที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมร่วมของล้านนากับพม่า เยี่ยมชมนิทรรศการ “คน-เมือง-ลำปาง” ที่มิวเซียมลำปางเป็นที่สุดท้ายก่อนเข้าจังหวัดแพร่ เรียนรู้ภูมิปัญญาดนตรีพื้นบ้านล้านนา โดยเฉพาะเครื่องดนตรี ซึง อันโด่งดัง ณ โฮงซึงหลวง ตามมาด้วยการทดลองทำผ้าลายคราม สะท้อนวัฒนธรรมล้านนาร่วมสมัย ที่ร้านบายศรีครีเอชั่น ปิดท้ายด้วยการเยี่ยมเยียนคุ้มเจ้าหลวง ชมอาคารไม้ลายฉลุ ซึ่งเป็นสถาปัตกรรมไทยผสมยุโรป รัชกาลที่ 5
ชั้น 11 แหล่งนิคมอุตสาหกรรม คืนสมดุลธรรมชาติ สู่พลังงานที่ยั่งยืน
เริ่มต้นด้วยการเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี ศึกษาระบบการจัดการนิคมอุตสาหกรรม และเดินทางสู่ระยอง ดูการบริหารจัดการ รักษาสมดุลของการผลิตและการใช้ไฟในประเทศ ที่โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี เข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอันดับ 8 ของโลก เรียนรู้กระบวนจัดการท่าเรือ การส่งออก ต่อด้วยโรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง เพื่อเรียนรู้เรื่องก๊าซธรรมชาติ แวะชมความงามของสวนพฤกษศาสตร์ ที่เป็นทั้งศูนย์รวบรวม ศึกษา และวิจัยพันธุ์ไทยภาคตะวันออกทั้งหมด ตามมาด้วยวังจันทร์วัลเลย์ สถานที่เพื่อการเรียนรู้เรื่องพลังงานอัจฉริยะ และการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ ชุมชนเกาะจิก เรียนรู้แหล่งพลังงานทดแทน ทั้งจากแสงอาทิตย์ และลม ในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพของชาวเล ทิ้งท้ายด้วยการเยี่ยมชมสวนผลไม้ วิสาหกิจชุมชนบ้านท่าศาลา จังหวัดจันทบุรี เพื่อศึกษาเรื่องโลจิสติกส์ภาคเกษตรกรรมในชุมชน
…
เปิดตา เปิดใจ
ครูแอร์ยกตัวอย่างการเรียนรู้ที่มัสยิดซอลาฮุดดีน นครศรีธรรมราช – อิหม่ามประจำมัสยิดบรรยายให้เด็กๆ ประโยคหนึ่งที่เขาพูดแล้วรู้สึกว่า เขาคิดเช่นนั้นจริงๆ คือคิดว่า การมาของเรามันมีความหมาย เขาพูดว่า “ขอบคุณต่อพระเจ้า ที่ทำให้เราได้ต้อนรับ” ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงศรัทธาของเขาในทางศาสนาที่มีต่อพระเจ้า แต่สัมพันธ์กับพวกเราที่ไปเรียนรู้ด้วย
กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น ด่านสิงขร – ระหว่างที่เด็กๆ ทยอยขึ้นรถตู้เพื่อจะกลับ ก็มีคุณตาคนหนึ่งเดินตรงมาที่ผม (ครูแอร์) แล้วจับมือผมแน่น แล้วพูดว่า “ขอบคุณที่มาช่วยกันในวันนี้” ผมรู้สึกงงกับคำพูดนี้มากว่า เรามาช่วยยังไง แต่พอได้คิดไปถึงสิ่งที่กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นได้พูดได้เล่าให้เด็กๆ ฟัง ก็เข้าใจได้ว่า … การมาเรียนรู้ของเรามีความหมายต่อคนไทยพลัดถิ่นมาก
อย่างน้อยก็เพื่อทำให้เรื่องราวของคนไทยพลัดถิ่นยังคงถูกพูดถึงต่อไปในสังคม ทำให้ความเป็นชายขอบของเขา มีที่ทางในสังคมโดยเฉพาะในระบบการศึกษา ที่ระบบการศึกษากระแสหลักไม่พูดถึงเรื่องราวเหล่านี้
ที่สวนโมกขพลาราม ไชยา – หลวงพ่อพูดกับผมว่า ขอบคุณอาจารย์ ขอบคุณโรงเรียนมาก ที่ศรัทธาหลวงพ่อพุทธทาส เพราะว่าไม่ศรัทธา ก็คงไม่พาเด็กๆ มาที่นี่
ทุกภาคสนามที่ครูพาเด็กๆ ไป ภาพหลักๆ ที่เราเห็นคือ เด็กๆ ได้ทำอะไรที่นั่นบ้าง (อาจจะชอบบ้างไม่ชอบบ้าง สนุกบ้างไม่สนุกบ้าง …) วิทยากรพูด เล่า สอนให้เด็กๆทำอะไรบ้าง แต่เรื่องราวความรู้สึกแบบนี้ มันเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ที่เป็นการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ แต่มันสะท้อนความรู้สึกเช่นนั้นได้ดีมาก
ความทรงจำที่มีร่วมกัน
ส่วนหนึ่งที่ภาคสนามให้มากกว่าประสบการณ์การเรียนรู้เชิงเนื้อหาที่สัมพันธ์กับเเหล่งเรียนรู้ คือการให้พื้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันของเด็กๆ เพราะในภาคสนามจะมีการจัดกลุ่มเด็กคละกันอยู่เเล้ว คือมีเป้าหมายให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ร่วมกันได้หลากหลายมากขึ้น และจะมีช่วงเวลาบางช่วงที่ยาวนาน เช่น การนั่งรถ หรือช่วงเวลาสั้นๆ แต่พวกเขาได้ใกล้ชิดกัน
เช่น การกินข้าว ช่วงเวลาเหล่านี้ จะทำให้เขามีเวลาและพื้นที่ได้พูดคุยกัน เท่าที่สัมผัสมา เรื่องที่เด็กๆ มักจะพูดถึงกันไม่ว่ากี่ปีๆ ก็จะเป็นเรื่องราวตั้งแต่อนุบาล ประถม เคยทำโน่นนี่นั่นกันมา เคยอยู่ห้องนั้นห้องนี้กับคนนั้นคนนี้ ไม่เคยรู้จักเพื่อนคนนี้ในมุมนี้มาก่อนเลย หรือเคยเข้าใจเพื่อนคนนี้ผิดหรือคิดไปเองว่าเพื่อนเป็นแบบนั้นเเบบนี้
เรื่องเล่าเหล่านี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติของเด็กๆ ในช่วงเวลาที่ไม่เป็นทางการเสมอ ทำให้พวกเขามีความทรงจำร่วมกัน ทำให้ทุกคนถูกนับรวมเข้ามาในพื้นที่ของการพูดคุย มันอาจจะมีส่วนทำให้พวกเขามีสัมพันธ์ที่ดีขึ้นมาไม่มากก็น้อย อย่างน้อยๆ ก็ในช่วงเวลา 5 วันในภาคสนาม
ด.ช. พุทธ อนุกูลวัฒนา (เจียอี้) และ ด.ญ เอมิกา คชเสนี (แพรว) ชั้น 7
ด.ช. พุทธ อนุกูลวัฒนา (เจียอี้) และ ด.ญ เอมิกา คชเสนี (แพรว) ชั้น 7 ไปภาคเหนือตอนล่าง 3 จังหวัดได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย และ นครสวรรค์ สะท้อนว่า
พวกเราชอบจังหวัดสุโขทัย เพราะว่าชอบวัดวาอาราม และสิ่งก่อสร้างโบราณอย่างเช่น สรีดภงส์ หรือทำนบกั้นน้ำสมัยก่อน และ รู้สึกตื่นเต้นเพราะว่าไม่ได้ไปไหนนานมากแล้ว ตั้งแต่ช่วงประถมจนขึ้นมัธยม เพราะโรคระบาดโควิด19 แพรวได้ใช้เวลากับเพื่อนๆ มากขึ้น
“ก่อนหน้าที่จะไป หนูไม่ค่อยคุยกับใครเท่าไหร่ เพราะเป็นคนพูดไม่ค่อยเก่ง ครั้งนี้ทำให้หนูได้สนิทกับเพื่อนๆ มากขึ้นค่ะ” ขณะที่พุทธเสริมว่า “ผมได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ เช่น ศาสนาที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียรู้สึกอยากอยู่ต่อมากครับ ยังไม่อยากกลับเลย” และสิ่งที่ทั้งคู่ต่างสะท้อนตรงกันคือการดูแล รับผิดชอบตัวเองที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ด้านนายพรหมมาสถ์ ลิ้มวุฒิวงศ์ (เจได) ชั้น 9 เดินทางไปภาคใต้ ได้แก่ จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช และ ชุมพร
“ชอบที่สุด น่าจะเป็นชุมชนคนไทยผลัดถิ่นครับ เนื่องจากความรู้หรือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากที่นี่เป็นประสบการณ์จริงซึ่งหาเรียนรู้จากสถานที่อื่นไม่ได้ และจากการที่ได้สัมภาษณ์คุณลุง คุณน้าที่เป็นสมาชิกของกลุ่มคนไทยผลัดถิ่น ทำให้ได้เห็นถึงมุมมองหรือแนวคิดใหม่ๆ รวมถึงปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยปัจจุบันครับ”
นอกจากความรู้แนววิชาการหรือประวัติศาสตร์ต่างๆ ของสถานที่นั้นๆ แล้ว ยังได้ซึมซับเรียนรู้วิถีชีวิต แนวคิด ความเชื่อ ของคนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนาเรื่องที่ประทับใจจากการไปภาคสนามครั้งนี้ นอกจากการที่ได้ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ แล้ว ผมประทับใจความเป็นกันเอง และการดูแลพวกเราอย่างดีของผู้คนที่เราไปพบเจอครับ ไม่ว่าจะเป็นที่โรงแรมซึ่งได้อำนวยความสะดวกให้กับพวกเราอย่างเต็มที่ หรือวิทยากรที่ศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ที่ได้ดูแล และให้ความรู้กับเราอย่างสุดความสามารถ มีอะไรก็สามารถสอบถาม ขอความช่วยเหลือได้ครับ
เห็นลูกสนุก เราก็สนุกตามไปด้วย
ขอบคุณคุณครูทุกท่าน และคุณครูวิทยากรที่ให้ความรู้ ทีมงานเบื้องหน้าและเบื้องหลังทุกท่านที่ทำให้เกิดภาคสนามแรกหลังสถานการณ์ covid – 19 อันยาวนานนะคะ เด็กๆ ได้ประสบการณ์ที่ดี และสนุกสนานที่ได้ใช้เวลาร่วมกันค่ะ
ขอขอบพระคุณคุณครูทุกท่านที่ช่วยดูแลเด็กๆเป็นอย่างดีตลอดทริปค่ะ ลูกๆได้รับประสบการณ์ใหม่ๆที่ดีมากๆเลยค่ะ
ขอบคุณคุณครู และเจ้าหน้าที่ทุกท่านเลยนะคะ ลูกชายที่เคยพูดน้อยพูดไม่หยุดเลย มีเรื่องอยากเล่าเยอะมาก เป็นประสบการณ์ที่ดีของลูก และอบอุ่นหัวใจแม่ค่ะ
ขอบคุณคุณครูและวิทยากร สำหรับทริปจัดเต็มแบบนี้มากเลยค่ะ ถามลูกว่า นี่ผ้าอะไร ลูกบอกแม่อย่าดูถูกผ้าภูอัคนีเชียวนะ มันสบายยิ่งกว่าเสื้อหนาวยูนิโคลซะอีก ว่าแล้วก็เล่าวิธีทำอย่างละเอียด ต่อด้วยเความอลังการของปราสาทหิน ต่อด้วยอาหารอร่อยๆ เดี๋ยวคงมีเรื่องเล่าต่อได้อีกหลายวันค่ะ
…
งานเลี้ยงใดๆ ย่อมมีวันเลิกรา แม้การเดินทางของเด็กๆ ในครั้งนี้จะจบลง แต่สิ่งที่ยังคงติดตามไปในวันข้างหน้ากับพวกเขา คือ ความรู้ที่เพิ่มพูน จิตสำนึกที่งอกงาม และมิตรภาพที่มั่นคง การเดินทางไกลครั้งนี้จะเป็นความทรงจำ ที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้ จนกว่าจะพบกันใหม่อีกครั้ง ในการเดินทางใหม่ เส้นทางใหม่ เพื่อนใหม่ ปีต่อไป...
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 13 มกราคม 2566