วิทยาศาสตร์ ชั้น 7

เรียนวิทยาศาสตร์ เรื่องที่เข้าใจยากๆ อย่างไรให้เป็นเรื่องสนุก โจทย์ที่ทำให้คุณครู ต้องคิด และตั้งคำถามกับตัวเองอยู่บ่อยครั้งว่าจะจัดแผนการสอนแบบไหนให้นักเรียนเข้าใจ มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ทั้งยังดึงดูดใจไม่น่าเบื่อ บางครั้งคำถามที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนก็ช่วยให้คุณครูปิ๊ง ไอเดียดีๆ ต่อยอดการเรียนรู้ให้เด็กๆได้เช่นกัน เช่นห้องเรียนวิชาธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยา ระดับชั้น 7 ของ คุณครูภิญญาพัชร์ วัชรพันธ์โสภณ (ครูอิง) ที่เริ่มต้นจากคำถามของเด็กๆ ในชั้นเรียน

“ครูคะ นิวเคลียสมันกลมเหมือนไข่ต้มไหมคะ”

ในคาบเรียนวิทยาศาสตร์ที่กำลังเรียนถึงรูปร่างและส่วนประกอบของเซลล์ นักเรียนหลายๆคนเกิดความสงสัยกับรูปร่างของออร์แกเนลล์ ภายในเซลล์ ว่ามันจะเหมือนกับสิ่งของที่เราเห็นอยู่ทุกวันกันหรือไม่ ? (ออร์แกเนลล์ organelle เป็นหน่วยย่อยพิเศษซึ่งเปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่เฉพาะอย่าง ซึ่งโดยปกติจะอยู่ภายในเซลล์)

ครูจึงปิ๊งไอเดียขึ้นมา โดยเมื่อนักเรียนได้เรียนจบบทเรียนแล้ว จึงให้นักเรียนทบทวนความเข้าใจของตัวเอง โดยการให้นักเรียนสร้างแบบจำลองของเซลล์และส่วนประกอบของเซลล์ โดยใช้วัสดุภายในบ้าน หรือจานอาหารที่เรา
ทานกันเป็นประจำ

จากการประเมินผลงานของนักเรียน พบว่านักเรียนมีความรู้ความเข้าในเรื่องรูปร่างและส่วนประกอบของเซลล์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งไอเดียนี้เป็นการให้นักเรียนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนเองได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้โมเดลเซลล์ที่สุดแสนจะน่ารัก และน่าอร่อยออกมาให้เราได้รับชม

บางครั้งสมองของคนเราก็ไม่ชอบจดจำเรื่องที่ซับซ้อนและมีสาระมากเกินไป หากนึกภาพตามโมเดลที่เคยออกแบบให้สนุกๆ ภาพจำเหล่านั้นก็อาจจะสร้างความเข้าใจเรื่องเซลล์ได้ดีแบบไม่มีวันลืม มากกว่าการเขียนบันทึกลงสมุดเพียงอย่างเดียวก็เป็นได้

ขอบคุณเรื่องเล่าจากห้องเรียนของ “ครูอิง”

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร

ข้อมูบ ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2564