จากบ้านเล็กสู่บ้านใหญ่
เปิดการเรียนรู้ จากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ก่อตั้ง โรงเรียนเพลินพัฒนา อ. ธิดา พิทักษ์สินสุข ที่นำพาให้รู้ถึงเจตนารมณ์ ความสำคัญของสัญลักษณ์ 9 พอดี
หากจะนึกถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งในชีวิต ที่มีความรักอันยิ่งใหญ่และเป็นผู้ให้ไม่สิ้นสุด…ความรักอันยิ่งใหญ่นั้นมีอยู่ในหัวใจแม่ทุกคน เพราะรักของแม่..คือรักแท้บริสุทธิ์
กิจกรรมระลึกถึงพระคุณของแม่ หรือบุคคลที่เป็นผู้ให้ไม่สิ้นสุดตลอดการมีชีวิตของนักเรียนในช่วงชั้นที่ 2 ในปีนี้ ได้ออกแบบหลอมรวมไปกับกิจกรรมวัน “รักษ์ภาษาไทย” ร่วมกัน ภายใต้แนวคิดที่ว่าด้วยเรื่องราวความรักกับการอนุรักษ์ สืบสาน สืบทอด ต่อยอดภูมิปัญญาภาษาไทยในฐานะภาษาแม่ การจัดงานในครั้งนี้ จึงมีเป้าหมายหลักเพื่อให้นักเรียนในช่วงชั้นที่ 2 ได้น้อมระลึกถึงพระคุณของบุคคลที่เป็นผู้ให้ไม่สิ้นสุด หรือแม้กระทั่งแผ่นดินเกิดของเราที่มอบภาษาให้เราติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดโดยปราศจากเงื่อนไข
ในเดือนสิงหาคม 2566 นี้ ภายใต้แนวคิดหลักกับการออกแบบกิจกรรมที่เชิญชวนให้นักเรียนช่วงชั้นที่ 2 ได้อยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความรักแท้อันบริสุทธิ์ ด้วยการสร้างสรรค์กิจกรรมการแต่งกายในธีม “รักของแม่..ดั่งทองแท้บริสุทธิ์” ถ้าหากจะเปรียบเปรยความรักอันรักอันล้ำค่า นิยามของคำว่า “ทองแท้บริสุทธิ์” จะสามารถสื่อสารผ่านการแต่งกายในรูปแบบ “ทอง” อะไรได้บ้าง ด้วยเหตุนี้เอง วันที่ 9 สิงหาคม 2566 บรรยากาศในช่วงชั้นจึงเต็มไปด้วย เด็กๆ ตั้งแต่ระดับชั้น 4 – 6 ต่างพากันร่วมไม้ร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันร่วมกันทำกิจกรรมนี้ ไม่เพียงแต่เด็กๆ เท่านั้น บรรดาครูๆ ทั้งหลาย ต่างร่วมกันแต่งกายที่ไม่ว่าจะหันไปทิศทางไหน คงต้องร้องเอ๊ะ ร้องอ๋อกันไปเป็นแถบๆ ว่านี่คือการผสมผสานถ้อยคำและความหมายที่ทุกคนพยายามจะสื่อถึงทองอะไรกันนะ เช่น ตัวละครจากวรรณคดีหลายเรื่องราว ได้แก่ ท้าวทองกีบม้า นางวันทอง กุมารทอง พระสังข์ทอง ไกรทอง ปลาบู่ทอง นางพิกุลทอง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของทองที่แฝงมาในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ นะหน้าทอง หมอทองคำ พระทองคำ เจดีย์ทอง กระทะทอง ถ้วยทอง ข้าวรวงทอง เต่าทอง ฯลฯ
ซึ่งกว่ากิจกรรมในวันนี้จะก่อร่างสร้างตัวได้นั้น เบื้องหลังคือทีมคุณครูหน่วยประสบการณ์การเรียนรู้ภูมิปัญญาภาษาไทย ช่วงชั้นที่ 2 ที่ร่วมกันยกขบวนแต่งกาย สานพลัง สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ทุกคนบนเวที ในช่วงเวลาเข้าแถวยามเช้า โดยการออกมาบอกเล่า ปริศนาการแต่งกายให้เด็กๆ ทุกคนทายร่วมกัน ภาพที่ออกมาในวันนั้น ช่างเป็นการสร้างสีสันและเสียงหัวเราะของเด็กๆ และคุณครูกันถ้วนหน้า
หลังจากที่เด็กๆ ทุกคนได้อยู่ท่ามกลางบรรยากาศเดือนแห่งรักแท้ที่บริสุทธิ์ เราไม่ได้ส่งมอบแค่ความสนุกสนานกับการแต่งกายของ พี่ๆ น้องๆ ในช่วงชั้นเพียงเท่านั้น ขณะเดียวกันกิจกรรมการเรียนรู้เมื่อเข้าสู่ห้องเรียนตลอดทั้งสัปดาห์ก็มีความหลากหลายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเรือล่มในหนอง ทองจะไปไหน ที่ออกแบบให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมกลางแจ้ง ลงสนาม ปล่อยพลัง คล้องแขนเพื่อนๆในห้องเรียงหน้ากระดาน พากันวิ่งไปให้ถึงเส้นชัย โดยห้ามทิ้งกันเด็ดขาด กิจกรรมนี้เด็กๆ ต่างร้องกันเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องสามัคคีกันสุดๆ กว่าจะคว้าชัยชนะมาได้ นอกจากนี้อีกหนึ่งกิจกรรมที่พาให้เด็กๆ รู้จักถ่ายทอดความรักภายในของตนเองนั่นคือการ “ขีดเขียนเรียนรู้ใจ” ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ กิจกรรม “คุณค่าในวิถีชีวิต” ที่ทางช่วงชั้นที่ 2 ได้จัดให้เด็กๆ มีกิจกรรมในช่วงเช้า ก่อนเข้าสู่บทเรียนของแต่ละวัน กิจกรรมนี้จะเป็นการตั้งคำถามเพื่อให้นักเรียนคิด ใคร่ครวญตนเอง แล้วลงมือเขียนบอกเล่าความรู้สึกถึง บุคคลใดในชีวิต…ที่เป็นผู้ให้ไม่สิ้นสุด เด็กๆ จะคิดถึงใครได้บ้าง ไม่เพียงแค่คุณแม่ คุณพ่อ อาจจะเป็นคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย บุคคลที่มีพระคุณต่อเราก็สามารถที่จะสื่อสารความรู้สึกรักได้ผ่านการขีดเขียนในครั้งนี้
บทความโดย คุณครูสาธิตา รามแก้ว (ครูเกมส์) ครูภูมิปัญญาภาษาไทย
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2566