วรรณกรรมเสน่ห์ผ้าขี้ริ้ว : เปลี่ยนนิสัยเด็ก

“ นิสัยใหม่ของหนูเกิดขึ้นแล้วค่ะ …. นิสัยใหม่ของหนูคือ ‘จะไม่เถียงกับคนในครอบครัวอย่างไม่มีเหตุผล’ หนูเริ่มทำวันที่ 6 – 29 มีนาคม 64 เป็นเวลา 24 วัน เหตุผลที่เลือกสร้างนิสัยใหม่นี้คือ หนูชอบเถียงกับคนอื่นมากโดยเฉพาะกับคุณยาย และมักจะเถียงเพื่อเอาชนะ จึงอยากใจเย็นลงและไม่เถียงกับคนอื่น ประโยชน์ของการสร้างนิสัยใหม่คือเป็นคนมีเหตุผลมากขึ้น บ้านดูสงบสุขมากขึ้นและได้รับคำชมจากคุณแม่… “

บางส่วนจากการสะท้อนของน้องเบญ่า – ด.ญ. เบญญาดา ชุณหประสงค์ ชั้น 4/4 หลังจากทำเป้าหมายสร้างนิสัยใหม่ใน 21 วันได้สำเร็จ

คุณครูจินตนา กฤตยากรนุพงศ์ (ครูปุ๊ก) และคุณครูบัวสวรรค์ บุญมาวงศา (ครูกานต์) หน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้น 4 สะท้อนการเรียนรู้เรื่องนี้ในงานชื่นใจ…ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ 19 ไว้อย่างน่าสนใจ

ครูใช้วรรณกรรมเรื่อง “เสน่ห์ผ้าขี้ริ้ว” ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กอายุ 11 ปีที่เขามีจุดพลิกผันในชีวิตคือพ่อของเขาเสียชีวิต ทำให้แม่ต้องพาเขาไปร่ำเรียนกับพระอาจารย์ที่วัดเนื่องจากฐานะทางบ้านไม่สามารถส่งเรียนได้ ซึ่งก่อนที่เขาจะไปอยู่ที่วัดแม่ได้ให้ของขวัญกับเขาชิ้นหนึ่งคือ ผ้าขาวม้าของพ่อ โดยแม่ฉีกแบ่งเป็น 2 ผืน ผืนแรกให้ลูกและบอกว่าขอให้ใช้เช็ดถูและเก็บรักษาให้ดี ถ้าขาดให้บอกแม่ แต่ถ้าทำหายต้องหาเอง ทำตนให้เหมือนผ้าขี้ริ้วนะลูก นี่คือประโยคที่จะสอนเด็กๆทุกคนให้มีจิตสำนึก รับผิดชอบต่อตนเองและต่อส่วนรวม โดยเฉพาะการไม่ทำตัวให้เป็นภาระของใคร แต่ยอมทำตัวรับภาระคนอื่นแทนเหมือนผ้าขี้ริ้ว นอกจากตนเองต้องสะอาดและจะไม่คิดทำที่ไหนสกปรก ยังยินดีชำระเช็ดถูให้สะอาดอีกด้วย ดังคำโปรยของหนังสือคือ สิ่งที่สะอาดเท่านั้น จึงชำระความสกปรกได้

ด้วยเนื้อหาที่สอนได้อย่างแยบคาย เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี และเป็นการสอนเด็กๆให้เป็นคนไม่นิ่งดูดาย รับผิดชอบในสิ่งที่ตนทำหรือแม้ไม่ได้ทำก็ตาม จะส่งผลให้เด็กๆเป็นที่รักของทุกๆคน

ครูสอนวรรณกรรม “เสน่ห์ผ้าขี้ริ้ว” ไม่ใช่เพียงเพื่อให้เด็กรู้จักเนื้อหาของวรรณกรรมเพียง 1 เรื่องเท่านั้น แต่เรียนรู้เพื่อเข้าไปเปลี่ยนแปลงตนเอง เพราะการเรียนรู้ที่แท้จริงต้องไปสู่การลงมือปฏิบัติและการเปลี่ยนแปลงตนเองของผู้เรียน ถ้าการเรียนรู้อยู่เพียงระดับการรู้คิด รู้ท่อง หรือรู้จำนำมาทำข้อสอบ ยังไม่ใช่การเรียนรู้ที่แท้จริง

ดังนั้นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงเรื่องที่เรียนรู้ไปสู่ชีวิตจริง และชีวิตจริงนี้ก็เป็นชีวิตที่ยังประโยชน์ให้กับผู้อื่นด้วย เพราะทุกๆ เป้าหมายที่เด็กทำไม่ได้ทำเพื่อตนเองเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะไปเชื่อมโยงกับ HBLC ที่เป็นการเรียนรู้อยู่ที่บ้าน เมื่อเด็กเรียนสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าไปแล้วเกิดผลลัพธ์เป็นการกระทำนั่นหมายความว่า เด็กได้เกิดการเรียนรู้แล้ว

ด้วยเหตุนี้ครูจึงได้สร้างแผนการสอนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เด็กใช้บ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้หลัก โดยนำคุณค่าของตนเองออกมาเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับคนในบ้าน เด็กๆจึงเริ่มตั้งเป้าหมายโดยประกาศผ่านการเขียน สร้างสรรค์กระดาษได้ตามความถนัดและนำไปติดที่ที่เห็นง่าย และลงมือทำคุณค่านั้นโดยอาศัยแนวคิดการสร้างนิสัยใหม่ใน 21 วัน

การที่เด็กได้เป็นผู้สร้างคุณค่าที่ก่อเกิดให้กับคนในบ้านแล้วนั้น ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เด็กๆ ทำหรือปฏิบัติซึ่งเป็นสิ่งที่เขาอาจคาดไม่ถึง นั่นคือสิ่งของเครื่องใช้หรือสถานที่ที่เด็กๆ ใช้เป็นประจำทุกวันแต่อาจไม่ได้เห็นถึงคุณค่า จึงอาจไม่ได้ดูแล จึงได้ชวนเด็กๆ มาปรนนิบัติสถานที่ สิ่งของ เครื่องใช้ โดยให้เด็กๆ ถ่ายภาพก่อนที่จะปรนนิบัติและหลังปรนนิบัติมา ส่วนมากเด็กๆ จะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของสถานที่ สิ่งของ เครื่องใช้ที่ดูดีมากขึ้น สะอาดเรียบร้อยเป็นระเบียบมากขึ้น ซึ่งมีเด็กบางคนบอกว่าเมื่อก่อนไม่เคยมองว่ามันรกเลย จนกระทั้งได้มาจัดระเบียบ ถึงได้รู้ว่าจริงๆ แล้วมันรกมากๆ และรกมานานแล้ว

สิ่งเหล่านี้ที่ครูกำลังสร้างให้เด็กอยู่นั้น คือ การสร้างให้เด็กๆ เป็นคนที่ “ไม่นิ่งดูดาย” การเป็นคนที่ไม่นิ่งดูดาย เมื่อเห็นสิ่งสกปรก ไม่อยู่นิ่งเมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ดี จะลุกขึ้นมาทำ มาจัดให้เป็นระเบียบ ถ้าหากเด็กๆ เห็นขยะหล่นอยู่ที่พื้น เขาก็จะไม่นิ่งดูดาย จะรีบหยิบมาทิ้งโดยไม่ตั้งข้อสงสัยว่าใครเป็นคนทำ ใครทิ้ง ฉันไม่ได้ทำนี่นา จะทิ้งทำไม แต่หากเขาเป็นคนที่นิ่งดูดาย อาจต้องปลูกฝังและค่อยๆ สอนให้เขาเป็นคนที่ไม่นิ่งดูดาย

เมื่อการเรียนรู้อยู่ที่บ้าน เราใช้บ้านเป็นฐานกิจกรรมสำคัญในการเรียนรู้ แต่เมื่อการเรียนรู้กลับมาที่โรงเรียน เราก็ไม่ได้ทอดทิ้ง สิ่งที่เราเคยสร้างไว้ แต่เก็บเกี่ยวให้เกิดผลที่งอกงามมากขึ้น จนกระทั่งผลนั้นเกิดขึ้นกับนักเรียนเกือบทุกคน

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร
ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2564