จากบ้านเล็กสู่บ้านใหญ่
เปิดการเรียนรู้ จากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญและผู้ก่อตั้ง โรงเรียนเพลินพัฒนา อ. ธิดา พิทักษ์สินสุข ที่นำพาให้รู้ถึงเจตนารมณ์ ความสำคัญของสัญลักษณ์ 9 พอดี
เรื่องราวของ “พระสังข์” ถูกหยิบยกขึ้นมาทำเป็นละครสอนใจให้กับเด็กๆ ช่วงชั้นที่ 2 ในเช้าแรกของสัปดาห์ แต่ในครั้งนี้เป็นพระสังข์ในเวอร์ชั่นใหม่ที่มีความร่วมสมัยกับเด็กๆ แต่ละฉากคุณครูสอดแทรกชวนเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงตัวเอง
หลังจากเมื่อช่วงวันหยุด (19 – 20 พ.ย. 2565) ทีมคุณครูได้เข้าร่วมอบรมในกิจกรรม “ละครสอนครู” โดยมุ่งหมายให้คุณครูได้ค้นหา มองเห็นทักษะการเรียนรู้ภายในตนเองจากศาสตร์ทั้ง 5 คือ การขับร้อง บทกวี นาฎกรรม เครื่องดนตรี และศิลปะการละคร
รวมทั้งเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ เรียนรู้ความเป็นครูผู้สร้างสรรค์ไปกับวิทยากรจากสำนักศิลปะการละครเพื่อการพัฒนาโดยได้เชิญวิทยากร คุณชิงชัย สายสินธุ์ คุณวรพจน์ บรรจงรุจากุล และ คุณคีตภูมิ สายสินธุ์
ละครแสนสนุกวันนี้จึงมีเนื้อเรื่องชวนติดตาม คุณครูทุกคนเล่นได้อย่างสมบทบาทแม้จะมีเวลาซ้อมกันเพียงไม่กี่ชั่วโมง บทละครมีทั้งหมด 9 ฉากสะท้อนชีวิตพระสังข์ที่เหมือนกับเด็กยุคนี้ที่แม่ไม่มีเวลาให้เพราะมัวยุ่งอยู่กับงานและมักโกรธเกรี้ยวทุกครั้งเมื่อลูกอยากเล่นด้วย พระสังข์รู้สึกโกรธ น้อยใจแม่จึงขโมยของแม่และหยิบรูปเงาะสวมใส่กลายเป็นเงาะป่า และได้พบกับรจนา ภารกิจพิชิตใจจึงเริ่มขึ้น
ท้าวสามนต์ผู้เป็นพ่อ ให้หาปลามาถวายเป็นจำนวน 100 กิโล พระสังข์ใช้อิทธิฤทธิ์เรียกเนื้อเรียกปลามาเป็นของตนจนชาวบ้านเดือดร้อน พระสังข์ก็ยังเพิกเฉย คนรักพระสังข์เริ่มจากไปเพราะความไร้น้ำใจ ไม่แบ่งปัน สุดท้ายพระสังข์จึงต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว
ละครจบลงแต่เชื่อว่าเรื่องราวที่คุณครูต้องการสื่อไปวันนี้น่าจะเข้าไปสัมผัสใจของหลายๆคนให้หันกลับมาทบทวนตนเองที่บางครั้งอาจเผลอทำร้ายใครโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว
โดย ส่วนสื่อสารและประชาสัมพันธ์
ข้อมูล ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565